สำหรับนักลงทุนที่คุ้นกับตำราการเงินคลาสสิกมา ทุกคนน่าจะคุ้นกับสูตรลงทุน 60/40 อย่างไรก็ดี สูตรนี้หลัง ๆ เราจะไม่ค่อยได้ยินกันเท่าไรแล้ว ซึ่งเราก็จะอธิบายว่าทำไม

60/40 คือสูตรแบ่งโครงสร้างพอร์ต เป็นหุ้น 60% พันธบัตร 40% ซึ่งนี่เป็นสูตรคลาสสิกมาก เพราะทุกวันนี้พวกตำราแผนการเงินวัยเกษียณก็ยังแนะนำให้แบ่งพอร์ตเป็นแบบนี้

เหตุผลที่เขาให้ทำแบบนี้ก็เพราะ เขามองว่าการที่ในพอร์ตมีแต่หุ้นมันเสี่ยงกับภาวะเศรษฐกิจขาลง ในพอร์ตควรจะมีสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอด้วย ซึ่งในบรรดาสินทรัพย์พวกนี้ ตัวที่เป็นมาตรฐานตลาดสุดคือพันธบัตร ซึ่งผลของการจัดพอร์ตแบบนี้ เขาจะถือว่าอาจได้ผลตอบแทนต่ำกว่าการถือหุ้นนิดหน่อย แต่ “ความเสี่ยง” จะลดลงมาก คือมูลค่าพอร์ตจะแกว่งน้อยกว่ามาก เขาเลยบอกว่า “เหมาะกับคนแก่” ที่อาจต้องใช้เงินเมื่อไรก็ไม่รู้ และพอร์ตที่มีมูลค่าเสถียรกว่าก็น่าจะเหมาะกว่า

...อย่างไรก็ดี ยุคหลัง ๆ เราจะไม่ได้ยินใครแนะนำให้จัดพอร์ตแบบนี้แล้ว

แน่นอน ส่วนหนึ่งเกิดจากกระแสคริปโตที่ทำให้มองว่าในพอร์ตมีแค่หุ้นกับพันธบัตรมันไม่เวิร์กแล้ว แต่อีกส่วนมันเกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงประมาณต้นทศวรรษ 1980

อันนี้อยากจะย้อนไปก่อนว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือช่วงต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งถามว่าทำไมสูง หลัก ๆ คือช่วงนั้นเศรษฐกิจโลกเจอเงินเฟ้อหนัก ในปลายทศวรรษ 1970 นโยบายการคลังที่อัดฉีดเงินเศรษฐกิจเข้าไปยิ่งทำให้เงินเฟ้อแย่ลง และสุดท้ายพวกนักเศรษฐศาสตร์มองว่าต้องขึ้นดอกเบี้ยรัว ๆ เท่านั้นถึงจะแก้ปัญหา

สุดท้ายแก้ได้จริง เงินหยุดเฟ้อ แต่อัตราดอกเบี้ยแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็เป็นเลข 2 หลัก ตลอดครึ่งแรกของทศวรรษ 1980 นี่เลยทำให้เกิดสูตรลงทุน 60/40

ซึ่งอธิบายง่าย ๆ ก็คือตอนต้น 1980s ถ้าคุณซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกา คุณได้ดอกเบี้ยเกิน 10% ต่อปีชัวร์ ๆ แบบความเสี่ยงไม่มีเลยในทางปฏิบัติ อันนี้คือได้เงินง่าย ๆ เลย ซึ่งเทียบกับคุณไปซื้อหุ้น โอกาสที่หุ้นจะราคาขึ้นเกิน 10% ต่อปีมันก็มี แต่โอกาสที่จะขึ้นน้อยกว่านั้นไปจนถึงราคาตกก็มี ดังนั้นเขาก็เลยคิดว่า ถ้าเงินเกือบครึ่งของคุณอยู่ในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนชัวร์ ๆ ก็เป็นสิ่งที่ดีกว่าที่มันจะไปอยู่ในสินทรัพย์ที่ “ความเสี่ยงสูง” อย่างหุ้นหมด

และแม้ว่าดอกเบี้ยจะค่อย ๆ ต่ำลงหลังจากช่วงนั้นก็จริง แต่มันก็ลงช้า ๆ โดยตอนต้น 1990s พันธบัตรก็ยังให้ผลตอบแทน 7-8% ได้อยู่ ซึ่งนั่นก็คือผลตอบแทนเท่ากับค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นทั้งตลาดอยู่ดี (ตามดัชนี S&P500) ดังนั้นมันก็ยังเวิร์กอยู่ที่จะจัดพอร์ตแบบนี้

แต่ปัญหาคือมันไม่ได้หยุดลงแค่นั้นมันลงมาเรื่อย ๆ จนหลังปี 2000 มันก็ร่วงจาก 5% แล้ว และก่อนโควิดสด ๆ ร้อน ๆ มันเหลือแค่ 2-3% เท่านั้น

ดอกเบี้ยที่ลดมาถึงจุดนี้ ทำให้คนค่อย ๆ ถอยห่างจากสูตร 60/40 เพราะมันชัดเจนว่า การแบ่งเงินไปซื้อพันธบัตรมากเกินไปจะทำให้พอร์ตไม่เพิ่มมูลค่าเลย และเอาจริง ๆ ดอกเบี้ยยุคหลัง ๆ มันแทบจะต่ำกว่าเงินเฟ้อด้วยซ้ำ

นี่ก็เลยทำให้นักลงทุนรุ่นหลัง ๆ เริ่มเสนอการจัดพอร์ตแบบแปลก ๆ แหวกแนว ตั้งแต่ใส่พวกสินค้าโภคภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ ยันคริปโตลงในพอร์ต เพื่อให้พอร์ตมันโตไปได้เรื่อย ๆ และช่วงหลังเอาจริง ๆ เขาก็อาจใส่พันธบัตรในพอร์ตไม่เกิน 10% ด้วยซ้ำ เพราะผลตอบแทนนี่มันแทบจะดีกว่าถือเงินสดในบัญชีธนาคารแค่นิดหน่อยเอง

อย่างไรก็ดี ในกระแสการขึ้นดอกเบี้ยรัว ๆ ที่เกิดขึ้นอีกครั้งในยุคเงินเฟ้อไม่หยุดหลังโควิด คำถามมันก็เลยกลับมาว่า สุดท้ายวัฏจักรจะนำเรากลับมาที่เดิมหรือเปล่า เพราะถ้าดอกเบี้ยของธนาคารกลางอเมริกาขึ้นไปเป็นเลข 2 หลักแบบต้น 1980s ทำไมเราจะไม่ถือพวกพันธบัตรรัฐบาลอเมริกากันล่ะ? ดอกเบี้ย 10% นี่มันเยอะกว่าค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนตลาดหุ้นก่อนโควิดอีก

ถ้าเป็นแบบนั้นจริง สูตร 60/40 กลับมาแน่ ๆ แต่ประเด็นคือ การขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ ก็สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล เพราะทั้งคนธรรมดาและภาคธุรกิจต้องจ่ายดอกเบี้ยกันอาน และตอนนี้คือมันเหมือน “วัดใจ” กันเลยว่าธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ยไปถึงขนาดไหน

ซึ่งขึ้นไปสุดเมื่อไร เราก็คงจะได้รู้ว่าสูตร 60/40 จะได้กลับมาหรือไม่

 

Ref.

 

https://www.investopedia.com/articles/financial-advisors/011916/why-6040-portfolio-no-longer-good-enough.asp

https://www.cnbc.com/2022/10/03/why-60/40-portfolio-is-on-track-for-its-worst-year-ever-says-cio.html