เชื่อว่า นักลงทุนหลายคนที่เข้ามาตีตลาดสกุลเงินคริปโตเป็นครั้งแรกจะพบว่า เครื่องมือวิเคราะห์ตลาดบางอย่างที่พวกเขาเคยใช้ในระบบการเงินดั้งเดิมนั้นไม่ตอบโจทย์กับสกุลเงินดิจิทัลสักเท่าไร ตัวอย่างเช่น นักลงทุนในระบบการเงินดั้งเดิมมักจะพึ่งพาปัจจัยพื้นฐานของหุ้นและหลักทรัพย์เพื่อช่วยตัดสินใจลงทุน

โดยพวกเขาอาจจะชายตามองไปที่ปัจจัยบางอย่างเพื่อนำมาใช้ตัดสินใจลงทุน เช่น "ราคาตลาดของหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings: PE),” “ราคาตลาดของหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Price to Book: PB),” “กำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share: EPS)” และ “กระแสเงินสดอิสระ (Free Cash Flow: FCF)” 

อย่างไรก็ดี เมื่อเข้ามาในโลกของสกุลเงินคริปโตแล้ว นักลงทุนไม่สามารถออกเดินทางเสาะแสวงหารายงานผลประกอบการประจำไตรมาสของโทเคนได้อีกต่อไป เนื่องจากองค์ประกอบดังกล่าวไม่มีอยู่จริงในโลกสินทรัพย์เสมือนที่มีความกระจายศูนย์นี้ ไม่เพียงเท่านั้น วงการนี้ยังไม่มีรายงานแสดงรายได้ กำไร และค่าใช้จ่ายของบริษัทที่นักลงทุนสามารถนำไปใช้วิเคราะห์การลงทุนได้ แม้แต่ยักษ์ใหญ่ในวงการอย่างบิตคอยน์ (Bitcoin: BTC) ก็ยังไม่มีบริษัทที่เรียกว่า “บริษัทบิตคอยน์” เป็นของตัวเองเลย  

แล้วอย่างนี้ นักลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลจะสามารถใช้อะไรในการวิเคราะห์การลงทุนได้ล่ะ? เราจะมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้จากบทความนี้


Tokenomics

Tokenomics หรือ เศรษฐศาสตร์ของโทเคน คือระบบแรงจูงใจและคณิตศาสตร์ที่ควบคุมโปรเจกต์คริปโตอยู่ โดย Tokenomics เป็นวิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่งที่นักลงทุนมักใช้ในการวิเคราะห์โปรเจกต์คริปโต โทเคนที่มาพร้อมกับแผนการที่สมเหตุสมผล เช่น อธิบายได้ว่า ใครจะซื้อเหรียญ หรือซื้อไปทำไม ก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จ ในทางกลับกัน โปรเจกต์คริปโตที่ไม่มี Tokenomics ที่ดีพอก็มีแนวโน้มที่จะล้มเหลวได้ เพราะฉะนั้น การเข้าใจ Tokenomics ของโปรเจกต์คริปโตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราตัดสินใจลงทุนได้

การแจกจ่ายโทเคนก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญของ Tokenomics กล่าวคือ นักลงทุนควรรู้ว่า ใครเป็นผู้ถือโทเคน หรือมีวิธีแจกจ่ายโทเคนอย่างไร นอกจากนี้ นักลงทุนควรพิจารณาด้วยว่า โทเคนดังกล่าวมีอุปทานจำกัดหรือไม่จำกัด และโทเคนที่สร้างใหม่จะเข้าสู่ระบบนิเวศอย่างไร ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่นักลงทุนควรพิจารณาควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การเผาหรือทำลายเหรียญ และรูปแบบของโทเคน โดยนักลงทุนสามารถหาข้อมูลของ Tokenomics ได้จากหนังสือชี้ชวน (Whitepaper) ของโปรเจกต์


Whitepaper

Whitepaper หรือ หนังสือชี้ชวน เป็นเอกสารที่เผยแพร่โดยเจ้าของเหรียญหรือโทเคนก่อนที่จะเริ่มโปรเจกต์คริปโต โดย Whitepaper จะระบุรายละเอียดคร่าว ๆ เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโปรเจกต์ สถิติของโปรเจกต์ สูตรต่าง ๆ ที่ใช้ในโค้ดของโปรเจกต์ และ Tokenomics ของโปรเจกต์ เป็นต้น 

การอ่าน Whitepaper จะช่วยให้นักลงทุนสามารถเข้าใจเป้าหมายของโปรเจกต์ ความคาดหวังของนักพัฒนา โทเคน และแผนการในอนาคตของโปรเจกต์ได้อย่างถ่องแท้ โดยนักลงทุนสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปวางแผนการลงทุนในโปรเจกต์คริปโตได้ ทั้งนี้ หากนักลงทุนได้อ่าน Whitepaper ของโปรเจกต์คริปโตเรียบร้อยแล้ว แต่ยังคงไม่เข้าใจวัตถุประสงค์และเหตุผลของโปรเจกต์ดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นสัญญาณร้ายที่ควรจะปลีกตัวออกมา


On-Chain Analytics

หนึ่งในจุดเด่นของสกุลเงินคริปโตที่แตกต่างจากระบบการเงินแบบดั้งเดิมโดยสิ้นเชิงคือ ข้อมูลบล็อกเชนที่เข้าถึงได้สาธารณะ การทำธุรกรรม หรือแม้แต่ยอดเงินคงเหลือในกระเป๋าเงินก็ยังเปิดให้นักลงทุนเข้าถึงได้บนบล็อกเชนตลอด 24 ชั่วโมงไม่เว้นวันหยุดราชการ

โดย On-Chain Analytics เป็นคำศัพท์ที่ใช้กล่าวถึงกระบวนการการใช้ข้อมูลจากบัญชีธุรกรรมบล็อกเชน (Blockchain Ledger) ในการวิเคราะห์อารมณ์ของตลาด ตัวชี้วัดบางอย่างที่อยู่บนบัญชีธุรกรรมบล็อกเชน เช่น ยอดเงินคงเหลือในกระเป๋าเงิน ข้อมูลธุรกรรม ค่าแก๊ส ปริมาณธุรกรรม หรือที่อยู่กระเป๋าเงินที่มีความเคลื่อนไหว จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจอารมณ์ของตลาด และตัดสินใจได้ว่า ควรจะลงทุนหรือขายสินทรัพย์ดี

ตัวอย่างเช่น หากโปรเจกต์คริปโตหนึ่งมีธุรกรรมและที่อยู่กระเป๋าเงินที่มีความเคลื่อนไหวอยู่มาก นักลงทุนอาจจะคาดการณ์ได้ว่า เหรียญของโปรเจกต์ดังกล่าวเป็นที่นิยมชมชอบ แต่ถ้าหากว่าปริมาณการทำธุรกรรมของโปรเจกต์ดังกล่าวกำลังลดลง นักลงทุนก็อาจเดาได้ว่า โปรเจกต์ดังกล่าวกำลังเข้าสู่ช่วงขาลงและนักลงทุนกำลังเผ่นนั่นเอง โดยมีหลายเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลบล็อกเชนแก่นักลงทุน เช่น EtherScan หรือ Glassnode


24-Hour Markets

ในระบบการเงินแบบดั้งเดิมนั้น ตลาดซื้อขายมีชั่วโมงเปิดทำการที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เปิด เวลา 9.30-16.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตามเวลาสหรัฐฯ โดยตลาดซื้อขายส่วนใหญ่จะปิดทำการในวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดสำคัญต่าง ๆ แต่ในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ตลาดซื้อขายไม่มีวันหยุด

นักลงทุนชาวไทยต้องเข้าใจว่า การเทรดในสหรัฐฯ ยุโรป หรือเอเชียจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาสกุลเงินคริปโตในชั่วข้ามคืนได้ อีกทั้งเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ รอบโลกก็ยังส่งผลต่อราคาของสกุลเงินดังกล่าวได้ทุกเมื่อด้วย ดังนั้นแล้ว การที่ราคาของสกุลเงินคริปโตที่ซื้อขายกันในตลาดในประเทศไทยเหวี่ยงอาจเป็นผลมาจากเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญในต่างประเทศก็ได้ นักลงทุนจึงควรวางแผนเพื่อรับมือกับความเสี่ยงในเรื่องนี้ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นในตลาดซื้อขายแบบดั้งเดิม

สุดท้ายนี้ ถึงแม้ว่าการวิเคราะห์ตลาดแบบดั้งเดิมจะไม่เวิร์กกับสกุลเงินคริปโต แต่วงการนี้ก็ยังมีเครื่องมือวิเคราะห์ตลาดแบบใหม่อีกเพียบที่นักลงทุนสามารถใช้ได้ การเข้าใจรูปแบบของการวิเคราะห์ตลาดน้องใหม่นี้และการใช้ประโยชน์จากความโปร่งใสของสกุลเงินคริปโตจะทำให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ตลาดได้