เป็นที่รู้กันดีว่า สมาชิกชุมชนคริปโตนั้นต่างก็คลั่งไคล้และหลงใหลในโปรเจกต์และเหรียญคริปโตต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ทำให้วงการนี้มักมีกลิ่นดราม่าตลบอบอวลและเปรอะเปื้อนไปด้วยเรื่องเกาเหลา เช่น หนึ่งในประเด็นร้อนที่ชาวคริปโตได้ต่อล้อต่อเถียงกันมาอย่างเนิ่นนานนั้นก็คือ “กระเป๋าเงินคริปโตแบบ Hot Wallet กับ Cold Wallet อันไหนดีกว่ากัน?”

โดยฟากที่สนับสนุน Hot Wallet ก็ให้เหตุผลว่า การเก็บคริปโตด้วยวิธีดังกล่าวสะดวกสบายกว่ามาก แถมยังมีต้นทุนต่ำด้วย ขณะที่ฟากที่สนับสนุน Cold Wallet ก็แย้งว่า วิธีการเก็บคริปโตของตัวเองนั้นปลอดภัยยืนหนึ่ง พร้อมกับยกประโยคในตำนานอย่าง “Not Your Keys, Not Your Crypto (เมื่อไม่ใช่กุญแจส่วนตัวของคุณ ก็ไม่ใช่คริปโตของคุณ)” มาสู้กลับอย่างเต็มคาราเบล ถึงกระนั้น การเก็บคริปโตแบบ Cold Wallet ก็ใช่ว่าจะตอบโจทย์สำหรับคนทุกประเภท เนื่องจากหากทำกุญแจส่วนตัวหาย ก็เท่ากับว่าคริปโตของเราก็จะหายไปด้วยนั่นเอง ดังนั้น บทความนี้จะพาไปรู้จักกับการเก็บคริปโตอย่าง Multisig Wallet ที่ว่ากันว่ามีความปลอดภัยมากกว่า Cold Wallet แถมยังเหมาะกับการเก็บคริปโตของเหล่าสถาบันและกลุ่มธุรกิจอีกด้วย

Multisig Wallet คืออะไร?

Multisig Wallet หรือที่รู้จักกันในชื่อ Multisig Vault หรือ Multisig Safe เป็นกระเป๋าเงินคริปโตพิเศษประเภทหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้กุญแจส่วนตัว (Private Key) ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปในการเข้าถึงสกุลเงินคริปโต โดย Multisig Wallet อาจเปรียบได้กับตู้เซฟแบบหลายกุญแจในเวอร์ชันออนไลน์ที่เก็บสินทรัพย์เอาไว้และจะเปิดออกก็ต่อเมื่อมีการไขกุญแจครบทุกช่องแล้ว โดยคริปโตจะถูกเก็บไว้ใน Multisig Wallet และจะเกิดการทำธุรกรรมก็ต่อเมื่อผู้ใช้ทุกคนร่วมกันใส่รหัสเพื่อปลดล็อกกระเป๋าเงินนั่นเอง

Multisig Wallet ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2556 แล้ว และก็มีหลายรูปแบบมาก เมื่อผู้ใช้ติดตั้งกระเป๋าเงินคริปโตประเภทนี้แล้ว ผู้ใช้จะสามารถกำหนดจำนวนกุญแจส่วนตัวที่สามารถเข้าถึงและใช้ในการเปิดกระเป๋าเงินคริปโตประเภทนี้ได้ ตัวอย่างเช่น หนึ่งในประเภทที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือกระเป๋าเงินแบบใช้กุญแจ 2 ใน 3 กล่าวคือ เป็นกระเป๋าเงินที่มีกุญแจส่วนตัว 3 ตัว โดยในการยืนยันธุรกรรมนั้น ผู้ใช้จะใช้เพียงแค่ 2 ใน 3 ตัวนี้เท่านั้นในการทำธุรกรรม จึงจะถือว่าเสร็จสมบูรณ์

Multisig Wallet ทำงานอย่างไร?

เมื่อผู้ใช้รายหนึ่งต้องการส่งเงินโดยใช้ Multisig Wallet เขาก็จะต้องกรอกรายละเอียดธุรกรรมในกระเป๋าเงินและกรอกกุญแจส่วนตัวเพื่อเซ็นรับรองธุรกรรม ทว่าธุรกรรมดังกล่าวก็จะยังไม่แล้วเสร็จ โดยจะมีสถานะเป็นธุรกรรมที่รอดำเนินการจนกว่าผู้ใช้รายอื่นจะเซ็นรับรองธุรกรรมครบตามที่กำหนดไว้ เมื่อผู้ใช้ทั้งหมดรับรองธุรกรรมครบแล้ว กระเป๋าเงินก็จะเซ็นรับรองธุรกรรม จากนั้นก็จะส่งเงินไปตามที่อยู่ที่ผู้ใช้คนแรกกรอกเอาไว้

โดย Multisig Wallet จะไม่จัดลำดับความสำคัญของผู้ใช้ ตัวอย่างเช่น ถ้า Multisig Wallet ใบหนึ่งต้องใช้กุญแจส่วนตัว 4 ใน 5 ตัวในการยืนยันธุรกรรม กุญแจทุกตัวก็จะมีความสำคัญเท่ากันหมด กุญแจตัวไหนจะเซ็นรับรองธุรกรรมก่อนก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงลำดับความสำคัญแต่อย่างใด นอกจากนี้ ธุรกรรมก็จะไม่มีวันเป็นโมฆะ แต่จะอยู่ในสถานะรอการดำเนินการจนกว่าผู้ใช้ทุกคนจะยืนยันธุรกรรมครบตามที่กำหนดไว้

ข้อดีของการใช้ Multisig Wallet

นอกจากความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นแล้ว Multisig Wallet ยังช่วยป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากการผูกขาดอำนาจไว้ที่คน ๆ เดียวอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในกรณีของแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตอย่าง QuadrigaCX ที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินฝากของลูกค้าได้หลังจากที่ผู้ก่อตั้งเสียชีวิต เนื่องจากเขาเป็นคนเดียวที่เก็บกุญแจกระเป๋าเงินคริปโตแบบ Cold Wallet ของแพลตฟอร์มไว้ ในทางกลับกัน สมมติว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวใช้ Multisig Wallet เหตุการณ์เช่นนี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากกระเป๋าเงินคริปโตประเภทดังกล่าวจำเป็นต้องใช้การเซ็นรับรองธุรกรรมจากบุคคลหลายฝ่าย 

ไม่เพียงเท่านั้น Multisig Wallet ยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสให้กับการทำธุรกรรมอีกด้วยเมื่อเทียบกับกระเป๋าเงินแบบอื่น ๆ เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรม นโยบายการทำธุรกรรม และผู้เซ็นรับรองธุรกรรมจะเปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้บนบล็อกเชน ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่ากฎการทำธุรกรรมเป็นอย่างไร และใครมีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมบ้าง