สกุลเงินคริปโตได้ชื่อว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าขึ้นลงเป็นว่าเล่น บางคนจึงเปรียบการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ว่าเป็นการนั่งรถไฟเหาะที่ขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างไม่หยุดหย่อนจนผู้เล่นเกิดอาการอกสั่นขวัญแขวน ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ตลาดคริปโตดิ่งในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลเลยทีเดียว นักลงทุนจำนวนมากตกที่นั่งลำบากกันไปตาม ๆ กัน ยิ่งคนที่เอาเงินเก็บของตัวเองมาลงทุนยิ่งมีแต่ยับ ด้วยเหตุนี้ วันนี้เราจึงจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ 7 สาเหตุหลักที่ทำตลาดคริปโตดิ่งเพื่อให้เพื่อนนักลงทุนทุกท่านแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง รู้เท่าทันตลาด และไม่ตกเป็นเหยื่อของวิกฤตในตลาดคริปโตอีกต่อไป โดยจะมีอะไรบ้าง เชิญหาคำตอบได้จากบทความนี้เลย

  1. การนำไปใช้ประโยชน์น้อย

สกุลเงินคริปโต เช่น Bitcoin (BTC) มีศักยภาพที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงินได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลก โดยเมื่อไม่นานนี้มีการใช้สกุลเงินคริปโตเพิ่มมากขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศเอลซัลวาดอร์เพิ่งจะยกสถานะ Bitcoin ให้เป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไปเมื่อปี 2564 นี้เอง ถึงกระนั้น ก็น่าเสียดายที่ในภาพรวมแล้วสกุลเงินคริปโตก็ยังไม่ถูกนำมาใช้เป็นช่องทางในการชำระเงินมากเท่าที่ควร แถมคนส่วนใหญ่ยังใช้คริปโตเป็นช่องทางในการลงทุนซะมากกว่าด้วย นอกจากนี้ ผลการศึกษาที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนมกราคมปี 2565 ที่ผ่านมายังชี้ว่า มีธุรกิจขนาดเล็กเพียง 28% เท่านั้นที่รับชำระค่าสินค้าและบริการเป็นสกุลเงินคริปโต 

โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า การใช้งานเพียงเล็กน้อยดังที่กล่าวมาเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาของตัวมันเองดิ่งลง นอกจากนี้ ถ้าสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ไม่มีการใช้งานในโลกจริง ก็เป็นไปได้ว่ามูลค่าของพวกมันก็จะมลายหายไปในที่สุด เนื่องจากสินทรัพย์ที่ไม่มีการใช้งานในโลกจริงนั้นย่อมมีมูลค่าได้จากการเก็งกำไรอย่างหนักหน่วงของนักลงทุนเท่านั้น

  1. การกำกับดูแลสกุลเงินคริปโต

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกได้ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อจำกัดการใช้งานของสกุลเงินคริปโต ทว่ามาตรการที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อตลาดคริปโตมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นมาตรการของประเทศจีน ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2560 รัฐบาลจีนได้สั่งแบนการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (Initial Coin Offering: ICO) ทั่วประเทศ ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นการระดมทุนของโปรเจกต์คริปโต รวมถึงสั่งให้แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตทุกแพลตฟอร์มในประเทศหยุดดำเนินกิจการ หลังจากนั้น Bitcoin ก็ร่วงลงถึง 20% ภายในไม่กี่วันเท่านั้น 

ยิ่งกว่านั้น ในเดือนมิถุนายนปี 2564 รัฐบาลจีนยังได้สั่งแบนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตทั้งหมด ทำให้นักขุดคริปโตหลายคนจำใจหยุดดำเนินกิจการ และด้วยความที่การขุดคริปโตของนักขุดจีนคิดเป็น 65% ของกิจกรรมการขุดคริปโตทั่วโลก ก็ทำให้ตลาดคริปโตได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย Bitcoin ดิ่งลงจากราคาสูงกว่า 60,000 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนเมษายนมาอยู่ที่ 30,000 ดอลลาร์ในเดือนมิถุนายน

  1. ความกลัว, ไม่มั่นใจ และสงสัย (Fear, Uncertainty and Doubt: FUD)

สกุลเงินคริปโตบางสกุลอย่างกลุ่ม “เหรียญมีม” สุดฉาวโฉ่นั้นไม่มีมูลค่ามาตั้งแต่เริ่ม แต่ราคาของมันมักจะขึ้นอยู่กับความคาดหวังของนักลงทุนซะมากกว่า ถ้าหากว่าเหรียญเหล่านี้เข้าไปพัวพันกับเรื่องอื้อฉาวหรือข่าวคราวของบริษัทใด ๆ นักลงทุนก็จะพากันตื่นตูมและแห่เทขายในเวลาต่อมาเพื่อป้องกันการขาดทุนที่อาจจะเกิดขึ้นได้นั่นเอง นอกจากนี้ ตลาดสกุลเงินคริปโตยังมักจะเคลื่อนไหวตามเหตุการณ์ทางเศรษฐศาสตร์มหภาคด้วย โดยเหตุการณ์ตลาดหุ้นร่วงยกแผง ปรากฏการณ์เงินเฟ้อ ตลอดจนสถานการณ์ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติล้วนแล้วแต่สามารถทำให้คริปโตร่วงระนาวได้โดยทั้งสิ้น 

ตัวอย่างของ FUD ที่เราเห็นได้ชัด ๆ ก็เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมานี้เอง โดย ณ ช่วงนั้น ตลาดหุ้นในภาพรวมเข้าสู่สภาวะตลาดหมี บวกกับเกิดเหตุการณ์สำคัญระดับโลกหลายเหตุการณ์ และเหรียญคริปโตคู่หูดูโอ้อย่าง TerraUSD และ Luna ได้ล่มสลายลงไป ก็ทำให้ตลาดตื่นกลัวสุดขีด เหรียญคริปโตส่วนใหญ่จึงกอดคอกันดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง 

  1. การแฮกแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโต

นอกจากเหตุการณ์สำคัญระดับโลกแล้ว การโจรกรรมคริปโตหรือการแฮกแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตก็สามารถทำให้ราคาคริปโตดิ่งเกือบทั้งตลาดได้เช่นกัน เนื่องจากถ้าหากว่าแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตโดนแฮกหรือเจาะช่องโหว่จนทำให้สินทรัพย์บางส่วนหายไป นักลงทุนก็จะพากันเทขายสกุลเงินคริปโตอย่างมหาศาล ซึ่งพวกเขากลัวว่าสินทรัพย์ของตนจะหายไป จึงรีบนำไปแลกเป็นเงินตรา

กรณีการแฮกคริปโตครั้งประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อตลาดคริปโตอย่างเห็นได้ชัดเลยก็คือ การแฮกแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตชื่อดังอย่าง Mt. Gox ในปี 2557 ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานั้น Bitcoin จำนวนมากถึง 850,000 BTC หายวับไปกับตา รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 470 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตามการประมาณการ ณ ตอนนั้น โดยผลจากเหตุการณ์นี้ก็ทำให้ราคา Bitcoin ร่วงลงกว่า 20% เลยทีเดียว 

  1. ปัญหาทางเทคนิค

ในบางครั้งปัญหาทางเทคนิคก็อาจจะทำให้ราคาคริปโตดิ่งได้เช่นกัน เนื่องจากถ้าหากว่าเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังสกุลเงินคริปโตบางสกุลประสบปัญหา ก็อาจจะนำไปสู่การเทขายของนักลงทุนจนราคาร่วงได้ ในทำนองเดียวกัน ถ้าหากว่าแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตหรือกระเป๋าเงินคริปโตเกิดขัดข้องทางเทคนิค นักลงทุนก็อาจจะวิตกกังวลและแห่ขายเหรียญคริปโตได้เช่นกัน

  1. การหลอกลวงในวงการคริปโต

ตลาดคริปโตมักได้รับการเปรียบเปรยเป็นแหล่งกบดานของเหล่าอาชญากรที่พร้อมจะหลอกลวงนักลงทุนที่ไม่ทันระวังอยู่ตลอดเวลา โดยมิจฉาชีพบางคนอาจชี้ชวนให้นักลงทุนมาลงทุนในเหรียญคริปโตของตนก่อนจะปิดโปรเจกต์แล้วชิ่งหนีไปพร้อมกับเงินของนักลงทุน ขณะที่กลุ่มมิจฉาชีพบางกลุ่มก็อาจจะหลอกล่อนักลงทุนหน้าซื่อตาใสด้วยการปั่นราคาเหรียญให้คนแห่ไปซื้อก่อนที่จะเทขายออกไปจนทำให้ราคาเหรียญดิ่งเหว ซึ่งคนที่หนีไม่ทันก็จะต้องขาดทุนไปในท้ายที่สุด ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนทั่วไปจึงสูญเสียความมั่นใจในตลาดและแห่เทขายเหรียญคริปโตจนทำให้ราคาเหรียญคริปโตดิ่ง

  1. การครอบงำตลาด 

การครอบงำตลาดคือ การที่คนหรือบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งมักจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ หรือ “วาฬ” พยายามเข้ามาครอบงำตลาดด้วยการสร้างความตื่นตระหนกในหมู่นักลงทุน หรือการขายหรือซื้อเหรียญทีละมาก ๆ โดยวาฬนั้นเป็นกลุ่มนักลงทุนกระเป๋าหนักที่สามารถทุ่มเงินลงทุนมหาศาลในตลาดคริปโต ทำให้การเคลื่อนไหวของพวกเขาจึงมักจะมีผลกระทบต่อตลาดเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ถ้าวาฬช้อน Bitcoin จำนวนมากในหนึ่งครั้ง มูลค่าของ Bitcoin ก็อาจจะพุ่งสูงขึ้นได้ ในทางตรงข้าม ถ้าวาฬขาย Bitcoin ทิ้งหมดทีเดียว มูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวก็อาจจะตกลงไปในที่สุด