สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่จำนวนมากที่เพิ่งเข้า “ตลาด” มาในช่วงโควิด ก็น่าจะเรียกได้ว่าโดน “รับน้อง” กันสนุก เพราะหลาย ๆ คนก็น่าจะเริ่มจากคริปโตซึ่งได้เป็นตลาดขาลงไปตั้งแต่กลางปี 2021 แล้ว (หลังจาก Tesla ระงับการใช้คริปโตชำระเงินโดยอ้างว่ามันทำให้โลกร้อน) ซึ่งอยู่ ๆ มาสักพัก ระบบเศรษฐกิจเกิดเงินเฟ้อเนื่องจากความชะงักงันของการผลิต และต่อมาก็เจอสงครามรัสเซียยูเครนอีก
หลายคนอาจมีความหวังและมองในแง่ดี แต่ ณ ปลายปี 2022 ผู้เชี่ยวชาญก็เห็นตรงกันว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2023 ไม่มีทางจะเป็นอย่างอื่นนอกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือเรียกว่า Recession
ทีนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าแบบนี้ ตลาดขาลงกับเศรษฐกิจถดถอยต่างกันอย่างไร
อธิบายง่าย ๆ ตลาดขาลง เป็นคำของภาคการเงิน คือมันหมายถึงภาวะที่สินทรัพย์ที่พูดถึง (เช่น หุ้น คริปโต) มีแนวโน้มรวม ๆ ราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาวะนี้ อาจไม่เกี่ยวอะไรกับภาคเศรษฐกิจจริงก็ได้ คือเราจะไม่เห็น “ตลาดขาลง” บนท้องถนน หรือในตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่าง ๆ
แต่เศรษฐกิจถดถอย คือ ภาวะที่ผลผลิตมวลรวมประชาชาติหรือ GDP ติดลบกันเกิน 2 ไตรมาส ซึ่งสิ่งที่เราจะเห็นได้บนท้องถนนคือ ผู้คนพากันประหยัด ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย และเศรษฐกิจซบเซา
ภาวะแบบนี้เราอาจ “เห็น” บ่อย ๆ แต่ภาวะนี้จะถูกจัดเป็นเศรษฐกิจถดถอยได้ ทั่ว ๆ ไปคือมันต้องเกิดขึ้นต่อเนื่องเกินครึ่งปี เกิดขึ้นแวบ ๆ แค่เดือนสองเดือน หรือกระทั่ง 3-4 เดือนก็ยังไม่นับ
เราคงจะไม่พูดถึง “สาเหตุ” ของเศรษฐกิจถดถอยในที่นี้ เพราะนั่นเป็นหนังสือเล่มใหญ่ ๆ เล่มหนึ่งเลยทีเดียว แต่ประเด็นในที่นี้ก็คือ ในฐานะ “นักลงทุน” รายย่อยรายหนึ่ง เราจะทำอย่างไร?
คำตอบอาจขึ้นอยู่กับแนวทางการลงทุน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการลงทุนลักษณะนิสัยและความถนัด
ถ้าเป็นคนอายุน้อย ๆ ลงทุนระยะยาวเพื่อวัยเกษียณ และมีเป้าหมายในการ “ถัว” การลงทุนก้อนละเท่า ๆ กันเรื่อย ๆ ทุกเดือน (ที่เรียกกันว่า แนว DCA) ก็บอกเลยว่า ไม่ต้องไปสนใจเศรษฐกิจถดถอย เพราะช่วงนี้ มองอีกด้าน สินทรัพย์ทางการเงินทั้งหมดราคาถูก มันคือช่วงราคาหุ้นหรือกระทั่งคริปโตราคาถูก ถ้าเรามองมันในสเกล 10-20 ปี ดังนั้น ไม่ต้องสนไม่ต้องแคร์ เราทำงานของเราไป แล้วเอาเงินไปลงทุนอย่างมีวินัย เศรษฐกิจถดถอยเป็นเรื่องเล็กมาก ถ้ามองในสเกลแบบ 10 ปี เพราะปกติมันไม่ถดถอยเกิน 2-3 ปี
แต่ทีนี้ ถ้าเราไม่ใช่นักลงทุนสายนี้ แต่เป็นสายที่จริงจังว่าเงินทุนในมือของเราต้องทำให้ได้มากที่สุดตลอดเวลา เราอาจต้องทำอีกแบบ
อย่างแรกสุดเลย คือเราต้องมั่นใจก่อนว่าเราจะสามารถ “รับรู้” ภาวะเศรษฐกิจถดถอยก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่ เพราะในตลาดนี้ถ้าใครเคลื่อนช้าสุดก็อาจจะแทบไม่ได้อะไรเลย ซึ่งถ้าทำแบบนี้ไม่ได้ ตลาดการเงินอาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับเรา
ถ้าทำได้ สิ่งต่อมาคือเข้าใจ “ธรรมชาติ” ของพฤติกรรมคนในภาวะตลาดแบบนี้
ทั่ว ๆ ไป “ตามตำรา” เขาจะมองว่า ในตลาดถดถอย คนจะหนีจาก “สินทรัพย์ความเสี่ยงสูง” ไปยัง “สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ” ซึ่งจะเป็นแบบไหนก็คงจะแล้วแต่ความถนัด
แบบเบสิกเลยคือ คนจะหันมาถือเงินสดและทองคำ ซึ่งเงินสดก็ต้องดูดี ๆ เพราะ ณ ปี 2022 มันเห็นชัดเลยว่าเงินสดที่ควรจะถือคือดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เพราะมูลค่ามันแข็งเหลือเกินเมื่อเทียบกับสกุลอื่น
แบบซับซ้อนคือ คนจะนิยมถือพวกตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำ อย่างเช่นพวกพันธบัตรรัฐบาล หรือพวกหุ้นกู้บริษัทแบบเกรดดีมาก ๆ ซึ่งของพวกนี้ถ้าเราซื้อได้ก็ดี แต่ปกติถ้าเราเป็นนักลงทุนรายย่อย การซื้อของพวกนี้ก็ไม่ง่ายนัก
ซึ่งนี่นำมาสู่อีกแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้นั่นคือ การถือหุ้นของพวกบริษัทใหญ่ ๆ ที่ขายพวก “สินค้าจำเป็น” เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคที่เศรษฐกิจตกอย่างไรคนก็ยังบริโภค ทั่ว ๆ ไปราคาหุ้นพวกนี้จะไม่ค่อยตกในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ และบางทีอาจขึ้นด้วยซ้ำ เพราะคนแห่กันมาซื้อ โดยเฉพาะหุ้นที่มีประวัติการจ่ายปันผลแบบสม่ำเสมอแม้ “เศรษฐกิจไม่ดี”
นี่คือแนวทางการจัดพอร์ตพื้นฐานยามเศรษฐกิจถดถอยจากง่ายไปยากเลย นึกอะไรไม่ออกก็ถือเงินสกุลที่แข็ง ๆ แอดวานซ์หน่อยก็คือพวกตราสารหนี้เกรดดี หรือแบบยากเลยก็ไปถือหุ้นบริษัทที่มั่นคงรายได้ไม่ลดแม้ยามเศรษฐกิจไม่ดี
นี่เป็นแนวทางรวม ๆ ที่จะเหมาะกับคนที่ “ขยันปรับพอร์ต” ตามสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งก็ต้องเน้นว่าคนจะมาแนวนี้ ต้องแม่นจริง คือถ้าเศรษฐกิจตกต่ำจบและเริ่มกลับมาโตปกติแล้ว ก็ต้องรู้ตัวและปรับพอร์ตอีกรอบเป็นสไตล์ตลาดขาขึ้น ซึ่งองค์ประกอบก็อาจมีพวกหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเยอะ ๆ และมีคริปโตเสริมด้วยตามสมัยนิยม
ซึ่งตรงนี้แหละที่ “ปราบเซียน” จริง ๆ เพราะทุกคนรู้หมดว่าหลักการลงทุนที่ดีคือซื้อตอนราคาต่ำสุด และขายตอนราคาสูงสุด ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องดูอย่างไรว่าตอนไหนคือราคาต่ำสุด ซึ่งถ้าเราไม่มีไอเดียเลย ก็คือเรายังไม่พร้อมกับแนวนี้ และถ้าเราไม่พร้อม แต่เรามีเวลาลงทุนยาว ๆ การลงทุนแบบถัวไปตามแผนลงทุนระยะยาวโดยไม่ต้องดูภาวะเศรษฐกิจอะไรมาก ก็น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าที่จะทำให้เรา “ได้กำไร” จากการลงทุน แทนที่จะไป “ขาดทุน” เพราะดันไปเข้าตลาดตอนจุดสูงสุด และต้องยอม “Cut Loss” แบบขาดทุนในเวลาต่อมา
และสุดท้าย ก็ฝากไว้ว่าทุกคนก็อย่าเพิ่งท้อ ถ้าต้องตัดขาดทุนไปเยอะ ๆ ตราบที่เราเรียนรู้จริง ๆ จากความผิดพลาดของเราแบบที่เราจะวางมาตรฐานไม่ให้มันเกิดกับเราซ้ำอีก เพราะเชื่อเถอะครับ แม้แต่นักลงทุนระดับตำนานทั้งหลาย มันก็ไม่มีใครไม่เคย “พลาด” หรอก