ในโลกของการเทรด หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่าการ “เทรดด้วยบอท” มาบ้าง เอาจริง ๆ การเทรดด้วยบอทมันทำได้หลากหลาย แต่รูปแบบส่วนใหญ่ของการเทรดแบบนี้มันคือการเทรดที่เรียกว่า การเทรดความถี่สูง หรือ High-Frequency Trading ซึ่งเราก็จะเรียกย่อ ๆ ตามมาตรฐานว่า HFT
HFT คืออะไร? อธิบายง่าย ๆ คือการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการเทรดที่จะทำให้เกิดการซื้อขายที่เร็วในระดับไมโครวินาที ซึ่งเร็วกว่ามนุษย์จะรับรู้ได้แน่ ๆ และเป้าหมายของการทำ HFT คือการทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงราคาระดับเล็กน้อย หรือพูดง่าย ๆ คือกำไรสัก 0.01% ก็เอา เพราะทำได้ติดกัน 1,000 ทีก็จะได้กำไร 10% เป็นต้น ซึ่งการทำแบบนี้มนุษย์ทำไม่ได้แน่ ๆ เพราะการเทรดแต่ละครั้งมันต้องใช้สมองและสมาธิเยอะมาก
เทคโนโลยีแบบนี้เริ่มใช้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 และมาใช้หนัก ๆ หลังปี 2008 เพราะมันมีการสนับสนุนให้เพิ่ม “สภาพคล่อง” ในตลาดหุ้นด้วยการเพิ่มผู้เล่นแบบ HFT
ตรงนี้อาจงงว่าทำไมมันเป็นอย่างนั้น ถ้าจะให้อธิบายก็คือ นักเทรด (จริง ๆ คือบอท) ที่ทำ HFT มันจะเพิ่มปริมาณการซื้อขายในตลาด โดยมันจะซื้อและขายในราคาที่มนุษย์ปกติไม่ซื้อ และการทำแบบนี้ในทางการเงินเขาเรียกว่าเป็น Market Maker หรือก็คือผู้ซื้อยอมที่ราคาเสนอซื้อ และผู้ขายที่ราคาเสนอขาย และทำให้ส่วนต่างของราคาเสนอซื้อละขายแคบลง ทำให้ตลาดทำงานคล่องขึ้น
หลายคนอาจจะรู้สึกงง เดี๋ยวเราจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายขึ้น
สมมติว่าในตลาดซื้อขายหุ้นตัวหนึ่ง คนเสนอซื้อที่ 99 เหรียญ แต่คนเสนอขายที่ 100 เหรียญ ถ้าเป็นแบบนี้มันจะไม่เกิดการซื้อขายขึ้น ซึ่งพวก HFT นี่แหละจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดการซื้อขายขึ้น
แล้วมันยังไง สมมติง่ายๆ ว่า บอท HFT มองว่าราคาสินทรัพย์มันจะขึ้น สิ่งที่มันทำก็คือทำการซื้อที่ 100 เหรียญ หรือซื้อแพงกว่าที่คนซื้อในตลาด และทำการซื้อที่ 100.01 เหรียญ 100.02 เหรียญ 100.03 เหรียญ 100.04 เหรียญ อะไรก็ว่าไป ผลคือมันจะเปลี่ยนบรรยากาศให้คนเสนอซื้อในราคาสูงขึ้น และแม้เพียงแวบเดียวสมมติว่า มีคนพรวดเสนอซื้อที่ 100.05 เหรียญ สิ่งที่บอท HFT ทำคือเอาที่ทยอยซื้อมาทั้งหมด ขายไปและทำกำไร และมันทำได้เร็วกว่ามนุษย์แน่ ๆ พูดง่าย ๆ คือถ้ามันเล็งราคานี้เอาไว้ มันขายได้เร็วกว่ามนุษย์คนใดจะคลิกเมาส์หรือกระทั่งตัดสินใจด้วย
กระบวนการที่ว่าทั้งหมดอาจเกิดขึ้นภายในเสี้ยววินาที เพราะในบางครั้งมันคือการที่บอทคนละเจ้าที่มีกลยุทธ์ต่างกันเทรดกันเอง แต่ผลรวม ๆ คือคนทั่วไปที่จะซื้อขายในตลาดก็ซื้อขายได้ และตลาดก็มี Volume ซื้อขายให้ใจชื้น คนในตลาดก็จะเห็นว่ามันมีสภาพคล่อง
ซึ่งเทคนิคนี้ก็เป็นตัวอย่างง่าย ๆ ว่าการ HFT ทำกำไรได้ยังไง จริง ๆ เทคนิคมันมีอีกเพียบ และเรียกว่าเป็นเทคนิคเฉพาะของการเทรดระดับเสี้ยววินาทีด้วยคอมพิวเตอร์จริง ๆ มันไม่ใช่เทคนิคที่มนุษย์เลียนแบบได้
และถามว่ามันทำกำไรได้จริงไหม รวม ๆ ก็ย่อมต้องได้อยู่แล้ว ไม่งั้นบริษัทพวกนี้คงเจ๊งไปหมดแล้ว แต่มันก็มีได้มีเสียตามกลยุทธ์การเทรดปกตินี่แหละ เพราะถ้าอยู่ดี ๆ ราคาสินทรัพย์ตกพรวดและตกไปเรื่อย ๆ มันไม่มีทางที่จะไม่มีใครไม่เจ็บอยู่แล้ว แต่รวม ๆ คือเทคนิคแบบนี้มันก็ทำกำไรให้คนที่ใช้ได้
ฝ่ายตลาดซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงินก็มีแฮปปี้กับการที่มีคนใช้บอทเทรดอยู่แล้ว เพราะเป็นส่วนในการเพิ่มสภาพคล่องในตลาด และปริมาณการเทรดอย่างมหาศาลของ HFT มันยังทำให้กระดานเทรดมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมอีกเพียบด้วย
อย่างไรก็ดี HFT ก็ไม่ใช่สิ่งที่ไร้คำวิจารณ์ เพราะหลัก ๆ คือเนื่องจากมันเทรดด้วย “บอท” บางทีมันก็ตอบสนองกับความ “ไร้เหตุผล” ของตลาด ซึ่งเหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดคือเหตุการณ์ Flash Crash ในปี 2010 ที่ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ตกไป 10% อย่างรวดเร็วในเวลาราว 15 นาที ก่อนจะขึ้นมาเป็นปกติ ซึ่งผลจากการสืบสวนก็พบว่ามันเกิดจากบอท HFT และคนที่ทำก็โดนคดีไปในปี 2015 ในที่สุด
ซึ่งเหตุการณ์พวกนี้ก็เกิดขึ้นเรื่อย ๆ เรียกได้ว่ามีการไต่สวนบ้าง ไม่มีบ้าง แต่ระดับที่ราคาสินทรัพย์ร่วงเร็วมาก ๆ แบบร่วงกว่า 10% ในครึ่งชั่วโมงแบบไม่มี “ปัจจัยพื้นฐาน” มาอธิบาย แล้วสักพักก็ขึ้นมาปกติ ส่วนใหญ่เขาก็จะโทษบอท HFT กันอย่างไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะมันก็น่าจะเป็นแบบนั้นแหละครับ
และจริง ๆ ก็คงไม่ต้องอธิบายกันมากอยู่แล้วสำหรับคนในตลาดคริปโต เพราะเราก็คงจะเห็นอะไรแบบนี้เป็นประจำกับพวก “เหรียญเล็ก ๆ” ซึ่งก็ว่ากันว่าแทบจะเป็นสนามเด็กเล่นของพวกบอท HFT เลยก็ว่าได้
Ref.
https://www.investopedia.com/terms/h/high-frequency-trading.asp
https://en.wikipedia.org/wiki/High-frequency_trading
https://en.wikipedia.org/wiki/Flash_crash