หากคุณติดตามข่าวในวงการคริปโตมาอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คุณจะพบว่า รัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นเขตอำนาจที่เป็นมิตรกับคริปโตมาก ๆ โดยทางการของรัฐได้มอบความชัดเจนทางการกำกับดูแลซึ่งมีความสำคัญมากเพื่อเอื้อให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตได้ ทำให้ไม่เพียงแต่เป็นการดึงดูดธุรกิจด้านคริปโตและอินเทอร์เน็ตกระจายศูนย์ Web3 ให้เข้ามาดำเนินงานในรัฐดังกล่าวเท่านั้น แต่ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับคริปโตยังนำเทคโนโลยีอย่างคริปโต, สินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Non-Fungible Token (NFT) และ Metaverse มาใช้ในการดำเนินธุรกิจของตนด้วยเช่นกัน แต่คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า สถานการณ์ของรัฐดังกล่าวในแง่ของการนำคริปโตและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาใช้นั้นเป็นอย่างไรบ้าง มีการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันบ้างหรือไม่ หรือว่าการผลักดันอุตสาหกรรมดังกล่าวของรัฐบาลจะเป็นความพยายามที่เปล่าประโยชน์ หากคุณสงสัย ก็เชิญติดตามบทความต่อไปนี้ได้เลย


รู้หรือไม่ว่า คริปโตสามารถใช้ซื้อของในร้านขายของชำในดูไบได้ด้วย โดยร้านขายของชำดังกล่าวมีชื่อว่า Day to Day เป็นร้านขายของชำที่เป็นที่นิยมและจำหน่ายสินค้าราคาถูกที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ในดูไบ ร้าน Day to Day เริ่มรับชำระเงินด้วยคริปโตในปีที่แล้ว โดยลูกค้าสามารถใช้คริปโตชำระเงินได้ที่สาขาของร้านได้หลายสาขาในดูไบ รวมถึงช่องทางออนไลน์ของร้าน ซึ่งทางร้านก็รับเหรียญคริปโตหลากหลายเหรียญ ไม่ว่าจะเป็น BTC, USDT หรือ ETH อย่างไรก็ตาม บางสาขาก็ไม่รับชำระเงินด้วยคริปโตแม้ว่าจะมีป้ายโฆษณาว่า ทางร้านรับชำระเงินด้วยวิธีดังกล่าวติดอยู่เต็มร้านก็ตาม


นอกจากการนำคริปโตมาใช้ชำระเงินแล้ว เทคโนโลยี Metaverse และ NFT ก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในดูไบเช่นกัน ด้วยความที่มหานครดูไบเป็นเมืองสำหรับคนที่ชื่นชอบของหรูหรา จึงเกิดการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้กับสิ่งของหรูหราซึ่งก็คือ รถหรู นั่นเอง โดยมีโปรเจกต์ชื่อว่า Elchai Group ที่นำรถหรูเข้ามาสู่ชุมชนกระจายศูนย์ผ่านการใช้ NFT ซึ่ง Maria Xenofontos ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของโปรเจกต์ดังกล่าว เผยว่า ผู้ถือ NFT ที่ได้รับสิทธิ์เป็นสมาชิกชมรมรถหรูของทางโปรเจกต์โดยอัตโนมัติยังจะได้รับสิทธิ์เช่ารถหรูของทางโปรเจกต์ไปขับได้อีกด้วย นอกจากนี้ Xenofontos ยังเผยอีกว่า ทางโปรเจกต์ก็กำลังนำชมรมรถหรูของตนเข้าไปอยู่ใน Metaverse โดยจะใช้ Metaverse เป็นที่จัดงานอีเวนต์ส่วนบุคคล คอนเสิร์ต และโชว์รูมรถหรู รวมถึงยังจะมีการสร้างมหานครดูไบจำลองขึ้นมาด้วย


ถึงกระนั้น การนำคริปโตมาใช้งานจริงในดูไบ โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการชำระเงิน ก็ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร โดยนอกจากร้าน Day to Day ที่กล่าวถึงไปข้างต้นแล้ว ก็มีธุรกิจอีกหลายแห่งที่ประกาศรับชำระเงินด้วยคริปโตในปีที่แล้ว แต่ก็ทำอยู่ได้ไม่นาน ตัวอย่างเช่น ร้านอาหารอินเดียชื่อว่า The Bhukkad Cafe ที่ได้ประกาศรับชำระเงินด้วยคริปโตเมื่อวันที่ 3 มีนาคมในปีที่แล้ว แต่ล่าสุดก็รับเพียงแค่บัตรและเงินสด นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารออนไลน์อย่าง Doge Burger ที่มีข่าวเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยทางร้านได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหรียญคริปโตธีมสุนัขอย่าง DOGE และ SHIB อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวด้านคริปโตอย่าง Cointelegraph เคยสั่งอาหารจากทางร้านแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับอาหาร ยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุด ทางร้านยังได้ปิดเว็บไซต์ของตนไปแล้วด้วย 


นอกจากธุรกิจร้านอาหารแล้ว ก็มีสถาบันการศึกษาที่ได้ลองรับชำระค่าเล่าเรียนด้วยคริปโตอีกด้วย โดยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัย Canadian University Dubai (CUD) ได้ประกาศรับชำระค่าเรียนด้วยคริปโต โดยเป็นการร่วมมือกับ Binance Pay แต่ผ่านไปไม่ถึง 24 ชั่วโมง ทางมหาวิทยาลัยก็ประกาศยกเลิกแผนการดังกล่าวไปโดยให้เหตุผลว่าเกิดปัญหาทางเทคนิค


จะเห็นได้ว่า ธุรกิจและร้านค้าต่าง ๆ ในดูไบยังคงไม่ประสบความสำเร็จในการนำคริปโตมาใช้งาน แต่อุตสาหกรรมคริปโตในรัฐดังกล่าวก็ยังคงมีลมหายใจ โดย Saqr Ereiqat ผู้ร่วมก่อตั้งของบริษัทด้านคริปโตในดูไบอย่าง Crypto Oasis ก็กล่าวว่า แรงงานมีฝีมือจากทั่วโลกกำลังเดินทางมายังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อมาทำงานในสายคริปโต ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดี โดยเป็นไปได้ว่า ในอนาคต รัฐดูไบและประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อาจจะมีการนำคริปโตและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องไปใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น