หลายคนเวลาพูดถึงยุค 1980s ก็อาจนึกถึงดนตรี แต่ในทางการเงินภาพของยุค 1980s เป็นอีกแบบอย่างสิ้นเชิงเพราะยุคนี้สิ่งที่เป็นตำนานทางการเงินก็คือ ในสหรัฐอเมริกาอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ระดับขึ้นไปถึงเกือบ 20% ในช่วงพีค ๆ และก็ส่งผลทางเศรษฐกิจมากมาย

เราอาจคิดว่านี่ไกลตัว แต่ถ้าเราเห็นท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐในปัจจุบันที่พยายามขึ้นดอกเบี้ยไม่หยุดเราก็จะเห็นว่าอะไรคล้าย ๆ กับยุค 1980s กำลังเกิดขึ้นกับเราในยุคนี้ และนี่ก็เลยทำให้เราอาจได้เรียนรู้บทเรียนจากยุค 1980s เพื่อเอามาใช้

อาจต้องเริ่มก่อนว่าทำไมธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาถึงขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งคำตอบสั้น ๆ คือ ต้องการจะยุติภาวะเงินเฟ้อที่เป็นมาต่อเนื่องตลอดช่วงทศวรรษ 1970

ซึ่งถามว่าทำไมเงินถึงเฟ้อ? ก็คงต้องอธิบายสั้น ๆ ว่า ในปี 1973 ชาติอาหรับมีการคว่ำบาตรน้ำมันต่อชาติที่สนับสนุนสงครามของอิสราเอล ราคาน้ำมันก็ขึ้นทั่วโลก ซึ่งตามสเตปก็ทำให้เงินเฟ้อเพราะต้นทุนด้านพลังงานที่ขึ้น ทำให้ต้นทุนขนส่งมากขึ้นและทุกอย่างก็ราคาขึ้นหมด แล้วพอปี 1979 มีเหตุการณ์ปฏิวัติอิหร่าน อิหร่านหยุดส่งออกน้ำมัน ก็ทำให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งพรวดเป็นเท่าตัวมันเลยทำให้เงินเฟ้อหนักขึ้นไปอีกระดับ

ทั้งหมดนี้ทำให้ภาวะเกิดเฟ้อเกิดขึ้นตลอดทศวรรษ 1970 อย่างต่อเนื่อง นี่ทำให้พวกชาติที่ไม่ได้ผลิตน้ำมันมีประสบการณ์คล้าย ๆ กันคือสินค้าต่าง ๆ แพงขึ้นหมด กำลังซื้อหดหาย เศรษฐกิจชะงัก และเป็นภาวะที่ในฐานเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Stagflation คือเงินเฟ้อไปเรื่อย ๆ แต่เศรษฐกิจไม่โต

“ฮีโร่” ผู้เข้ามาแก้ไขสถานการณ์นี้ที่กลายมาเป็น “ตำนาน” จนถึงปัจจุบันคือ ผู้ว่าแบงก์ชาติอเมริกาคนใหม่อย่าง Paul Volcker ที่เข้ารับตำแหน่งในปี 1979 แล้วก็ไม่รีรอทำในสิ่งที่ไม่มีผู้ว่าแบงก์ชาติคนไหนในโลกทำมาก่อน คือการขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ แบบ “วัดใจ” ว่า ถ้าเงินเฟ้อไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ดอกเบี้ยก็จะขึ้นไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีลิมิตใด ๆ ทั้งนั้น

ซึ่งความ “บ้า” ของ Volcker ก็เป็นตำนานมากที่ขึ้นดอกเบี้ยไปเกือบ 20% ในปี 1980 ซึ่งพอเงินเฟ้อลด ไม่ถึงครึ่งปีดอกเบี้ยก็ลดมาเหลือราว 10% และพอเงินเฟ้อกลับมา ก็ขึ้นดอกเบี้ยไปสูงอีก วนไปมาเรื่อย ๆ

ทั้งหมดมันแค่ดูเป็นตัวเลขก็คงดูเถื่อนแล้ว แต่ข้อเท็จจริงคือก่อนหน้านี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอเมริกาไม่เคยเกิน 10% มาก่อน และสิ่งที่ Volcker ทำก็เรียกได้ว่าเป็นการทำแบบเถรตรงตามตำราเศรษฐศาสตร์ที่ว่าขึ้นดอกเบี้ยไปเยอะ ๆ ยังไงเงินเฟ้อก็จะหมด และเขาก็ขึ้นดอกเบี้ยไปในระดับที่ไม่มีใครในโลกจินตนาการถึง

ซึ่งพูดง่าย ๆ เขาขึ้นดอกเบี้ยไปจนมันอยู่ระดับสูงกว่าเงินเฟ้อ ดังนั้นเงินเฟ้อจะไม่หยุดก็ให้มันรู้ไป และเงินเฟ้อก็หยุดจริง ๆ ในช่วงต้น 1980s อย่างรวดเร็ว

การขึ้นดอกเบี้ยระดับนั้นทำให้เกิดอะไรขึ้น? คำตอบเร็ว ๆ คือ สิ่งที่ทุกฝ่ายเตือนไปจนถึงด่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาเหมือนกับตอนนี้นั่นแหละ เพราะมันทำให้ตลาดหุ้นร่วงเละเทะ คนย้ายเงินมาพันธบัตรที่ดอกเบี้ยกันสูงหมด ทำให้ภาคธุรกิจหยุดนิ่งเพราะดอกเบี้ยมันสูงเกินกว่าจะกู้เงินมาขยายธุรกิจแล้วคุ้ม ทำให้ธุรกิจเจ๊งเพราะคนที่เป็นหนี้อยู่มาเจออัตราดอกเบี้ยใหม่ไปแค่จ่ายดอกเบี้ยก็ตายแล้ว และผลคือทำให้คนตกงานกระจุยกระจายตามมา

แต่นั่นก็คือช่วงสั้น ๆ ตอนต้น 1980s เท่านั้น แต่ดูยาว ๆ ก็จะเห็นเลยว่าเศรษฐกิจช่วง 1980s รุ่งเรืองมาก ๆ ทั้งภาคธุรกิจและตลาดหุ้น จนทำให้เกิดกูรูหุ้นมาเต็มไปหมด (และคนที่เป็นตำนานจากช่วงนี้ก็เช่น Peter Lynch)

ทีนี้ เราจะเรียนรู้อะไรได้จากช่วงที่ธนาคารขึ้นดอกเบี้ยอย่างบ้าคลั่ง? อย่างแรกเลย ภาวะที่ว่านี้ทำให้พวกนักเทรดระยะสั้นตายกันกระจุยกระจาย เพราะตลาดที่ผันผวนและเป็นขาลง ยังไงคนเข้าไปเทรดก็มักจะเจ๊งเป็นส่วนใหญ่เพราะโอกาสเสียมันสูงกว่าได้เยอะ

แต่อีกด้านหนึ่งพวกนักลงทุนระยะยาวที่ “กล้าลงทุน” ภาวะดอกเบี้ยขึ้นแบบบ้าบอนี้ได้ (จริง ๆ แค่กลาง 1980s ดอกเบี้ยก็กลับมาระดับปกติแล้ว) ก็กำไรกันกระจุยกระจายเลยเมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึง 10 ปีด้วยซ้ำ

แน่นอน ถ้าพูดถึงหุ้นที่ถ้าซื้อหุ้นตอนต้น 1980s มันคือช่วงตลาดต่ำสุด ก่อนจะพุ่งขึ้นต่อเนื่องเกือบ 20 ปี จนทำให้ใครซื้อตอนนั้นกำไรยับ ๆ

แต่ที่มากกว่านั้น แค่คนซื้อพันธบัตรตอนที่มันให้ดอกเบี้ยพีค ๆ ก็โคตรรวยแล้วครับ เพราะเอาง่าย ๆ ในปี 1981 ที่ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็น 15% และสูงสุดในประวัติศาสตร์ ถ้าใครซื้อทันตอนนั้นกำไรกระจาย ซึ่งคิดง่าย ๆ คือ ถ้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีที่ให้ดอกเบี้ยเท่านี้ ผ่านไป 7 ปีดอกเบี้ยที่ได้ก็เท่าเงินต้นแล้วครับ ที่เหลือคือกำไรเน้น ๆ ไปอีก 20 กว่าปี หลังจากนั้นยังได้เงินต้นคืนตอนท้ายอีก และความเสี่ยงมันแทบจะไม่มีเลยเพราะมันคือพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุด

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็อยากให้เห็นภาพว่า ณ ปี 2023 หลาย ๆ คนบอกให้ “ถือเงินสดเอาไว้” เพราะตลาดมันเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่คำถามคือ แล้วเมื่อไหร่จะ “ขยับ” การถือเงินสดแช่ ๆ เอาไว้แบบไม่ทำอะไรเลย ไม่ได้ทำให้เกิดผลตอบแทน และคำถามคือถ้าคิดว่าจะ “นิ่งจนตลาดเป็นขาขึ้นแน่ ๆ” เราจะกำลังพลาดช่วงเวลาที่สำคัญมาก ๆ ที่จะได้ผลตอบแทนถล่มทลาย ดังเหล่าคนที่ “กล้า” ซื้อหุ้นและซื้อพันธบัตรในช่วงต้น 1980s ไปอย่างน่าเสียดาย

 

Ref.

https://www.nytimes.com/2022/08/05/business/inflation-investing-paul-volcker.html

https://advisor.visualcapitalist.com/us-interest-rates/