ทุกวันนี้คริปโตกลายเป็นสิ่งที่ยืนหยัดได้อย่างมั่นคงในโลกการเงินไปแล้ว และเรียกได้ว่ากลายมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกแบบแยกกันไม่ออก ซึ่งนักการเงินทั่วโลกก็เห็นร่วมกันแล้วว่ามันถือว่าเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่ “ลงทุน” ได้ และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่หลาย ๆ คนถือคริปโตอยู่ในมือ
ณ ตอนนี้
...เราอยากจะให้ลืมเรื่องพวกนี้ไปให้หมดก่อน และอยากให้ลองมองคริปโตในอีกมิติซึ่งก็คือมิติ “การเมือง”
คริปโตเกี่ยวกับ “การเมือง” ยังไง? ตรงนี้เราไม่ได้พูดถึงภาวะที่รัฐชาติทั่วโลกจ้องจะเล่นงานคริปโตเพราะมันมีส่วนในการคุกคามอธิปไตยทางการเงิน แต่เราอยากจะพูดถึงคนกลุ่มหนึ่งที่ “ศรัทธา” ในคริปโตและคิดว่าคริปโตจะมีส่วนสำคัญในการสร้างโลกใหม่และสังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม
...แต่จะเล่าถึงคนพวกนี้เราก็จะต้องย้อนไปหน่อยเพราะคนพวกนี้มีมาก่อนคริปโต แต่คริปโตคือเครื่องมือที่จะทำให้คนพวกนี้บรรลุเป้าหมาย
ย้อนกลับไปยุค 1980’s พวกเนิร์ดคอมพิวเตอร์บ้าการเข้ารหัสกลุ่มหนึ่งเริ่มเห็นว่าการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตถ้าเรา “เข้ารหัส” มันจะทำให้เราได้ความเป็นส่วนตัวที่แท้จริงมาได้ และพวกนี้ก็เริ่มทำการสื่อสารลับ ๆ ผ่านการเข้ารหัสข้อความในอินเทอร์เน็ตยุคแรก เรียกได้ว่าคนพวกนี้ คือพวกที่บุกเบิกการใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสที่ทุกวันนี้เราใช้กันเป็นปกติแบบไม่รู้ตัวนี่แหละ คนพวกนี้ถูกเรียกกันว่า Cypherpunk ซึ่งคนพวกนี้ก็เชื่อว่าเทคโนโลยีการเข้ารหัสนี้จะนำเราไปสู่บางอย่าง แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร
ในกลุ่ม Cypherpunk มันก็คือพวกหัวเทคโนโลยีทั้งนั้น แต่บางคนก็มี “หัวการเมือง” และมองการณ์ไกลว่า ในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีการเข้ารหัส จะทำให้มนุษย์เราสามารถสื่อสารกัน หรือกระทั่งซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าดิจิทัลกัน โดยที่รัฐบาลไม่สามารถจะควบคุมอะไรได้โดยสิ้นเชิง
และนี่คือเนื้อหาหลักของข้อเขียน The Crypto Anarchist Manifesto ของ Timothy C. May ในปี 1988 และบอกได้เลยว่าถ้าใครได้อ่านก็จะขนลุก เพราะสิ่งที่เขาพูด มันเกิดขึ้นจริงเป๊ะทุกบรรทัดเลย (สนใจไปอ่านได้ที่ https://nakamotoinstitute.org/crypto-anarchist-manifesto/)
ข้อเขียนชิ้นนี้จะบอกว่ามัน “ทำนายการเกิดขึ้นของ Bitcoin” ก่อนที่ Bitcoin จะเกิดขึ้นมา 20 ปีก็ได้ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิด Crypto-Anarchism หรือพูดง่าย ๆ คือมันวางฐานความคิดเลยว่าหาก “คริปโต” เกิดขึ้นในอนาคต มันจะสามารถเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง
ว่าแต่อะไรคือแนวคิดนี้? Crypto-Anarchism แน่นอนก็เป็น Anarchism หรือแนวคิดแบบอนาธิปไตยแบบหนึ่ง แต่แนวคิดนี้ต่างจากอนาธิปไตยดั้งเดิม (เช่น Syndical-Anarchism หรืออนาธิปไตยแบบสหภาพแรงงาน) คือมันจะไม่เชื่ออีกแล้วว่านักอนาธิปไตยมีหน้าที่จะต้องไปโค่นล้มอำนาจรัฐ และสถาปนา “สังคมไร้รัฐ” ที่มีทั้งเสรีภาพและสันติภาพ
Crypto-Anarchism เชื่อมาตั้งแต่ปลาย 1980’s ว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีการเข้ารหัสที่มีความสามารถในการแทรกแซงการทำงานของอำนาจรัฐ ทำให้อำนาจรัฐทำงานไม่ได้ และพื้นที่ตรงนั้นที่อำนาจรัฐย่างกรายไปไม่ถึง “สังคมใหม่” จะเกิดขึ้นได้
แน่นอน การพูดแบบนี้ในปลายทศวรรษที่ 1980’s หรือกระทั่งในทศวรรษ 1990’s มันฟังดูน่าขันสิ้นดี ยุคนั้นไม่ต้องไปพูดถึงระบบการเงินที่ไม่ต้องการรัฐอย่าง Bitcoin หรือกระทั่งพูดถึงการสื่อสารที่รัฐ “ดักฟัง” ไม่ได้หรอก เพราะยุคนั้นคนทั่ว ๆ ไปยังไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ด้วยซ้ำไป แค่จะอธิบายให้คนยุคนั้นที่ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ตว่า ICQ คืออะไรยังเหนื่อยเลย
...ตัดมาที่ปัจจุบัน The Crypto Anarchist Manifesto เหมือนคำทำนายอนาคตที่แม่นยำราวจับวาง คือที่มันบอกว่าจะเกิด มันก็ได้เกิดขึ้นจริงทั้งหมด และทุกวันนี้เราไม่ต้องเถียงกันแล้วว่า แอปที่เข้ารหัสแบบรัฐบาลแอบดูข้อความไม่ได้ ไปจนถึงสกุลเงินที่ไม่มีรัฐบาลไหนควบคุมได้ นั้นจะมีจริงมั้ย เพราะมันมีจริง และมีมาในชีวิตประจำวันคนทั่วไปมาหลายปีแล้วด้วย เพราะแอปสื่อสารทั่ว ๆ ไปก็เข้ารหัสทั้งหมด และถ้าอยากได้รหัสโหด ๆ ก็ไป Telegram หรือ Signal กันไป ส่วนสกุลเงินที่ไม่มีรัฐบาลไหนควบคุมได้ ก็คงไม่ต้องสาธยายให้มันมากความ เพราะเราก็คงรู้จัก Bitcoin ไปจนถึง Ethereum และคริปโตรุ่นต่อ ๆ มากันพอควรอยู่แล้ว
พูดง่าย ๆ ณ ปี 2021 เทคโนโลยีทำให้เรา “สื่อสาร” และ “แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ” กันโดยที่รัฐมองไม่เห็นหรือมีอำนาจในการควบคุมใดได้แล้ว และนี่คือสิ่งที่เหล่า Crypto-Anarchist เฝ้ามาตั้งแต่ปลาย 1980’s
ซึ่งก็ไม่แปลกอีก ที่คนพวกนี้เป็นพวกแรก ๆ ที่เอา Bitcoin มาใช้จริง ๆ พวกนี้จัดงานสัมมนาและใช้สกุลเงิน Bitcoin เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนมาตั้งแต่ Bitcoin แทบไม่มีมูลค่าและโลกยังไม่รู้จัก Bitcoin
คือคนพวกนี้เชื่อจริง ๆ ก่อนใคร ๆ ว่า Bitcoin คืออนาคตของการเงินของมนุษยชาติ เพราะมันแทบจะเป็นการทำธุรกรรมทางการเงินแบบไร้พรมแดนที่รัฐไม่มีทางจะติดตามได้ คนพวกนี้เลยเป็นพวกแรก ๆ ที่เอา Bitcoin มาใช้เป็น “เงิน” จริง ๆ และพอเกิดระบบ สัญญาอัจฉริยะ หรือ Smart Contract ตั้งแต่การเกิด Ethereum ก็ยิ่งสนุกเลย มันพัฒนาอะไรไปได้อีกสารพัด และบางคนก็ถึงกับพยายามจะสร้าง “รัฐเสมือนจริง” ขึ้นมาบนฐานของ “สัญญาอัจฉริยะ” และบล็อกเชน โดยคนที่เชื่อจริง ๆ เขาคิดเลยว่านี่คือจุดสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่อำนาจของรัฐดั้งเดิมจะจบไปและอำนาจแบบใหม่จะเกิดขึ้น
ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า รัฐแบบดั้งเดิม มันอ้างอำนาจจาก “สัญญาประชาคม” มันถือในทางทฤษฎีว่าในอดีต คนมารวมตัวกันทำ “สัญญาประชาคม” เพื่อสร้างรัฐขึ้น รัฐเลยมีอำนาจในการสร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหนือชีวิตคนโดยชอบธรรม
ปัญหาคือ ไม่มีรัฐจริง ๆ ใดในโลกเกิดแบบนี้ รัฐเกิดจากการใช้ความรุนแรงในการบังคับและควบคุมคนให้อยู่ใต้อาณัติทั้งนั้น ไม่มีใครในโลก “เลือก” ที่จะอยู่ในรัฐที่ตัวเองเกิดมา ทุกคนแค่เกิดมาในรัฐและกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ก่อนตัวเอง และต้องปฏิบัติตาม
พวก Crypto-Anarchist ตั้งคำถามว่า แล้วถ้าเรา “เลือก” ได้ล่ะ ว่าจะอยู่ในสังคมแบบไหน? ว่าจะอยู่ใต้กฎเกณฑ์แบบไหน? ซึ่งพวกนี้ก็เริ่ม “ทดลอง” ในการสร้าง “รัฐเสมือนจริง” ขึ้นมาบ้างแล้ว และเทคโนโลยีที่ใช้ก็คือ “สัญญาอัจฉริยะ” นี่แหละ
แน่นอน สำหรับคนทั่วไป อะไรพวกนี้ดูจะ “เพ้อ” มาก เพราะตัวตนจริง ๆ ในโลกวัตถุคุณก็ยังต้องอยู่ในรัฐสักแห่งในโลกอยู่ดี แต่ประเด็นของพวกนี้คือ เขาสร้างระบบที่จะทำให้ “ตัวตนเสมือน” ของคุณสามารถเลือกได้อย่างแท้จริงแล้วว่าจะอยู่ในสังคมแบบไหน และใครอยากอยู่ในสังคมแบบนี้ก็อยู่ไป ทำ “สัญญาอัจฉริยะ” ไปว่าจะอยู่ใต้สังคมนั้น จะทำตามกฎเกณฑ์ของสังคมนั้น และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ๆ และมันถือว่าขบวนการ Crypto-Anarchism นั้นสามารถ “มาไกล” ได้สุด ๆ แล้ว ถ้าเทียบกับขบวนการอนาธิปไตยรุ่นก่อน ๆ ที่มักจะจบลงด้วยความล้มเหลวไม่เป็นท่าและมักจะถูกประวัติศาสตร์หลงลืมไปหมดสิ้นอย่างขมขื่น
แต่ที่โหดกว่านั้น สิ่งที่เหล่า Crypto-Anarchist น่าจะได้เปรียบขบวนการอนาธิปไตยก่อนหน้าก็คือ พวกนี้น่าจะ “รวย” ไม่ใช่เล่น เพราะก็อย่างที่บอก พวกนี้คือพวกที่ถือ Bitcoin ในมือตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2010’s แล้วเป็นอย่างน้อย หรือพูดง่าย ๆ พวกนี้มี Bitcoin อยู่ในมือตั้งแต่ Bitcoin ยังมีมูลค่าไม่กี่ร้อยเหรียญสหรัฐ และคนกลุ่มนี้บางคนจะมีหลาย Bitcoin ก็ไม่แปลกอะไร
ดังนั้น จะบอกก็ได้ว่า “อุดมการณ์ทางการเมือง” นี่แหละทำให้ชาว Crypto-Anarchist นี้ถือ Bitcoin ในมือมาก่อนชาวบ้าน ก็น่าจะทำให้คนพวกนี้กลายเป็นเศรษฐีโดยบังเอิญกันไปหมดแล้ว ณ ตอนนี้ที่ Bitcoin มูลค่าทะลุและยืนอยู่เหนือ 30,000 เหรียญสหรัฐสบาย ๆ แล้ว ซึ่งก็ไม่ต้องพูดถึงว่าทุกคนที่เชื่อมั่นในคริปโตก็คงไม่มีใครคิดว่า Bitcoin และคริปโตโดยรวม ๆ จะไปได้แค่นี้
ดังนั้นเวลาเราพูดถึง Crypto-Anarchist เราไม่ได้พูดถึงเนิร์ดที่รังเกียจรัฐและบ้าการเข้ารหัสเท่านั้น แต่เรากำลังพูดถึงกลุ่มคนที่เกิดใหม่กลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่แค่เห็นว่ารัฐคือสถาบันอันไม่ชอบธรรมที่จะต้องสู้ด้วยเท่านั้น แต่คนพวกนี้ “รวย” ด้วย ไม่ใช่จน ๆ แบบนักอนาธิปไตยในอดีต
คนพวกนี้จะทำอะไรต่อไปไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ ๆ คนในกลุ่มนี้ถ้าลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐมันอลังการงานสร้างแน่ ๆ และจริง ๆ ก็มีคนในกลุ่มนี้ทำแบบนั้นและสะเทือนกระทั่งรัฐบาลอเมริกาไปแล้ว และคนพวกนี้ก็เช่น Julien Assange ผู้ก่อตั้ง WikiLeaks, Bram Cohen ผู้สร้างระบบ BitTorrent, Jacob Appelbaum ผู้สร้าง Tor Browser
คนพวกนี้อยู่ในแวดวง “การเข้ารหัส” เดียวกันทั้งหมดในช่วงต้นยุค 1990’s และมี “ความฝัน” ร่วมกันที่จะเห็นรัฐมีอำนาจน้อยลง และมอบอำนาจการกำหนดความเป็นไปของชีวิตตัวเองให้กับประชาชนในระดับรากหญ้า ซึ่งที่น่าสนใจก็คือ คนพวกนี้ไม่ได้มีแค่นี้ แต่แค่ในยุค 1990’s ก็มีอย่างต่ำ ๆ หลายร้อยคน หรือกระทั่งเป็นหลักพันคน และถ้าจะนับรวมคนที่สมาทานความคิดคนพวกนี้อีกทีก็อาจจะเป็นหมื่นเป็นแสนคน
ไม่มีความชัดเจนว่าคนพวกนี้จะทำอะไรต่อไป พวกเขาไม่ใช่กลุ่มก่อการร้าย พวกเขาแค่ใช้เสรีภาพที่เขามีในรัฐเพื่อการบ่อนทำลายรัฐเอง พวกเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่พวกเขาสร้างพื้นที่ใหม่ที่การพูดถึงอำนาจกฎหมายนั้นมีประโยชน์ โดยทั้งหมดเป็นไปเพื่อเสรีภาพที่มากขึ้นของมนุษยชาติ และตราบที่รัฐยังปิดกั้นเสรีภาพต่อไป ตราบที่คนเหล่านี้ยังมีความฝันต่อไป ตำนานของ Crypto-Anarchism ก็ไม่จบ
...และจริง ๆ แล้ว ความน่าสงสัยอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าประเมินจากความคิดและอุดมการณ์แล้ว เราจะคิดว่า Satoshi Nakamoto ผู้สร้าง Bitcoin นั้นจริง ๆ เป็นหนึ่งในพวก Crypto-Anarchist รุ่นบุกเบิกสักคนก็ไม่ได้แปลกอะไรเลย และถ้าเป็นจริงก็นับว่า Bitcoin คือผลงานชิ้นโบว์แดงทางการเมืองของ Crypto-Anarchism เลยทีเดียว
Ref.
https://www.theguardian.com/technology/2017/jun/04/forget-far-right-populism-crypto-anarchists-are-the-new-masters-internet-politics
https://groups.csail.mit.edu/mac/classes/6.805/articles/crypto/cypherpunks/may-crypto-manifesto.html
https://www.coindesk.com/cypherpunk-crypto-anarchy-and-how-bitcoin-lost-the-narrative
https://en.wikipedia.org/wiki/Crypto-anarchism
https://en.wikipedia.org/wiki/Cypherpunk