ย้อนไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา Changpeng Zhao (CZ) ท่านผู้บริหารสูงสุดของ Binance แพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตอันดับ 1 ของโลก กล่าวว่า บริษัทของตนจะเทขายสินทรัพย์ FTX Token

(FTT) ซึ่งเป็นโทเคนประจำแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตที่เคยใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกอย่าง FTX อันทำให้นักลงทุนตื่นกระเจิง จึงแห่เทขายเหรียญดังกล่าวจน FTX ประสบปัญหาสภาพคล่องและได้ยื่นล้มละลายไปในที่สุด ว่ากันว่า บริษัทในเครือของ FTX อย่าง Alameda Research กำลังใช้ FTT เป็นหลักประกันเงินกู้อยู่ ซึ่งบางคนก็มองว่า โทเคนประเภทนี้ดังกล่าวไม่มีมูลค่าอย่างแท้จริง และการพึ่งพาโทเคนพวกนี้มากเกินไปจึงนำไปสู่จุดจบของ FTX นั่นเอง ดังนั้น วันนี้เราจะมาดูกันว่า เหรียญคริปโตประจำแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตมันคืออะไร และทำงานอย่างไร


โทเคนประจำแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตคืออะไร?

โทเคนประจำแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโต (Exchange Token) เป็นสกุลเงินคริปโตที่ใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตแบบรวมศูนย์ (Centralized Exchange: CEX) และออกโดยบริษัทผู้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตประเภทนี้ ซึ่งโทเคนประเภทนี้มักจะถูกจัดให้อยู่ในหมวด "Utility Token" หรือโทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์เนื่องจากมีการใช้งานบนแพลตฟอร์ม ตัวอย่างของโทเคนประจำแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตชื่อดังคือ BNB ของ Binance ซึ่งเป็น Exchange Token ที่มีมูลค่ารวมตามราคาตลาดมากที่สุด และโทเคน FTT ของ FTX 

ทั้งนี้ โทเคนประจำแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตนั้นมักจะหมายถึงสกุลเงินคริปโตที่มีความผันผวนของแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโต ส่วนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Stablecoin ที่ออกโดยแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตนั้นจะไม่ถือเป็นโทเคนประจำแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตแต่อย่างใด เช่น BUSD Binance USD (BUSD) ของ Binance เป็น Stablecoin ไม่ใช่โทเคนประจำแพลตฟอร์ม


โทเคนประเภทนี้ทำงานอย่างไร?

โทเคนประจำแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตทำงานเหมือนกับสกุลเงินคริปโตทั่วไป โดยผู้ใช้สามารถซื้อขายโทเคนพวกนี้ได้ในตลาดรอง หรือถือไว้เก็งกำไรก็ได้ นอกจากนี้ โทเคนประจำแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตก็ไม่เหมือนกับหุ้นในบริษัท และส่วนใหญ่ไม่ได้มอบสิทธิ์ในการบริหารแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตให้กับผู้ใช้แต่อย่างใด ถึงกระนั้น ตลาดโทเคนประจำแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตก็มีลักษณะคล้ายกับตลาดหุ้นอยู่บ้าง เนื่องจากราคาโทเคนขับเคลื่อนด้วยความเชื่อที่ว่า แพลตฟอร์มที่ออกโทเคนจะประสบความสำเร็จในอนาคต ทำให้โทเคนประเภทนี้ดูมีราคาขึ้นมา กล่าวง่าย ๆ คือ ยิ่งคนเชื่อว่าในอนาคตจะมีกิจกรรมบนแพลตฟอร์มมากขึ้นเท่าไร โทเคนประจำแพลตฟอร์มก็จะมีความต้องการซื้อสูงขึ้น

ประโยชน์หลัก ๆ ของการใช้โทเคนประจำแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตสำหรับผู้ซื้อขายสกุลเงินคริปโตก็คือ การลดค่าธรรมเนียมซื้อขาย ตัวอย่างเช่น ผู้ถือเหรียญ WazirX (WRX) จะมีสิทธิ์รับส่วนลดมากถึง 50% เมื่อจ่ายค่าธรรมเนียมเป็น WRX ขณะที่ FTX จะมอบส่วนลด 3% ให้กับผู้ที่ถือ FTT มูลค่ามากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อพวกเขาซื้อขายบนแพลตฟอร์มดังกล่าว


ซื้อโทเคนเหล่านี้ได้ที่ไหน?

โดยทั่วไปแล้ว คุณสามารถซื้อโทเคนประจำแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตได้โดยตรงจากแพลตฟอร์มที่ออกเหรียญนั้น ๆ เลย นอกจากนี้ แพลตฟอร์มเองก็มักจะจ่ายโทเคนให้กับคุณเพื่อเป็นรางวัลจากการทำกิจกรรมบนแพลตฟอร์ม หรือจากการซื้อขายเหรียญบางเหรียญบนแพลตฟอร์ม ยิ่งไปกว่านั้น แพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตบางแพลตฟอร์มยังจ่ายโทเคนของตัวเองให้กับผู้ใช้เพื่อเป็นการเปิดตัวเข้าสู่ตลาดด้วย


ความเสี่ยง

ความเสี่ยงจากโทเคนประจำแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตอาจจะเกิดจากสถานการณ์ที่เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือกรณีของ FTT เหรียญประจำแพลตฟอร์ม FTX ซึ่งหลังจากที่ Binance ประกาศว่าจะเทขาย FTT ที่บริษัทถืออยู่ทั้งหมด มูลค่าของโทเคนดังกล่าวก็ดิ่งนรก นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการผิดสัญญาของผู้ออกโทเคนด้วย เราแทบจะไม่มีโอกาสได้รู้ได้เลยว่า สินทรัพย์ประเภทนี้มีสินทรัพย์อื่นหรือกองทุนหนุนหลังอยู่ไหม หากเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย FTX หรือคนแห่เข้ามาถอนเงินจนแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตขาดสภาพคล่อง ผู้ใช้ก็มีโอกาสที่จะโดนลอยแพได้ สินทรัพย์ที่ผู้ใช้เอาไปลงทุนกับโทเคนเหล่านี้ก็จะสูญเปล่า