นักลงทุนที่ย่างกรายเข้ามาสู่วงการสกุลเงินดิจิทัลหลายคนจะต้องเคยเจอคำว่า Market Cap หรือ Market Capitalization ของสกุลเงินคริปโตกันอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะอ่านเจอจากในข่าว บทความ หรือหน้าเว็บซื้อขายสกุลเงินคริปโตต่าง ๆ บางคนก็อาจจะเคยเห็น Market Cap มาแล้วในระบบการเงินแบบดั้งเดิม ซึ่งก็คือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดซึ่งเป็นตัวชี้วัดมูลค่าหุ้นโดยรวมของบริษัทมหาชน แต่เคยสงสัยไหมว่า Market Cap ที่เขาเอามาใช้ในโลกสกุลเงินคริปโตมันเป็นอย่างไรกัน วันนี้เราจะมาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันเลย
Market Cap คืออะไร?
Market Cap คือมูลค่าโดยรวมตามราคาตลาดของสกุลเงินคริปโตสกุลใดสกุลหนึ่งในตลาดซึ่งคิดเป็นดอลลาร์สหรัฐ กล่าวง่าย ๆ คือ Market Cap เป็นตัวชี้วัดที่วัดและติดตามมูลค่าตลาดโดยรวมของสกุลเงินคริปโตนั้น ๆ เราสามารถคำนวณ Market Cap ได้จากการนำจำนวนเหรียญคริปโตทั้งหมดของสกุลเงินคริปโตสกุลหนึ่งไปคูณกับราคาปัจจุบันของเหรียญดังกล่าวในตลาด
Market Cap = ราคา x ปริมาณเหรียญทั้งหมดในระบบ (Circulating Supply)
ตัวอย่างเช่น Market Cap ของบิตคอยน์ (Bitcoin: BTC) คิดเป็น $16,798.80 x 19,210,431 BTC = $322,712,188,282.8 หรือ $322 พันล้าน ตามเวลาที่เขียนบทความนี้
โดย Market Cap จะบ่งชี้ถึงความนิยมและการครองตลาดของสกุลเงินคริปโตแต่ละสกุล รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจัดอันดับสกุลเงินคริปโตด้วย อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็ไม่จำเป็นต้องคำนวณ Market Cap ด้วยตัวเองให้ยุ่งยาก เนื่องจากเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลคริปโตหลายเว็บไซต์มีการแสดง Market Cap ของสกุลเงินคริปโตเกือบทุกสกุลให้ผู้ใช้ได้ดูกันแบบเรียลไทม์ เช่น CoinMarketCap หรือ CoinGecko
Market Cap สำคัญกับตลาดคริปโตอย่างไร?
สาเหตุที่นักลงทุนให้ความสำคัญกับ Market Cap เป็นเพราะว่าเครื่องมือนี้ช่วยให้พวกเขาสามารถเปรียบเทียบมูลค่าของเหรียญคริปโตตัวหนึ่งกับอีกตัวได้ โดยโปรเจกต์เหรียญคริปโตที่มี Market Cap มากก็จะได้รับการพิจารณาว่ามีความมั่นคงและประสบความสำเร็จมากกว่าโปรเจกต์เหรียญคริปโตที่มี Market Cap น้อย รวมถึงยังดึงดูดนักลงทุนได้มากกว่าด้วย เนื่องจากนักลงทุนมักจะคิดไปเองโดยอัตโนมัติว่า เหรียญคริปโตที่มี Market Cap มากมักจะมีผู้เข้ามาลงทุนมาก ส่วนเหรียญที่มี Market Cap น้อยเป็นเหรียญที่ใช้สำหรับเก็งกำไรหรือเชื่อถือได้น้อย
ด้วยเหตุนี้ Market Cap จึงมักจะถูกนำไปใช้ในการจัดอันดับเหรียญ นอกจากนี้ ด้วยความที่ Market Cap ช่วยบ่งบอกขนาดของสกุลเงินคริปโตเมื่อเทียบกับเหรียญอื่นในตลาดได้ นักลงทุนและนักเทรดจึงใช้ข้อมูลนี้เป็นฐานในการวิเคราะห์ก่อนการพิจารณาข้อมูลอื่น ๆ ร่วมด้วย
หลายคนคิดว่า ราคาเพียงอย่างเดียวก็สามารถกำหนดมูลค่าของสกุลเงินคริปโตได้แล้ว แต่จริง ๆ แล้ว Market Cap ต่างหากที่แสดงให้เห็นถึงมูลค่าแท้จริงของสกุลเงินคริปโต ตัวอย่างเช่น สกุลเงินคริปโต A ที่มีราคา $1,000 อาจจะมีมูลค่าน้อยกว่าสกุลเงินคริปโต B ที่มีราคา $500 ก็ได้ถ้าหากเราเอาจำนวนเหรียญทั้งหมดในระบบของทั้งสองสกุลเงินดังกล่าวมาเปรียบเทียบกันด้วย
ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อ Market Cap
อุปทาน (Supply) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อ Market Cap ของสกุลเงินคริปโต จำนวนเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ในระบบทั้งหมดของสกุลเงินคริปโตตัวหนึ่งจะส่งผลต่อราคาตลาด และ Market Cap ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น บิตคอยน์มีอุปทานจำกัดที่ 21 ล้าน BTC อันเป็นเจตนารมณ์ของผู้สร้างอย่าง Satoshi Nakamoto ทำให้สกุลเงินคริปโตตัวนี้มีความหายากเนื่องจากมีอุปทานที่จำกัดไว้ ราคาจึงพุ่งสูงขึ้นตามมา
นอกจากอุปทานแล้ว ราคาของสกุลเงินคริปโตก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อ Market Cap ของสกุลเงินคริปโต ถึงแม้ว่าสกุลเงินคริปโตสกุลหนึ่งจะมีปริมาณเหรียญหมุนเวียนในระบบน้อย แต่ถ้าสกุลเงินคริปโตดังกล่าวมีราคาสูง Market Cap ก็จะพุ่งสูงตามไปด้วย ในทางกลับกัน ถ้าหากว่าสกุลเงินคริปโตดังกล่าวมีปริมาณเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก แต่มีราคาถูก Market Cap ก็อาจจะน้อยตามไปด้วย
Market Cap ใช่เครื่องมือวัดมูลค่าของสกุลเงินคริปโตที่ดีที่สุดไหม?
ถึงแม้ว่า Market Cap จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินมูลค่าและขนาดของสกุลเงินคริปโตต่าง ๆ ได้ในเบื้องต้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า เจ้าเครื่องมือนี้ไม่ใช่ตัวชี้วัดมูลค่าของสกุลเงินคริปโตที่สมบูรณ์แบบแต่อย่างใด เนื่องจากเจ้าของโปรเจกต์เหรียญคริปโตอาจปั่น Market Cap ของเหรียญตัวเองได้โดยการปั่นราคาเหรียญ ทำให้นักลงทุนหลงเข้าใจผิดคิดว่า เหรียญดังกล่าวมี Market Cap มาก ดังนั้น การประเมินมูลค่าของเหรียญคริปโตจาก Market Cap เพียงอย่างเดียวจึงเสี่ยงต่อการโดนหลอกได้
ไม่เพียงเท่านั้น Market Cap ยังสะท้อนความนิยมในระยะสั้นของเหรียญคริปโตมากกว่าคุณค่าในระยะยาวของสินทรัพย์ประเภทนี้ด้วย โดย Market Cap ของเหรียญส่วนใหญ่มักจะเพิ่มขึ้นตามราคาที่คนเต็มใจจ่ายเงินให้ ดังนั้น Market Cap จึงไม่สะท้อนถึงคุณค่าที่แท้จริงที่เหรียญดังกล่าวจะมอบให้
ตัวอย่างเช่น นักลงทุนกลุ่มหนึ่งเห่อเหรียญคริปโตตัวหนึ่งกันมาก จึงแห่ไปซื้อเหรียญดังกล่าวในช่วงสั้น ๆ ทำให้อุปทานของเหรียญดังกล่าวลดลงในเวลาต่อ ราคาจึงสูงขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ Market Cap ของเหรียญดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นเพียงการปั่นราคาเหรียญคริปโตของนักลงทุนบางกลุ่มเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พอเวลาผ่านไปได้สักพัก ราคาของเหรียญดังกล่าวก็อาจจะร่วงลงมาจากการแห่เทขาย ทำให้นักลงทุนบางส่วนที่ไหวตัวไม่ทันต้องขาดทุนยับ