เมื่อมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาเงินตรา (Fiat) เงินเฟ้อก็ต้องเกิดขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วคุณเคยสงสัยไหมว่า “เงินเฟ้อ” คืออะไร? เงินเฟ้อเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น ทำให้อำนาจซื้อของสกุลเงินทางการลดลง ผลที่ตามมาก็คือ เราต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อที่จะซื้อสินค้าชิ้นเดิม ตัวอย่างเช่น กระเช้าผลไม้อันหนึ่งมีราคาอยู่ที่ 1,500 บาทเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันกลับมีราคาเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 แล้ว ซึ่งกรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อำนาจในการซื้อลดลงนั่นเอง โดยตัววัดอัตราเงินเฟ้อที่คนนิยมใช้กันก็คือ ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI)

ช่องทางในการป้องกันเงินเฟ้อ

เป็นที่รู้กันดีว่า เมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่ตามก็คือ เงินสดจะมีอำนาจการซื้อลดลงเรื่อย ๆ และการถือเงินสดจะทำให้เงินออมของเราลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญและคนทั่วไปจึงพยายามมองหาช่องทางการลงทุนหรือเครื่องมือที่ช่วยให้พวกเขาตีตัวออกห่างจากเงินเฟ้อได้ พวกเขาจะเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เก็บมูลค่าต่าง ๆ เพื่อเอาตัวรอดจากภาวะเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น และสินทรัพย์น้องใหม่อย่างคริปโต

หากเราย้อนกลับไปเมื่อหลายปีที่แล้ว เราจะเห็นเลยว่า ทองคำ หุ้น และอสังหาริมทรัพย์ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่นำความสุขกายสบายใจมาให้นักลงทุนยามเกิดวิกฤตเงินเฟ้ออยู่เสมอ ถึงกระนั้น สินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือป้องกันเงินเฟ้อได้อย่างชั่วกัปชั่วกัลป์ เมื่อไม่นานมานี้ ทองคำแท่งหรือเงินแท่งเริ่มถูกมองว่าไม่เหมาะสมสำหรับการลงทุนขนาดเล็ก โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา สินค้าโภคภัณฑ์ประเภทนี้ได้รับความนิยมน้อยลง ส่วนอสังหาริมทรัพย์ก็มีสภาพคล่องต่ำ มาพร้อมกับค่าธุรกรรมที่แพงหูฉี่ แถมยังต้องมีการบำรุงรักษาและการจัดการอย่างต่อเนื่อง ในทำนองเดียวกัน สินค้าโภคภัณฑ์อย่างหุ้นก็ต้องอาศัยทักษะทางการเงินที่ซับซ้อน มิหนำซ้ำคนส่วนใหญ่ยังขาดทักษะที่สำคัญสำหรับการเป็นผู้จัดการหุ้นที่มีศักยภาพด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และหุ้นยังถือเป็นประเภทสินทรัพย์ดั้งเดิมที่มีการควบคุมจากหน่วยงานกลาง ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ได้รับผลกระทบจากอคติและแรงกดดันได้ง่าย คุณค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์เหล่านี้มักจะขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายของหน่วยงานกลาง เช่น รัฐบาลและธนาคารกลาง โดยสินทรัพย์ใดก็ตามที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่เจ้าของสินทรัพย์มิอาจควบคุมได้จะถือว่าไม่ใช่เครื่องมือป้องกันเงินเฟ้ออย่างแท้จริง เนื่องจากหน่วยงานกลางสามารถใช้อำนาจควบคุมสถานการณ์ได้อยู่หมัด

แล้วบิตคอยน์ใช่เครื่องมือป้องกันเงินเฟ้อหรือไม่?

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเราตอบคำถาม “บิตคอยน์ป้องกันเงินเฟ้อได้ไหม?” คือ อุปทานที่มีจำกัด และการกระจายอำนาจ

1. อุปทานที่มีจำกัด – ทำให้เกิดความหายาก

อุปทานของบิตคอยน์ (Bitcoin: BTC) ถูกกำหนดไว้ที่ 21 ล้านเหรียญ ในปี 2021 มีบิตคอยน์หมุนเวียนอยู่ในระบบแล้ว 18.77 ล้านเหรียญ นั่นเท่ากับว่า 83% ของปริมาณบิตคอยน์ทั้งหมดได้เข้ามาอยู่ในระบบแล้วภายในระยะเวลาเพียง 12 ปีที่สกุลเงินคริปโตนี้ถือกำเนิดขึ้นมา

เงินเฟ้อเกิดขึ้นเมื่อรัฐหรือธนาคารกลางใดก็ตามพิมพ์ธนบัตรออกมาเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเกินความจำเป็น โดยทฤษฎีเชิงเศรษฐศาสตร์อธิบายไว้ว่า เงินเฟ้อเกิดขึ้นเมื่ออุปทานของเงินเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าผลผลิตจริงของสินค้าหรือบริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อภาคครัวเรือนมีเงินสดในการซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ปริมาณสินค้ายังคงเท่าเดิม ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

การที่บิตคอยน์มีปริมาณสินทรัพย์จำกัดจึงหมายความว่าจะไม่มีอุปทานส่วนเกิน ทำให้สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ นอกจากนี้ ประมาณทุก 4 ปี ปริมาณผลตอบแทนการขุดบิตคอยน์ต่อปีจะลดลงถึง 50% อีกด้วย เมื่อพิจารณาจากตารางอุปทานของบิตคอยน์ในปัจจุบัน อัตราการผลิตบิตคอยน์เพิ่มต่อปีจะคิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของทองคำ และจะลดลงต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้หายากกว่าทองคำและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

2. การกระจายอำนาจ – เสริมสร้างความทนทาน

ลักษณะที่กระจายศูนย์ของบิตคอยน์ทำให้สกุลเงินนี้ไม่ตกอยู่ใต้การควบคุมของหน่วยงานกลางใด ๆ อีกทั้งยังมีการทำงานร่วมกันของระบบ ทำให้เครือข่ายบิตคอยน์ได้รับการป้องกันจากการโจมตีของบุคคลภายนอกที่อาจจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของเครือข่าย ซึ่งอาจส่งผลต่ออุปทานที่มีจำกัดของบิตคอยน์ได้ ทั้งนี้ ไม่มีสกุลเงินคริปโตสกุลใดที่มีความกระจายศูนย์เท่ากับบิตคอยน์อีกแล้ว

การบีบบังคับผ่านการสร้างแรงกดดันและการติดสินบนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเกือบทุกองค์กร ทว่าปัญหาดังกล่าวกลับไม่พบในบิตคอยน์เลย เนื่องจากบิตคอยน์ไม่มีผู้นำและคณะผู้บริหารให้ติดสินบน แม้กระทั่งผู้ก่อตั้งบิตคอยน์อย่าง Satoshi Nakamoto ก็ยังไม่เคยเปิดเผยตัวตนเลยด้วยซ้ำ โดย ณ ขณะนี้ บิตคอยน์ก็ยังเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอันโดดเด่นที่ขึ้นชื่อในเรื่องการมีประวัติขาวสะอาดปราศจากอิทธิพลของผู้นำ

ใคร ๆ ก็สามารถเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมบิตคอยน์ (Node) ได้ โดยจะมีสิทธิ์ในการยืนยันประวัติการทำธุรกรรมและส่งข้อมูลการทำธุรกรรมผ่านเครือข่าย ไม่เพียงเท่านั้น คุณสมบัติด้านการกระจายอำนาจอย่างยิ่งยวดยังทำให้มั่นใจได้ว่า บิตคอยน์จะไม่ถูกนำไปใช้จ่ายซ้ำ (Double Spending) รวมถึงยังช่วยในเรื่องการกระจายเหรียญและช่วยให้สามารถเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ได้ด้วย อีกทั้งยังช่วยป้องกันการควบคุมข้อมูลโดยตัวกลาง และทำให้ผู้ถือเหรียญทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจอีกด้วย 

ตัวอย่างเช่น เมื่อองค์กรหนึ่งที่มีความสนใจบิตคอยน์พยายามที่จะเข้ามาปรับขนาดของบล็อกให้สามารถรองรับปริมาณการทำธุรกรรมได้มากขึ้น ผู้ตรวจสอบธุรกรรมและนักพัฒนาต่างก็พากันออกมาคัดค้านข้อเสนอดังกล่าวอย่างสุดฤทธิ์ ซึ่งกรณีนี้แสดงถึงความทนทานของบิตคอยน์ เนื่องจากบริษัทหรือองค์กรยักษ์ใหญ่ไม่สามารถบังคับให้คนอื่นทำตามเจตนารมณ์ของพวกเขาได้

การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อบิตคอยน์อย่างไร?

บรรดานักลงทุนยกให้บิตคอยน์เป็นเครื่องมือต่อสู้กับเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี เจตนารมณ์ในการลงทุนของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันไป เช่น ใช้เก็งกำไร เพิ่มความมั่งคั่ง หรือใช้เก็บมูลค่า โดยมูลค่าของบิตคอยน์นั้นเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ เห็นได้จากการที่บิตคอยน์เติบโตขึ้นถึง 59.8% เลยทีเดียวในปี 2021 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศ

แล้วบิตคอยน์ทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อได้ไหม?

บิตคอยน์ทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อได้ค่อนข้างดี และเอาชนะเงินเฟ้อได้อย่างขาดลอย ทั้งนี้ นักลงทุนก็ควรระวังปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ด้วย เช่น สภาพแวดล้อมด้านการกำกับดูแล โดยสถิติบ่งชี้ว่า การเก็บมูลค่าด้วยบิตคอยน์นั้นดีกว่าการเก็บมูลค่าด้วยสินทรัพย์อื่น ๆ เป็นอย่างมาก เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และหุ้น

ยิ่งไปกว่านั้น จุดแข็งของบิตคอยน์ เช่น อุปทานที่มีจำกัดและคุณสมบัติความกระจายศูนย์ ก็ทำให้ตัวของมันเองได้รับการยกย่องให้เป็นสินทรัพย์ที่สามารถป้องกันเงินเฟ้อได้