ในปี 2023 น่าจะเป็นปีที่มีข่าว "ธนาคารเจ๊ง" บ่อยมาก ซึ่งแน่นอนเรื่องทั้งหมดมาจากอเมริกาและยุโรป โดยบางทีเราก็อาจจะงง ๆ เพราะว่าธนาคารทั้งหมดที่ "เจ๊ง" มันไม่เหมือนธุรกิจปกติที่เรามักจะมองว่าการ "เจ๊ง" คือการ "ยื่นล้มละลาย"

ธนาคารไม่เคยเป็นแบบนั้น เพราะทั่วไปมันจะถูกหน่วยงานรัฐที่เราไม่คุ้นชื่อเข้าไป "ยึดกิจการ" และ "ขายทอดตลาด"

คำถามคือทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ต้องอธิบายกันยาวหน่อยถึงกิจการที่โดนรัฐกำกับดูแลถี่ยิบแบบธนาคาร เพราะอย่างน้อย ๆ การ "เจ๊ง" ของธนาคารนั้น เกี่ยวกับหน่วยงานรัฐอย่างต่ำ 3 องค์กร คือ ธนาคารกลาง, กระทรวงการคลัง และ องค์กรประกันเงินฝาก ทั้ง 3 องค์กรที่ว่าก็มีบทบาทที่แตกต่างกันเวลาธนาคารจะเจ๊ง

อย่างแรกสุด องค์กรที่มีบทบาทในการระบุว่าธนาคาร "เจ๊ง" คือ ธนาคารกลาง ซึ่ง "เจ๊ง" ที่ว่าในทางเทคนิคเรียกว่า Insolvency หรือการมีหนี้มากเกินไป และในทางปฏิบัติคือมี "เงินสด" อยู่ในมือน้อยเกินไป

ซึ่งในทางปฏิบัติที่ว่านี้ก็คือ ธนาคารกลางจะมีหน้าที่อัปเดตสัดส่วนระหว่างเงินสดในมือกับทรัพย์สินทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์เรื่อย ๆ ซึ่ง ถ้าธนาคารมีเงินสดเกิน 10% ก็จะถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ถ้าน้อยกว่านั้นก็ถือว่าไม่ดี เพราะมีเงินสดน้อย มันหมายถึงเวลาลูกค้ามาถอนเงินก็ไม่มีเงินให้ ซึ่งพอคนมาถอนเงินแล้วไม่มีให้ คนก็จะตื่นตระหนกจนแห่กันไปถอนเงินออก และทำให้ธนาคารดำเนินกิจการต่อไม่ได้เพราะไม่มีเงิน ซึ่งธนาคารกลางไม่ต้องการให้เกิดภาวะนี้ ก็เลยมีมาตรฐานให้สำรองเงินสดไว้ในมือ

ตรงนี้คือพอระดับเงินสดในมือธนาคารพาณิชย์มันลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ ธนาคารกลางก็จะมีสิทธิ์ในการเตือน และการเตือนก็จะหนักขึ้นตามเงินสดในมือที่น้อยลง โดยเขาก็จะมีมาตรฐานว่าต่ำกว่า 8% ต้องเตือนยังไง ต่ำกว่า 6% ต้องเตือนยังไงเป็นต้น และปกติถ้าเงินสดในมือลดลงต่ำกว่า 2% ของสินทรัพย์ทั้งหมด คือมันจะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการบังคับให้ธนาคารยุติกิจการทันที เพราะถือว่าได้เตือนมาพอแล้ว ซึ่งเราจะเห็นได้ว่านี่คือเรื่องตัวเลขล้วน ๆ มีระเบียบชัดเจน ไม่ใช่ธนาคารกลางนึกจะไปปิดกิจการธนาคารก็ปิดได้

ทีนี้การเริ่มกระบวนการปิดกิจการ ก็จะขึ้นอยู่กับระเบียบในแต่ละประเทศ ซึ่งหลัก ๆ มันมีสองขั้นคือการสั่งระงับกิจการชั่วคราวกับการเพิกถอนใบอนุญาต ในไทยทางธนาคารกลางสามารถสั่งยุติกิจการชั่วคราวได้ แต่การเพิกถอนใบอนุญาตเป็นอำนาจของทางกระทรวงการคลัง ส่วนในอเมริกาหลัก ๆ แล้วหน่วยงานที่มีอำนาจทั้งสองนี้ในมือคือองค์กรชื่อ Office of the Comptroller of the Currency ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาอีกที เราจะเห็นได้ว่าตัวธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาไม่มีอำนาจในการยุติกิจการของธนาคาร แต่จะมีอำนาจในการไปแจ้งหน่วยงานที่มีอำนาจตรงนี้ดำเนินการแทน

ซึ่งหลังจากกระบวนการยุติกิจการเริ่มแล้ว สิ่งต่อมาที่จะเกิดขึ้นก็คือ กระบวนการประกันเงินฝาก ซึ่งตรงนี้องค์กรที่จะมารับไม้ต่อจากองค์กรที่สั่งให้ธนาคารยุติกิจการคือ “องค์กรประกันเงินฝาก” (มีชื่อเรียกต่างกันในแต่ละประเทศ อเมริกาเรียก Federal Deposit Insurance Corporation ไทยเรียก สถาบันคุ้มครองเงินฝาก) องค์กรพวกนี้จะจ่ายเงินฝากคืนกับลูกค้าธนาคารทันที เพื่อให้ตัวเองกลายเป็นเจ้าหนี้ของธนาคารแทน และจัดการขั้นตอนต่อไป ซึ่งอันนี้ก็จะเหมือนบริษัทที่ "เจ๊ง" ปกติแล้ว คือ เอาทรัพย์สินมาขายทอดตลาดแล้วยกเลิกกิจการไปเลย หรือเอากิจการไปขายต่อให้คนอื่นบริหารต่อ เช่นในกรณีของ First Republic Bank ก็โดนจับขายให้ JPMorgan Chase หรือ Credit Suisse ก็โดนจับขายให้ UBS

ทั่วไปธนาคารจะถูก "จัดการ" แบบที่ว่าไม่ค่อยโดนจับยกเลิกกิจการกัน แต่จะโดนจับขายให้ธนาคารอื่นบริหารแทน และนี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงไม่มีการ "เพิกถอนใบอนุญาต" ในกระบวนการ "เจ๊ง" ของธนาคาร เพราะปลายทางการเจ๊งของธนาคารคือโดนบังคับขายกิจการให้ธนาคารที่ใหญ่กว่าไปบริหารต่ออยู่ดี ซึ่งหากไปเพิกถอนใบอนุญาตมันก็ไปสร้างความวุ่นวายให้ผู้ซื้อต้องไปขอใบอนุญาตใหม่อีก

ดังนั้นมันจะเห็นได้ว่า จริง ๆ มันมีแผนมาตรฐานในการจัดการธนาคารที่เจ๊งชัดเจนซึ่งที่โหดคือ ในอเมริกายุคหลัง ๆ มันจะมีระเบียบด้วยซ้ำว่า ธนาคารใหญ่ ๆ ที่ล่มไปมีผลกระทบต่อระบบ ต้องมี "พินัยกรรม" เขียนเอาไว้เลย คือต้องเขียนไว้เลยว่าถ้าธนาคารเจ๊ง มันจะถูกจัดการยังไง มันจะถูกขายต่อให้ใคร เพื่อให้เวลาธนาคารเจ๊งไป การจัดการมันจะทำให้เร็วที่สุด ไม่กระทบเศรษฐกิจ

และนี่ก็อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมธนาคารต่าง ๆ ในอเมริกาถึงเจ๊งเร็วและจัดการได้เร็ว คือทุกการเจ๊งจบเรื่องในไม่เกิน 1 อาทิตย์ มันเป็นเพราะระบบถูกวางเอาไว้แล้วว่าถ้าเจ๊งขึ้นมามันจะมีวิธีการจัดการแบบอัตโนมัติให้ทุกอย่างจบเร็วที่สุด

ซึ่งในแง่นี้ มันเลยเป็นเหตุผลที่ทำไมธนาคารกลางสหรัฐถึงกล้าขึ้นดอกเบี้ยไม่หยุดแบบไม่กลัวพวกธนาคารเจ๊ง เพราะสุดท้ายระบบการเงินในโลกที่ออกแบบมารับมือกับธนาคารเจ๊งได้ดีที่สุดคือระบบของอเมริกานี่เอง

Ref.
https://en.wikipedia.org/wiki/Federal_Deposit_Insurance_Corporation

https://en.wikipedia.org/wiki/Office_of_the_Comptroller_of_the_Currency

https://finance.ec.europa.eu/banking-and-banking-union/banking-regulation/deposit-guarantee-schemes_en

https://www.dpa.or.th/site/index

https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/6new/new30.pdf