ในโลกของการลงทุน การจะได้ “กำไร” หลักการง่าย ๆ ก็เพียงแค่ “ซื้อถูก ขายแพง” ให้ได้เท่านั้น ฟังดูแล้วมันเหมือนง่าย แต่ในความเป็นจริงมันไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ แบบนั้น มันมีเทคนิคอะไรหลายอย่างที่จะใช้เพื่อให้ “ได้กำไร” เต็มไปหมด ซึ่งเทคนิคพวกนี้ก็จะมีทฤษฎีสนับสนุนอยู่ด้วย
แต่วันนี้เราจะลองมาอธิบายทฤษฎี หรือสมมติฐานที่ถือว่าเบสิกที่สุดอันหนึ่ง ซึ่งก็คือ Efficient Market Hypothesis หรือ EMH
มันคืออะไร? อธิบายง่าย ๆ มันคือทฤษฎีที่ว่าคุณไม่มีทางที่จะเอา “ชนะตลาด” ได้ เพราะราคาในตลาด (โดยเฉพาะตลาดหุ้น) มันสะท้อนทุกอย่างออกมาหมดแล้ว หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ราคามันไม่ได้ “ต่ำกว่าความเป็นจริง” ให้คุณช้อนซื้อ หรือ “สูงกว่าความเป็นจริง” ให้คุณชอร์ตได้
พูดแบบนี้อาจงง แต่ถ้าจะให้ตรงกว่านั้น ทฤษฎีนี้ มันไม่เชื่อว่า คุณจะใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อดูทิศทางราคาได้ และมันก็ไม่เชื่อว่าคุณจะใช้การวิเคราะห์พื้นฐานแบบดูงบดุลแล้วจะสามารถระบุได้ว่า หุ้นตัวไหนราคาตลาดต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และเราควรจะซื้อ เพราะคิดว่าอีกสักพักราคามันจะขึ้น
แต่ทฤษฎีนี้มันจะบอกว่า ถึงคุณจะเอา “ชนะตลาด” ได้บ้างในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจริง ๆ คุณไม่มีทางจะชนะตลาดได้เลย เพราะตลาดมันจะปรับตัวเข้าสู่ราคาที่ควรจะเป็นเสมอ ถ้ามีผู้ซื้อขายจำนวนมาก และทุกคนเข้าถึงข้อมูลทั้งหมด ซึ่งจริง ๆ นี่คือคำอธิบายว่าตลาดมันมีลักษณะ “ตลาดแข่งขันสมบูรณ์” แบบเศรษฐศาสตร์เลย และตลาดแบบนี้ราคาตลาดมันจะเป็นราคาที่สะท้อนปัจจัย “ทุกอย่าง” ออกมาจริง ๆ
การศึกษาวิจัยจำนวนมาก ชี้ว่าบรรดาผู้จัดการกองทุนทั้งหลาย มีจำนวนไม่ถึง 1 ใน 4 ที่จะสามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว หรือพูดอีกแบบ ยิ่งระยะตลาดยาวขึ้น คนยิ่งชนะตลาดได้ยากขึ้น
เมื่อคิดแบบนี้ การ “พยายามเอาชนะตลาด” ในฐานะเทรดเดอร์จึงเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์
แต่การทำตัว “เป็นตลาด” เสียเอง นั่นต่างหากจึงจะเป็นวิธีการลงทุนที่ดีที่สุด ดังนั้นคนที่เชื่อแบบนี้ ก็จะเชื่อการลงทุนในกองทุนดัชนีตลาดที่ค่าธรรมเนียมต่ำ และลงทุนกันแบบระยะยาว
แน่นอน แนวคิดแบบนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากจากทั้ง “สายพื้นฐาน” และ “สายเทคนิค” เพราะมันปฏิเสธเทคนิคในการลงทุนต่าง ๆ ทั้งหมด หรือพูดง่าย ๆ คือเหมือนมันบอกให้เราเอาตำราไปเผาทิ้งให้หมด เพราะคุณไม่มีทางจะชนะตลาดได้
และแน่นอนคนที่ต่อต้าน EMH ก็จะยกตัวอย่างนักลงทุนสายพื้นฐาน ตั้งแต่ Warren Buffett ยันไปถึงผู้จัดการกองทุนเก่ง ๆ ที่สามารถ “เอาชนะตลาด” ได้ ซึ่งก็จริงที่พวกนี้เอาชนะตลาดได้
แต่คำถามจากฝั่งสนับสนุน EMH ก็คือ ยิ่งระยะยาวขึ้น คนที่จะชนะตลาดได้ก็ยิ่งเหลือน้อยลงไม่ใช่หรือ? ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องจริง และ “ปัญหา” ของนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ไม่เชื่อ EMH คือ พวกเขานึกว่าตัวเองเป็น Warren Buffett กันไปเสียหมดหรือเปล่า?
อย่างไรก็ดี ประเด็นของการลงทุนที่เป็นพื้นฐานที่ควรให้ความสนใจที่สุด คือเรื่องของ “กรอบเวลา”
ไม่ว่าจะเป็นสายเทคนิค หรือสายพื้นฐาน ต่างก็ต้องใช้ความเชื่อของตัวเองตาม “กรอบเวลา” ที่แตกต่างกันไป
การวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้น แน่นอนว่ามันเหมาะกับกรอบเวลาแบบ “ระยะสั้น” คือ ยิ่งสั้นยิ่งเวิร์ก
ส่วนการวิเคราะห์พื้นฐานอาจเหมาะกับกรอบเวลา “ระยะกลาง” ที่ตลาดยังปรับตัวไม่ทัน
ส่วนเทคนิคการ “เป็นตลาด” เสียเอง หรือลงทุนตามกองทุนดัชนีก็อาจเหมาะสมกับ “ระยะยาว” แบบยาวสุด ๆ
ซึ่งถ้าถามว่ายาวแค่ไหน? ถ้าพูดแบบคนไม่เชื่อใน EMH แล้วก็คือ มันก็น่าจะยาวนานจนไม่มีใครอยู่รับชัยชนะเหนือตลาดได้แล้ว เพราะสุดท้ายถ้าจะพูดว่าในระยะยาวจริง ๆ ทุกคนจะแพ้ตลาด พูดยังไงมันก็ถูก และมันก็จริงเช่นกันที่ในระยะที่ไม่ได้ยาวขนาดนั้น มันก็มีคนที่ “ชนะตลาด” ด้วยเทคนิคต่าง ๆ โผล่มาให้เห็นเสมอ
Ref.
https://www.investopedia.com/terms/e/efficientmarkethypothesis.asp