เหตุการณ์การล่มสลายของแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตในช่วงที่ผ่านมาทำให้เราเห็นแล้วว่า แพลตฟอร์มเหล่านั้นไม่ปลอดภัยเท่ากับสถาบันการเงินที่ได้รับการกำกับดูแล ซึ่งการฝากสินทรัพย์ไว้กับแพลตฟอร์มเหล่านี้ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่พอสมควร เนื่องจากหากเกิดเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มแห่กันมาถอนสินทรัพย์ออกจากแพลตฟอร์มในเวลาพร้อม ๆ กัน ทางแพลตฟอร์มก็อาจประกาศระงับการถอนสินทรัพย์ไปดื้อ ๆ ปล่อยให้ผู้ใช้เคว้งคว้าง เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเข้าถึงสินทรัพย์ของตนได้หรือไม่ ถ้าได้แล้วจะเข้าถึงได้เมื่อไร ด้วยเหตุนี้ บทความนี้จึงจะพาคุณไปรู้จักกับเหตุการณ์การแห่ถอนสินทรัพย์ออกจากแพลตฟอร์มคริปโต รวมถึงพาไปเรียนรู้วิธีการป้องกันตัวเองจากผลกระทบของเหตุการณ์ทำนองนี้กัน

การแห่ถอนเงิน (Bank Run) คืออะไร

ก่อนจะพาคุณไปรู้จักกับการแห่ถอนสินทรัพย์ออกจากแพลตฟอร์มคริปโต เราขอพาคุณไปรู้จักกับการแห่ถอนเงิน (Bank Run) ในโลกการเงินดั้งเดิมก่อน เนื่องจากการแห่ถอนสินทรัพย์ทั้งในโลกคริปโตและโลกการเงินดั้งเดิมนั้นต่างมีคอนเซปต์เดียวกัน

เมื่อคุณเปิดบัญชีธนาคารของคุณ แล้วพบว่า บัญชีของคุณมีเงิน 100 บาท นั่นหมายความว่า ทางธนาคารมีเงิน 100 บาทกันรอไว้ให้คุณถอนนำไปใช้ใช่หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่ เนื่องจากธนาคารได้นำเงิน 100 บาทที่คุณฝากเข้าธนาคารไปใช้แสวงหาผลกำไรด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้ การลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ หรือการลงทุนอื่น ๆ โดยทางธนาคารจะเก็บเงินสดในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการถอนเงินของผู้ถือบัญชีธนาคารในแต่ละวันเพียงเท่านั้น ซึ่งทางธนาคารรู้ดีว่า ผู้ถือบัญชีธนาคารเหล่านั้นจะถอนเงินออกมาใช้เพียงเล็กน้อยจากจำนวนเงินที่ตนฝากเข้าธนาคาร

อย่างไรก็ดี หากมีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับธนาคารดังกล่าวแพร่กระจายไปทั่ว เช่น การที่ธนาคารลงทุนผิดพลาดจนเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก ผู้ถือบัญชีธนาคารดังกล่าวก็จะตื่นกลัวว่าเงินของตนที่ฝากไว้ในธนาคารนั้นจะหายไปด้วย พวกเขาจึงรีบพากันไปถอนเงินของตนออกจากธนาคารดังกล่าวพร้อม ๆ กัน ซึ่งแน่นอนว่า ทางธนาคารก็ไม่มีเงินพอให้พวกเขาถอนได้ทั้งหมด ทางธนาคารจึงปิดประตูใส่หน้าพวกเขาด้วยการระงับถอนเงิน และนั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า การแห่ถอนเงิน

ทั้งนี้ เหตุการณ์การแห่ถอนเงินเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วในโลกการเงินดั้งเดิม ปัจจุบันจึงมีมาตรการและหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น รวมถึงมีการเยียวยาในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง ๆ โดยในหลายประเทศก็มีสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ซึ่งสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ผู้ฝากเงินแต่ละรายจะได้รับวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อ 1 สถาบันการเงิน

การแห่ถอนสินทรัพย์ในโลกคริปโตคืออะไร

การแห่ถอนสินทรัพย์ออกจากแพลตฟอร์มคริปโต (Crypto Exchange Run) นั้นแทบจะไม่แตกต่างอะไรกับการแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร โดยแพลตฟอร์มคริปโตหลายรายในปัจจุบันก็มีบริการกู้ยืมเช่นเดียวกับธนาคาร โดยทางแพลตฟอร์มจะนำสินทรัพย์ที่ลูกค้าฝากเข้ามาไปแสวงหาผลกำไรโดยการนำสินทรัพย์ไปปล่อยกู้หรือลงทุนต่อ ซึ่งพอเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความกังวลให้กับลูกค้าจนพวกเขาแห่กันมาถอนเงินสดและคริปโตออกจากแพลตฟอร์ม ทางแพลตฟอร์มก็จะไม่มีเงินสดหรือคริปโตพอให้ถอน จึงต้องระงับการถอนไป 

ซึ่งข้อแตกต่างระหว่างการแห่ถอนสินทรัพย์ในโลกคริปโตและโลกการเงินดั้งเดิมก็คือ ด้วยความที่ตลาดคริปโตนั้นเป็นตลาดเกิดใหม่ จึงยังไม่มีหน่วยงานหรือมาตรการใด ๆ ที่จัดการกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยเมื่อการการระงับถอนสินทรัพย์ออกจากแพลตฟอร์มคริปโตเกิดขึ้น ผู้ที่เข้ามาสะสางเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นผู้จัดการดูแลสินทรัพย์ในคดีล้มละลายที่จะเข้ามาแจกจ่ายสินทรัพย์ที่ทางแพลตฟอร์มเหลืออยู่ให้กับเจ้าหนี้ โดยอาจใช้เวลาหลายเดือนหรืออาจเป็นปี ซึ่งในบางกรณี เจ้าหนี้ก็จะได้สินทรัพย์คืนบางส่วน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้อะไรคืนเลย หรือถ้าได้ก็อาจจะต้องใช้เวลานานมาก ๆ

วิธีป้องกันตัวในกรณีที่เกิดการแห่ถอนสินทรัพย์

ในทางทฤษฎี การป้องกันตัวไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการแห่ถอนสินทรัพย์นั้นไม่ใช่เรื่องยาก โดยมีหลักการง่าย ๆ คือ อย่าฝากสินทรัพย์กับสถาบันการเงินหรือแพลตฟอร์มคริปโตที่สามารถนำสินทรัพย์ของเราไปใช้ในทางที่ผิดพลาดจนทำให้สินทรัพย์เหล่านั้นสูญหายไปได้ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ เราไม่อาจทราบได้ว่า สถาบันการเงินหรือแพลตฟอร์มคริปโตแห่งใดจะนำสินทรัพย์ของเราไปใช้ในทางที่ผิดบ้าง ดังนั้น เราจึงอาจสันนิษฐานไว้ก่อนได้เลยว่า สถาบันการเงินและแพลตฟอร์มคริปโตทุกแห่งมีสิทธิ์ทำแบบนั้นได้ โดยผู้ฝากสินทรัพย์ก็อาจลดความเสี่ยงได้โดยการกระจายสินทรัพย์ไปฝากไว้กับสถาบันหรือแพลตฟอร์มหลาย ๆ แห่ง หรือในกรณีของคริปโต ผู้ฝากอาจเลือกที่จะเก็บคริปโตของตนในกระเป๋าเงินแบบที่ไม่มีตัวกลางมาดูแลให้ (Self-Custodial Wallet) ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ถ้าหากเป็นแพลตฟอร์มคริปโตที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของประเทศไทย ถือว่าแพลตฟอร์มนั้น ๆ มีความปลอดภัยอยู่พอสมตวร เนื่องจากทาง ก.ล.ต. จะกำหนดให้แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตนสามารถเก็บรักษาสินทรัพย์ของลูกค้าได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยจะไม่สามารถเข้าถึงหรือโอนสินทรัพย์ดังกล่าวไปที่อื่นได้ ยกเว้นจะได้รับการอนุญาตจากลูกค้าเป็นรายครั้ง ดังนั้น ลูกค้าที่ฝากสินทรัพย์คริปโตไว้กับแพลตฟอร์มคริปโตที่มีใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ก็สามารถสบายใจได้ในระดับหนึ่งว่าจะยังสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ของตนได้แม้เกิดเหตุการณ์การแห่ถอนสินทรัพย์ออกจากแพลตฟอร์ม