ทุกวันนี้เราอาจได้ยินคำว่า “ฟอกเงิน” ในชีวิตบ่อยขึ้น และน่าจะบ่อยขึ้นกว่าที่เราได้ยินตอนเด็ก ๆ ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะ “การฟอกเงิน” เป็นสิ่งที่รัฐมีความจริงจังมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่จะเข้าใจว่าทำไมเรามาถึงจุดนี้ได้ เราต้องรู้จักประวัติศาสตร์ของการฟอกเงินกันสักนิดก่อน

จริงอยู่ ถ้าจะพูดในเชิงคอนเซปต์ของ “การฟอกเงิน” ซึ่งมันคือการ “ทำเงินผิดกฎหมายให้กลายเป็นเงินถูกกฎหมาย” ประวัติการฟอกเงินก็คงจะเก่าแก่พอ ๆ กับ “กฎหมาย” หรือการมี “รัฐ”

แต่ในความเป็นจริง การ “ฟอกเงิน” ไม่เคยเป็นประเด็นเลยสำหรับรัฐ ไม่ใช่เพราะว่ารัฐไม่อยากจัดการ แต่เพราะรัฐไม่มีทางจะจัดการได้ เพราะในยุคโบราณ สกุลเงินต่าง ๆ มันไม่มีมาตรฐานเดียวกันด้วยซ้ำ สถาบันทางการเงินต่าง ๆ ก็ไม่มี คือมันไม่มีทางจะติดตามเส้นทางการเงินของใครได้ทั้งนั้น เราไม่มีทางรู้เลยว่าเงินที่อยู่ตรงหน้า มันมีที่มาอย่างไร

โดยคำว่า “ฟอกเงิน” มาจากมาเฟียอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียนอย่าง “แอล คาโปน” ที่ในช่วงทศวรรษ 1920 ธุรกิจผิดกฎหมายของเขารุ่งเรืองมาก แต่เขาก็มีปัญหาว่าจะทำยังไงให้เงินพวกนี้ “สะอาด” แล้วเขาก็เลยเปิดร้านซักผ้าหยอดเหรียญขนาดใหญ่ เพื่อให้นักบัญชีของเขาตกแต่งบัญชีร้านซักผ้า เอาเงินสกปรกที่ได้มาใส่ไปเป็นรายได้ร้านซักผ้า ที่จริง ๆ ทำได้ง่ายมากเพราะมันเป็นธุรกิจที่รับเงินสดจำนวนมาก

นี่แหละคือที่มาของคำนี้ เพราะเปิดธุรกิจซักผ้า (Laundry) ทำให้เงินสกปรกกลายเป็นเงินสะอาด คำว่า ฟอกเงิน (Money Laundering) จึงเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี คำนี้ก็ไม่ได้แพร่หลายจนยุค 1970 ที่เกิดคดี “วอเตอร์เกต” อันอื้อฉาว ซึ่งช่วงเดียวกันนั้นเองหน่วยงานของรัฐบาลกลางอเมริกาก็เริ่มออกระเบียบให้ธนาคารต้องรายงานกับรัฐถ้ามีการฝากเงินเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นระเบียบในการต้านการฟอกเงินในโลกอันแรก ๆ เลย

ทำไมมันถึงเกิดช่วงนี้? คำตอบเร็ว ๆ คือ รัฐไม่สามารถมีนโยบายต้านการฟอกเงินในอดีตได้เลย เพราะเงินมันไม่ได้ผ่าน “สถาบันทางการเงิน” แต่พอเงินมันวิ่งผ่านสถาบันทางการเงิน รัฐก็ได้โอกาสวางมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อสร้างความยากลำบากในการฟอกเงิน

หรือพูดง่าย ๆ มาตรการต่อต้านการฟอกเงินมันเกิดพร้อม ๆ กับการขยายตัวของสถาบันการเงินในระดับโลก และมันเกิดเพราะรัฐมีอำนาจในการควบคุมสถาบันทางการเงินพวกนี้นั่นเอง

ซึ่งถ้าเราเห็นภาพนี้ เราจะเข้าใจเลยว่าทำไมปัจจุบันรัฐถึงพยายามจะเข้ามาควบคุมพวกกระดานเทรด
 คริปโต ซึ่งมันไม่ได้ต่างจากการพยายามควบคุมธนาคารตั้งแต่ในช่วง 1970s ซึ่งมาพีคเอาในปี 2001 หลังเหตุการณ์ 9/11 ที่ในที่สุดรัฐบาลกลางอเมริกาก็สามารถยกระดับมาตรการต่อต้านการฟอกเงินและบังคับให้มีการทำ KYC ในสถาบันทางการเงินทั้งโลกได้ หรือพูดอีกแบบ ในอดีตพอการฟอกเงินมันเป็นแค่ “อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ” มันเรื่องเล็ก แต่พอมันไปโยงกับ “การก่อการร้าย” และ “เครือข่ายก่อการร้ายระดับโลก” มันทำให้ความจริงจังในการจัดการการฟอกเงินของรัฐมันเป็นอีกระดับ และมันทำให้อเมริกากดดันทั้งโลกให้ช่วยกัน “ปราบปรามการฟอกเงิน”

ซึ่งจุดเปลี่ยนไม่ใช่แค่นั้น เพราะในตลอดศตวรรษที่ 20 ก็เป็นที่รู้กันว่าถ้าเราอยากให้มีการโอนเงินจากต่างชาติแล้วให้รัฐไม่รู้ ก็ให้เราไปเปิดบัญชีที่สวิส เพราะธนาคารสวิสจะเก็บความลับเราอย่างดี เนื่องจากรัฐบาลเขามีกฎหมายห้ามเปิดความลับลูกค้าที่จริงจัง และนี่ก็เป็นเหตุให้ถ้าคน "เงินถึง" ยังไงก็ฟอกเงินชิล ๆ ในสถาบันทางการเงินของสวิสได้

หรือพูดง่าย ๆ มาตรการต้านการฟอกเงินของรัฐที่ทำมาในศตวรรษที่ 20 มันใช้ควบคุมได้แค่พวกอาชญากรในประเทศ แต่ไปเจออาชญากรข้ามชาติที่มีธนาคารสวิสเป็นศูนย์กลางการเงิน มันทำอะไรไม่ได้

อย่างไรก็ดี ภาวะที่คนฟอกเงินที่สวิสได้อย่างเสรีมันก็จบไปในปี 2016 หลังจากสวิสประกาศจะทำการ “แลกเปลี่ยนข้อมูลลูกค้า” กับประเทศกว่า 100 ประเทศ ด้วยเหตุผลทางภาษี แต่สิ่งที่ตามมาก็คือคนใน 100 กว่าประเทศดังกล่าวก็ไม่สามารถ “ฟอกเงิน” ในธนาคารสวิสได้อีก เพราะสวิสจะไม่ทำการ “เก็บความลับลูกค้า” ในระดับเดิมแล้ว และเรียกได้ว่าเป็น “จุดจบแห่งยุคสมัย” ที่ทำให้รัฐต่าง ๆ ทั่วโลก มั่นใจแล้วว่านักฟอกเงินจะไม่มีเครื่องมือฟอกเงินระหว่างประเทศได้อีกแล้ว หรืออย่างน้อย ๆ คนพวกนี้ก็จะลำบากมาก และนั่นหมายถึงเงินที่จะถูกฟอกต่อปีอาจน้อยลงในหลักแสนล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

แล้วยังไงต่อ? จะเรียกว่ามันเป็นตลกร้ายหรือเป็นผลจากการยุติบทบาทการเป็นแหล่งฟอกเงินของสวิสก็ได้ เพราะในปี 2017 โลกก็ได้รู้จัก Bitcoin และคนจำนวนมากก็เลยเพิ่งได้รู้ว่า Bitcoin และระบบคริปโตทั้งหมด ใช้ฟอกเงินแทนธนาคารสวิสได้ และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าด้วย

และนี่ก็เลยนำเรามาสู่ยุคปัจจุบันว่า ทำไมรัฐถึงเกลียดและกลัวพวกคริปโตนักหนา คือมัน “ดับฝัน” รัฐที่จะสามารถเฝ้าดูและติดตามเส้นทางการเงินทั้งโลกได้ในจังหวะที่รัฐคิดว่าจัดการ “หลุมดำ” อย่างสวิตเซอร์แลนด์ได้แล้วและคิดว่าทุกอย่างจะค่อย ๆ จบ

แต่จริง ๆ หลายคนก็น่าจะรู้กันอยู่แล้วว่าของราคาสูง ๆ ทุกอย่างใช้ “ฟอกเงิน” ได้หมดไม่ว่าจะเป็นทองคำ เพชร รถยนต์ นาฬิกา งานศิลปะ ไปถึง
 อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในการฟอกเงินก็คือการซื้อของพวกนี้มาแล้วขายไป แค่นี้เงินจากการขายก็เป็นเงินสะอาดแล้ว

ซึ่งในแง่นี้มันเลยทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าถ้าทุกอย่างที่ราคาแพง ๆ ถูกใช้ฟอกเงินได้หมด ทำไมถึงต้องมาจริงจังกับคริปโตเท่านั้น? แต่เอาจริง ๆ ทางฝั่งยุโรปเองก็เริ่มมีมาตรการบังคับให้ ร้านค้ารายงานการซื้อขายสิ่งเหล่านี้กับรัฐถ้ามูลค่าเกินระดับหนึ่ง ไม่ได้ต่างจากที่ธนาคารต้องทำถ้ามีการฝากเงินเข้ามาเยอะ ๆ ซึ่งเป้าหมายหลัก ๆ ก็คือพวกร้านทองคำและร้านเพชร (เนื่องจากพวกรถยนต์และอสังหาจะซื้อขายมันต้องมีบันทึกกับรัฐอยู่แล้ว) หรือโหดกว่านั้น คือยุโรปนี่กำลังจะห้ามซื้อของราคาแพง ๆ ด้วย “เงินสด” ด้วยซ้ำ เพราะมันจะไม่มีบันทึก

ทั้งหมดคือการต่อสู้อันยาวนานของรัฐต่อการฟอกเงิน และว่ากันตรง ๆ รัฐนั้นแทบจะถึงฝั่งฝันแล้วในโลกดิจิทัลที่ทุกการกระทำมันถูก “บันทึก” เอาไว้หมด และก็เรียกได้ว่าเหล่าคนคริปโตที่สู้เพื่อ “ความเป็นส่วนตัวทางการเงิน” ก็แทบจะเป็นนักรบกลุ่มสุดท้ายในโลกที่ยืนยันว่ามนุษย์มีสิทธิ์จะจับจ่ายใช้เงินนอกการสอดส่องของรัฐอยู่

 

Ref.

https://www.investopedia.com/terms/a/aml.asp

https://www.thestreet.com/personal-finance/what-is-money-laundering-14897715

https://www.antimoneylaundering.net/public/Counter-Money_Laundering/brief-history-money-laundering

https://indiaforensic.com/certifications/origin-of-money-laundering/ า