บิตคอยน์ (Bitcoin: BTC) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาสกุลเงินคริปโตทั้งหมดทั้งมวล คนจากทั่วทุกมุมโลกหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในบิตคอยน์มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่บิตคอยน์จะกำลังกลายเป็นวิธีการชำระเงินอันฮอตฮิตภายในเวลาเพียงอีกไม่กี่ปี ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีการชำระเงินกำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และเหล่าผู้ประกอบการก็เริ่มให้การยอมรับบิตคอยน์กันแล้ว

คำถามคือ “แล้วเราจะเอาบิตคอยน์ไปใช้ได้ที่ไหนกันบ้างล่ะ?” แต่ไม่ต้องกินแหนงแคลงใจไป ในบทความนี้ เราจะพาคุณออกเดินทางไปเยี่ยมชมบริษัทที่ให้ลูกค้าใช้บิตคอยน์ชำระค่าสินค้าและบริการได้ รวมถึงจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับวิธีการซื้อและวิธีการใช้บิตคอยน์แบบคร่าว ๆ ด้วย ถ้าพร้อมแล้ว ก็เอาเลยเริ่มเลย!

เช็กลิสต์บริษัทที่รับชำระค่าสินค้าและบริการเป็นบิตคอยน์

ก่อนอื่นเราต้องขอแจ้งให้ท่านผู้อ่านทราบว่า รายชื่อต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างบริษัทที่รับชำระค่าสินค้าและบริการเป็นบิตคอยน์เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงทุก ๆ บริษัทที่รองรับบิตคอยน์ 

  1. Microsoft – เชื่อหรือไม่ว่า Microsoft เป็นบริษัทแรก ๆ ที่รับชำระค่าสินค้าเป็นบิตคอยน์ โดย Microsoft เริ่มรับชำระค่าสินค้าเป็นบิตคอยน์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2014 ซึ่ง ณ ตอนนั้น ผู้ใช้บริการสามารถใช้บิตคอยน์ซื้อเกมและแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้ ทว่าในปี 2016 ทางบริษัทก็ได้หยุดรับบิตคอยน์ไป เนื่องจาก ณ ขณะนั้น สกุลเงินดิจิทัลยังไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย และยังได้หยุดรับอีกครั้งในปี 2018 เนื่องจากบิตคอยน์มีความผันผวนหนัก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ สกุลเงินคริปโตได้กลายมาเป็นสิ่งปกติใหม่ไปแล้ว ทำให้การจ่ายค่าสินค้าด้วยบิตคอยน์มีความน่าเชื่อถือมากกว่าเมื่อ 8 ปีที่แล้วมาก
  2. Home Depot – บริษัทค้าปลีกอุปกรณ์แต่งบ้านที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกแห่งนี้ก็เอากับเขาด้วย โดยลูกค้าของ Home Depot สามารถชำระเงินด้วยบิตคอยน์ได้ แต่จะถูกแปลงเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐโดยทันที เนื่องจากทางบริษัทต้องการให้งบดุลของบริษัทมีเพียงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
  3. Twitch – แพลตฟอร์มสตรีมมิงขวัญใจชาวเกมเมอร์และอินฟลูเอนเซอร์ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่รับชำระค่าบริการเป็นบิตคอยน์มาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว แต่ในเวลาต่อมาก็แอบยกเลิกบริการดังกล่าวไปแบบไม่พูดพร่ำทำเพลงในปี 2019 เนื่องจากวิธีการชำระเงินดังกล่าวก็ไม่มั่นคงสำหรับทุกคน ถึงกระนั้น ทางแพลตฟอร์มก็กลับมาเปิดรับชำระค่าบริการเป็นบิตคอยน์ได้ตามเดิมในปีต่อมา
  4. Whole Foods – บริษัทซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Whole Foods ก็เปิดให้ลูกค้าชอปปิงด้วยบิตคอยน์ได้เช่นกัน โดยทางบริษัทมีเทคโนโลยีของตัวเองที่ช่วยแปลงเหรียญดิจิทัลให้กลายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐได้โดยตรง และที่พิเศษสุด ๆ คือ การที่ Whole Foods ได้จับมือกับกระเป๋าเงินคริปโตอย่าง Spedn ของบริษัทสตาร์ตอัป Flexa ส่งผลให้ลูกค้าสามารถใช้บิตคอยน์และสกุลเงินคริปโตอื่น ๆ ชำระค่าข้าวของเครื่องใช้ได้
  5.  Gyft – บริษัทบัตรของขวัญแห่งนี้ช่วยให้ลูกค้าสามารถซื้อ ส่ง และแลกบัตรของขวัญออนไลน์สำหรับร้านค้าและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ เช่น Starbucks, Amazon และ Sony Playstation โดยผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมด้วยบิตคอยน์เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ซึ่งสามารถชำระได้ง่าย ๆ โดยเข้าเว็บไซต์ เลือกบัตรของขวัญที่ต้องการ แล้วเลือกวิธีการชำระเงินแบบ BTC จากนั้นให้ใช้กระเป๋าเงินคริปโตของคุณโอนเงิน 
  6. Benfica – สโมสรฟุตบอลชื่อดังอย่าง Benfica หรือที่รู้จักกันในชื่อ Sport Lisboa e Benfica จากเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส รับชำระค่าสินค้าเป็นบิตคอยน์ โดยลูกค้าสามารถใช้สินทรัพย์ดิจิทัลของตนซื้อของสัพเพเหระได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ระลึกของสโมสร หรือตั๋วเข้าชมเกมการแข่งขัน นอกจากบิตคอยน์แล้ว ทางสโมสรก็ยังรองรับ Ethereum (ETH) และโทเคน Utrust (UTK) อีกด้วย 
  7. Save the Children – องค์กรนอกภาครัฐ (Non-Governmental Organization: NGO) แห่งนี้เป็นองค์กรนอกภาครัฐที่ใหญ่ที่สุดและเป็นองค์กรนอกภาครัฐองค์กรแรกที่เริ่มรับบริจาคเงินเป็นบิตคอยน์มาตั้งแต่ปี 2013 โดย Save the Children มาพร้อมกับสโลแกนสุดเก๋อย่าง “HODLhope” และต่อสู้เพื่อสิทธิเด็กในการมีสุขภาพที่ดี การเข้าถึงการศึกษา และการได้รับการคุ้มครองดูแล
  8. Virgin Airlines – เศรษฐีผู้ประกอบการพันล้านและผู้ก่อตั้งสายการบิน Virgin Airlines อย่าง Richard Branson ได้ชื่อว่าเป็นนักคิดค้นนวัตกรรม จึงไม่แปลกใจเลยที่บริษัทของเขาจะรับชำระค่าบริการด้วยบิตคอยน์ นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถใช้บิตคอยน์จ่ายค่าโดยสารท่องอวกาศได้อีกด้วย โดยบริษัทท่องอวกาศที่อยู่ในอาณัติของ Branson อย่าง Virgin Galactic ก็ประกาศรับชำระเงินเป็นบิตคอยน์ด้วยเช่นกัน
  9. Overstock – บริษัทค้าปลีกออนไลน์อย่าง Overstock เป็นหนึ่งในร้านค้าปลีกหลายแห่งที่ให้ลูกค้าชำระค่าสินค้าเป็นบิตคอยน์ได้ มิหนำซ้ำร้านค้าปลีกแห่งนี้ยังถือบิตคอยน์ไว้เองด้วย โดย ณ ตอนนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่บิตคอยน์เท่านั้นที่สามารถใช้ชำระค่าสินค้าของร้านค้าปลีกแห่งนี้ได้ แต่ยังรวมถึงสกุลเงินคริปโตทุกสกุลเลยทีเดียว
  10. Wikipedia – ใครจะไปคิดล่ะว่า บริษัทผู้อยู่เบื้องหลังสารานุกรมเสรีออนไลน์ขวัญใจชาวประชาอย่าง Wikipedia จะเป็นบริษัทแรก ๆ ที่ให้การยอมรับบิตคอยน์ ย้อนไปเมื่อปี 2014 บริษัท Wikipedia ได้รับเงินบริจาคเป็นบิตคอยน์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ทางบริษัทก็ได้ยกเลิกการรับเงินบริจาคเป็นสกุลเงินคริปโตไปแล้ว โดยให้เหตุผลของการยกเลิกว่าเป็นเพราะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงของการถูกหลอก รวมถึงการที่มีเงินบริจาคที่เป็นสกุลเงินคริปโตเพียง 0.08% จากเงินบริจาคทั้งหมดเท่านั้น กระนั้นก็ดี Wikipedia เปรยว่า จะหยุดรับเงินบริจาคคริปโตไปก่อนในตอนนี้ และยังไม่แน่ว่า ในอนาคตทางบริษัทจะรับบริจาคเงินคริปโตอีกครั้งหรือไม่

วิธีซื้อบิตคอยน์

หัวใจสำคัญของสกุลเงินคริปโตคือ ความกระจายศูนย์ ดังนั้น คุณไม่สามารถซื้อสกุลเงินคริปโตจากธนาคารหรือบริษัทลงทุนทั่วไปได้ ทว่าสถานที่ที่คุณสามารถซื้อสกุลเงินคริปโตได้นั้นก็คือ กระดานซื้อขายสกุลเงินคริปโตนั่นเอง

ก่อนที่คุณจะใช้เงินตรา (Fiat) ซื้อสกุลเงินคริปโต คุณจะต้องทำ 3 สิ่งต่อไปนี้ ได้แก่ 1. คิดถึงความปลอดภัยในโลกออนไลน์ 2. ก่อนซื้อ ขาย หรือถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล คุณต้องสมัครบัญชีก่อน และ 3. คุณต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น หนังสือเดินทางและสมุดบัญชีธนาคาร หลังจากนั้น คุณก็สามารถเพิ่มเงินเข้าไปยังกระเป๋าเงินของคุณได้แล้ว

กระบวนการเพิ่มเงินเข้ากระเป๋าคือ การโอนเงินตรา เช่น ดอลลาร์สหรัฐ เข้าไปยังกระเป๋าเงินออนไลน์ของคุณ ถ้าคุณซื้อบิตคอยน์แล้ว คุณต้องนำไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันการถูกขโมย กระเป๋าเงินบิตคอยน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ Ledger, Exodus และ Trezor เมื่อรู้วิธีเก็บคริปโตไว้ในที่ปลอดภัยไปแล้ว ก็ถึงเวลาใช้เงินตราซื้อคริปโตแล้ว โดยคุณสามารถวางคำสั่งซื้อคริปโตบนกระดานซื้อขายสกุลเงินคริปโตใดก็ได้ที่คุณต้องการ ทั้งนี้ ขอให้ทราบว่า กระดานซื้อขายสกุลเงินคริปโตแต่ละแพลตฟอร์มนั้นมีวิธีการซื้อและขายไม่เหมือนกัน โปรดศึกษาให้ดีก่อนการซื้อขาย 

วิธีใช้บิตคอยน์ชำระค่าสินค้าและบริการ

หลังจากซื้อคริปโตมาเก็บไว้ในกระเป๋าเงินเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การหาข้อมูลเกี่ยวกับร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า หรือบริษัทที่ให้คุณใช้บิตคอยน์ชำระค่าสินค้าและบริการได้ โดยเราได้บอกข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่รับชำระค่าสินค้าและบริการเป็นบิตคอยน์และวิธีการซื้อบิตคอยน์ไปบ้างแล้ว แต่ถ้าคุณอยากใช้บิตคอยน์ซื้อสินค้าและบริการ คุณก็สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้ 1. เลือกสินค้าและบริการ 2. เลือกบิตคอยน์หรือสกุลเงินคริปโตที่ต้องการใช้ 3. ล็อกอินเข้าสู่กระเป๋าเงินคริปโตของคุณ 4. ยืนยันการทำธุรกรรม และ 5. โอนเงิน เพียงแค่นี้ การทำธุรกรรมของคุณก็เสร็จสมบูรณ์ รอรับสินค้าและบริการได้เลย!