ทุกวันนี้ KYC หรือกระบวนการ Know-Your-Customer เป็นเรื่องปกติมาก ๆ เวลาเราต้องเปิดบัญชีเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ ซึ่งถ้าเรานึกย้อนกลับไปตอนเด็ก ๆ เราน่าจะไม่เคยได้ยินคำนี้เลย คำนี้เพิ่งแพร่หลายตอนเราโต หรือบางคนก็เพิ่งได้ยินบ่อย ๆ เมื่อไม่กี่ปีนี้เอง
เอาจริง ๆ ปรากฏการณ์ KYC เป็นเรื่องใหม่ และเพิ่งถูกทำให้ “เป็นสากล” ไม่เกิน 20 ปีที่ผ่านมา หรือพูดอีกแบบมันเพิ่งเข้ามาบ้านเราไม่นาน และนั่นก็เป็น “อิทธิพลอเมริกัน” เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ
ดังนั้นคำถามคือทำไมอยู่ดี ๆ อเมริกาถึงบังคับให้สถาบันการเงินทั้งหมดทำการสอบถาม วันเดือนปีเกิด ชื่อ ที่อยู่ และ หมายเลขประจำตัว เพื่อเอาไปตรวจสอบประวัติทุกครั้งก่อนให้เปิดบัญชี?
จริง ๆ เรื่องมันยาว แต่พอสรุปได้ว่า
โลกนี้ในอดีต ปัญหาเรื่องการ “ฟอกเงิน” ยัน “หนีภาษี” มีมานานพร้อม ๆ กับระบบเงินตราแล้ว แต่ในอดีตเรื่องพวกนี้ไม่เคยจริงจังสักเท่าไหร่ เพราะอำนาจรัฐมันยังสามารถไปควบคุมระบบการเงินต่าง ๆ ได้ตรง ๆ อยู่ พูดง่าย ๆ คือ ในยุคนั้นรัฐมันโหดพอจะขู่ให้คนส่วนใหญ่เกรงกลัวไม่กล้า “ฟอกเงิน” ยัน “หนีภาษี” ซึ่งพอจับได้ โทษมันก็หนักแบบแทบไม่มีลิมิตตามประสารัฐโบราณ และก็ยังไม่ต้องนับว่าในอดีต ระบบเครือข่ายการเงินมันยังไม่ได้แอดวานซ์อะไรนัก คนจำนวนน้อยมากที่มีบัญชีธนาคาร การจะฟอกเงินหรือหนีภาษีมันไม่ได้ง่าย และรัฐก็จับตาดูแค่ไม่กี่บุคคลเท่านั้น
ที่นี้เมื่อระบบการเงินโลกเชื่อมกันหมด การโอนเงินข้ามประเทศได้ง่าย อะไร ๆ มันก็เปลี่ยน โดยเฉพาะเมื่อสวิตเซอร์แลนด์ ออกกฎหมาย Swiss Banking Act ในตำนานเมื่อปี 1934 ซึ่งผลก็คือ มันทำให้ธนาคาร
สวิสห้ามเปิดเผยข้อมูลลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตเด็ดขาด ไม่งั้นโดนคดีอาญา
แน่นอนกฎหมายนี้ทำให้สวิสเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลก แต่อีกด้านมันก็ทำให้อาชญากรทั่วโลกไปเปิดบัญชีที่สวิสและส่งเงินกันเป็นว่าเล่น
อะไรพวกนี้ทำให้อเมริกาปวดหัวมาก เพราะอาชญากรทุกคนที่รัฐจับตาก็ทำแบบนี้ ไม่มีใครไม่มีบัญชีที่สวิส และก็ไม่มีใครจะรับเงินก้อนใหญ่ ๆ โดยใช้บัญชีอเมริกา
อเมริกาไปทำอะไรสวิสไม่ได้ ได้แต่ค่อย ๆ พยายามออกกฎหมายต้านการฟอกเงินมา แต่อะไรพวกนี้มันไม่มีผลเท่าไร เพราะสุดท้ายมันก็เหมือนคริปโต ถ้าทุกประเทศมันไม่ใช้มาตรฐานเดียวกันหมด กฎเกณฑ์ของประเทศเดียวมันไม่มีความหมาย
และ “จุดเปลี่ยน” มันก็คือ เหตุการณ์ 9/11 ที่ผู้ก่อการร้ายยึดเครื่องบินไปชนตึก World Trade Center ในวันที่ 11 กันยายน 2001
ถ้าใครเกิดทันยุคนั้นก็จะรู้ว่าเหตุการณ์นี้ช็อกโลกและสร้างแรงกระเพื่อมในทุกเรื่อง และหนึ่งในนั้นคือเรื่องของการ “ตามเส้นทางการเงินผู้ก่อการร้าย”
ในยุคก่อน “การฟอกเงิน” เป็นเพียงอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่รัฐนั้นก็เพียงให้ความสำคัญพอควร แต่หลัง 9/11 อเมริกาพบว่ามีการระดมทุนเป็นล้าน ๆ บาท โดยผู้ก่อการร้ายในระบบการเงินปกติ และไม่มีใครระแคะระคายเลย ทั้งหมดเกิดจากกระบวนการคัดกรองลูกค้าของสถาบันการเงินที่หละหลวม
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Patriot Act ในปี 2001 มันมีข้อกำหนดด้านความมั่นคงจำนวนมาก แต่ข้อกำหนดที่คนไม่ค่อยรู้ก็คือพวกระเบียบการเงิน ซึ่งนี่คือ ต้นกำเนิดของ KYC ในยุคปัจจุบัน
คือระเบียบมันก็อย่างที่เรารู้ทุกวันนี้เลย ใครจะเปิดบัญชีต้องให้ วันเดือนปีเกิด ชื่อ ที่อยู่ และ หมายเลขประจำตัว และสถาบันการเงินก็จะเอาไปเช็กกับแบล็กลิสต์ของรัฐอีกที ส่วนใครที่มีข้อมูลต้องสงสัย ก็เป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินที่จะไปหาข้อมูลเพิ่มเอาให้ชัวร์ว่าลูกค้าคนนี้จะไม่มีปัญหา
อะไรพวกนี้ไม่มีมาก่อนปี 2001 เพราะก่อนหน้านั้น ข้อมูลที่สถาบันการเงินถาม มันไม่ได้ถามเพื่อเช็กว่าคุณจะเป็นผู้ก่อการร้ายไหม มันถามเพราะต้องการเก็บข้อมูลลูกค้าตามปกติ แต่หลังปี 2001 การถามมันเป็นการเช็กว่า คุณคือส่วนหนึ่งของเครือข่ายก่อการร้ายไหม
เอาจริง ๆ KYC นี่ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ “ฟอกเงิน” เท่ากับ “การก่อการร้าย” ด้วยซ้ำ และนี่คือแรงกระเพื่อมที่เหตุการณ์ 9/11 ส่งผลยาวมาถึงยุคปัจจุบัน
ซึ่งก็แน่นอน พอระบบพวกนี้เริ่มทำงาน อเมริกาก็ใช้ข้ออ้างด้านการปราบการก่อการร้ายกดดันประเทศอื่น ๆ ในโลกให้ทำตาม และระบบ KYC มันก็เลยกระจายไปทั่วโลกแบบทุกวันนี้ ซึ่งถ้าสงสัยว่าอเมริกาทำได้ยังไง ก็อย่าลืมว่า อเมริกาใช้ข้ออ้างแบบนี้ยกทหารไปบุกประเทศอื่น (อิรัก) ยังได้เลยครับ แค่การกดดันให้ชาติอื่นช่วยอเมริกาในการติดตามการก่อการร้ายนี่ บอกเลยว่าเรื่องเล็กน้อยมาก
ซึ่งหลังเหตุการณ์ 9/11 ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาขณะนั้นอย่าง George W. Bush ก็ได้ลั่นวาทะอมตะว่า "ทุก ๆ ชาติ ทุก ๆ ภูมิภาค ต้องตัดสินใจแล้ว ว่าคุณจะอยู่ฝ่ายเรา หรืออยู่ฝ่ายผู้ก่อการร้าย” ซึ่ง “พลังงาน” แบบนี้แหละที่ผลักดันให้ระบบ KYC แบบอเมริกาแพร่กระจายไปทั้งโลก
และก็แน่นอน พอระบบนี้เริ่มทำงาน สิ่งที่อเมริกาทำมันก็ไม่ได้ใช้แค่เกี่ยวกับการก่อการร้ายเท่านั้น แต่ใช้ในกิจการเพื่อความมั่นคงทั้งหมดเลย เช่น การแบนบัญชีที่เกี่ยวโยงกับชาติที่เป็นปฏิปักษ์กับอเมริกา อย่างรัสเซีย จีน หรือกระทั่งอิหร่าน
และในแง่นี้ สิ่งที่เราเรียกว่า KYC จริง ๆ แล้วมันคือส่วนขยายของการทำงานของฝ่ายความมั่นคงอเมริกามาในภาคการเงินโลกนี่เอง
Ref.
https://www.investopedia.com/terms/k/knowyourclient.asp
https://businessforensics.nl/kyc-financial-crime/
https://www.dowjones.com/professional/risk/glossary/know-your-customer/