ถ้าไปถามนักเล่นหุ้นรุ่นใหญ่ ๆ เขาจะมี “ความเชื่อ” อย่างหนึ่งว่าการซื้อหุ้นตอนสิ้นปี แล้วขายตอนสิ้นเดือนมกราคม ยังไงก็จะกำไร เพราะหุ้นตอนสิ้นเดือนมกราคมจะสูงกว่าต้นเดือนมกราคมเสมอ
ภาวะนี้เขาเรียกว่า January Effect และก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่
สำหรับคนที่เชื่อใน January Effect ภาวะนี้ เขาจะอธิบายว่าภาวะนี้มันสืบเนื่องจาก “การขายหุ้นส่งท้ายปี” ของปีก่อนหน้า คืออันนี้เป็นปกติอยู่แล้วของการปิดปีของกองทุน เขาต้องขายหุ้นบางส่วนมาปันผลให้พวกนักลงทุน และเป็นผลตอบแทนกองทุนในตอนสิ้นปี ดังนั้นมันเป็นเรื่องปกติที่หุ้นจะตกส่งท้ายปี
...แต่ทำไมมันขึ้นเดือนมกราคมล่ะ?
เขาว่ากันว่า มันเป็นเพราะพวกผู้จัดการกองทุนรวย ๆ ยันคนทำงานดี ๆ ที่ได้โบนัสตอนสิ้นปี เขาจะฮิตเอาเงินนี้มา “ลงทุน” ช่วงมกราคม เพราะนอกจากจะมีเงินแล้ว จังหวะนี้ยังเป็นจังหวะที่หุ้นราคาถูกเพราะมันราคาลงจากการ “ขายหุ้นส่งท้ายปี” ดังที่ว่ามา
ซึ่งถามว่าในทางสถิติ มันเป็นจริงไหม? เอาง่าย ๆ คือในช่วงประมาณปี 1940-1970 มันเป็นแบบนี้แทบทุกปี คือดัชนีหุ้นอเมริกาท้ายเดือนมกราคมจะสูงกว่าตอนเปิดมาปีใหม่เสมอ โดยปีที่ไม่เป็นแบบนั้นเต็มที่คือแค่ 2-3 ปีเท่านั้น หรือโอกาสเกิด January Effect ในปีหนึ่งคือเกิน 90% เลย
ดังนั้นพวกนักลงทุนรุ่นใหญ่ ๆ หน่อยที่ลงทุนทันช่วง 1970s และ 1980s ก็จะสังเกตเห็นปรากฏการณ์นี้ และทำกำไรกันไปมากมาย
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990s ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป หรือเอาง่าย ๆ คือนับจากปี 1993 ถึง 2022 เป็นเวลา 30 ปี สถิติมันคนละเรื่องเลย เพราะมันมีเพียง 17 ปีเท่านั้นที่หุ้นปลายเดือนจะแพงกว่าต้นเดือน และอีก 13 ปีไม่เกิดภาวะ January Effect
ถ้าคิดเป็นเชิงความน่าจะเป็นเราก็จะเห็นว่าโอกาสเกิดต่อไม่เกิดมันคือ 57:43 ซึ่งความน่าจะเป็นระดับนี้ โอกาสจะเกิด January Effect ในปัจจุบันมันแทบไม่ต่างจากทอยเหรียญหัวก้อยเลย
ดังนั้นโดยรวม ๆ คือถ้าคนอัปเดตหน่อย เขาจะไม่ค่อยเชื่อใน January Effect ที่จะให้เราสามารถ “ทำกำไรได้แบบไม่ต้องคิดอะไร” ในทุก ๆ เดือนมกราคมของปีกันแล้ว แต่ก็แน่นอน ถ้าคนเคยอ่านตำราเก่า ๆ หรือเคยได้ยินได้ฟังคนที่เคยทำกำไรกับเทคนิคนี้ เขาก็จะเชื่ออีกแบบ
Ref.
https://www.investopedia.com/terms/j/januaryeffect.asp