ในปัจจุบันสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) กำลังได้รับแรงหนุนจากรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก ถึงแม้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติจำนวนไม่น้อยจะมองว่า การออกสกุลเงินดังกล่าวอาจทำลายอิสรภาพทางการเงินของประชาชนได้ เนื่องจากจะช่วยให้รัฐบาลสามารถติดตามธุรกรรมการเงินของประชาชนได้ง่ายขึ้น ถึงกระนั้น หลายคนก็มิอาจมองข้ามผลประโยชน์ที่จะตามมาจากการนำ CBDC มาใช้ได้ ซึ่ง CBDC ที่อยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชนจะมอบช่องทางให้กับประชาชนในการทำธุรกรรมทางการเงินที่น่าจะสะดวก รวดเร็ว และถูกกว่าการทำธุรกรรมผ่านระบบการเงินแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังมีความสามารถในการปราบปรามการทำธุรกรรมผิดกฎหมายด้วย เช่น การฟอกเงิน
อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่า ประโยชน์ของ CBDC คุ้มค่าไหมกับการที่เราจะต้องแลกมาด้วยการควบคุมที่มากขึ้นจากรัฐบาลและความเสี่ยงจากความล้มเหลวเมื่อธนาคารเกิดทำงานผิดพลาดก็ยังมิอาจตอบได้ในตอนนี้จนกว่าเราจะได้ใช้ CBDC กันจริง ๆ ด้วยเหตุนี้ วันนี้เราจะพาท่านผู้อ่านทั้งหลายไปตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการ CBDC ทั่วโลกกัน ถ้าอยากรู้ว่า ตอนนี้ CBDC พัฒนาไปถึงไหนแล้ว ก็ติดตามได้จากบทความนี้เลย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนโครงการ CBDC ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ณ ปัจจุบันนี้ รัฐบาลของประเทศมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกมีโครงการ CBDC เป็นของตัวเอง โดยราว ๆ ครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนา ในขณะที่ 39 ประเทศที่มีโครงการนำร่อง โครงการทดสอบความเป็นไปได้ หรือไม่ก็เริ่มเปิดใช้งาน CBDC ของตัวเองแล้ว
กระบวนการหารือเกี่ยวกับ CBDC ของประเทศที่ให้ความสำคัญกับอิสรภาพทางการเงิน เช่น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากสมาชิกสภานิติบัญญัติของประเทศเหล่านี้ได้วิพากษ์วิจารณ์ CBDC อย่างออกหน้าออกตาหรือแม้กระทั่งสั่งห้ามการออก CBDC เลยด้วยซ้ำ ฝ่ายนิติบัญญัติของหลายรัฐในสหรัฐฯ ได้แก่ เท็กซัส, แอละแบมา, นอร์ทแคโรไลนา และลุยเซียนา ก็ได้คัดค้านการออก CBDC ขณะที่กรณีการสั่งห้ามการใช้งาน CBDC ที่เห็นได้ชัดเลยเกิดขึ้นที่รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ โดยมีรายงานว่า ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาอย่าง Ron DeSantis ได้ลงนามร่างกฎหมายที่แบนการใช้ CBDC ทั้งของสหรัฐฯ และต่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตภายในรัฐเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศอินเดีย จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลับให้การยอมรับ CBDC กันแล้ว เนื่องจากตระหนักถึงผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการนำสกุลเงินดิจิทัลชนิดนี้มาใช้ในการทำธุรกรรมทางการค้ากับนานาชาติ สำหรับประเทศอินเดียนั้น ธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India: RBI) ได้ออกโครงการนำร่องการใช้งานสกุลเงินรูปีดิจิทัลซึ่งเป็น CBDC ของอินเดียแล้ว โดยโครงการดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมที่เป็นประชาชนทั่วไป 50,000 รายและร้านค้ากว่า 5,000 แห่งเลยทีเดียว ถ้าหากว่าในอนาคตประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการนำ CBDC ของตนไปใช้สำหรับการทำธุรกรรมการค้าข้ามชาติ ก็อาจเป็นไปได้ว่า จะมีการออกสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวสำหรับสถาบันการเงินและภาคประชาชนเพื่อให้พวกเขานำไปใช้งานด้วย ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อระบบการเงินและธนาคารโลก
นอกจากนี้ ประเทศรัสเซียและอิหร่านก็ให้ความสนใจกับ CBDC เช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลของประเทศเหล่านี้มองว่า CBDC จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติได้ อีกทั้งด้วยความที่ประเทศเหล่านี้ได้รับแรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรอย่างสาหัสและไม่สามารถทำธุรกรรมกับธนาคารข้ามชาติและระบบชำระเงินระหว่างประเทศโดยส่วนใหญ่ได้ จึงทำให้โอกาสในการใช้บล็อกเชนสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินกับต่างประเทศเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจมากกว่าเดิมสำหรับรัฐบาลในประเทศเหล่านี้ด้วย โดย ณ ปัจจุบันนี้ รัฐบาลรัสเซียและอิหร่านกำลังเร่งพัฒนา CBDC ของตนและศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Stablecoin ที่มีทองคำเป็นสินทรัพย์หนุนหลังอย่างขะมักเขม้น
กระนั้นก็ดี ไม่ได้มีเพียงภาครัฐเท่านั้นที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนา CBDC แต่ยังมีบริษัทเอกชนอีกหลายแห่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา CBDC ร่วมกับภาครัฐด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทเอกชนอย่าง Ripple, R3, Bitt Inc. และ IBM ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับ CBDC ของประเทศต่าง ๆ ในโครงการมากกว่า 30 โครงการ ตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานนี้ Ripple ได้ประกาศความร่วมมือกับธนาคารกลางของประเทศมอนเตเนโกรเพื่อพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลประจำชาติ
หากมองในภาพรวม มีความเป็นไปได้ว่า ความคืบหน้าขั้นต่อไปของ CBDC จะขึ้นอยู่กับประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก เนื่องจากประเทศขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังมีความลังเลที่จะออก CBDC ของตัวเองอยู่ กระนั้นก็ตาม ก็ต้องกล่าวย้ำกับท่านผู้อ่านว่า ยังมีประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กบางประเทศที่แหวกแนวเพื่อนด้วยการเริ่มนำ CBDC ของตัวเองมาใช้แล้ว เพราะฉะนั้น ก็ต้องมาติดตามกันต่อไปว่า CBDC จะกลายเป็นนวัตกรรมที่สั่นคลอนระบบการเงินโลกแบบดั้งเดิมได้หรือไม่ในอนาคต