ถ้าจะถามสูตรการเทรด แน่นอนนักเทรดแต่ละคนน่าจะมีสูตรต่างกัน อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักเทรดมืออาชีพมีร่วมกันโดยทั่ว ๆ ไปก็คือหลักการ “บริหารความเสี่ยง” ซึ่งแม้ว่ารายละเอียดมันเยอะ แต่ทั่ว ๆ ไปที่มีร่วมกันมันก็น่าจะเป็นเรื่องของ “ลิมิต” ของความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้จากการเทรด

กฎพื้นฐานของการเทรดแต่ละครั้งทั่ว ๆ ไปเขาจะเรียก กฎ 2% หรือกฎที่ว่า จะเทรดยังไงก็ได้ แต่ห้ามสูญเสียเงินเกิน 2% ของเงินที่ใช้เทรดทั้งก้อน (เน้น “เงินที่ใช้เทรด” นะครับ ไม่ใช่ “สินทรัพย์ทั้งหมดที่มี”)

ดังนั้นถ้าคุณมีก้อนเงินสำหรับเทรด 100,000 บาท กฎนี้ก็จะบอกว่าคุณจะเทรดยังไงก็ได้ แต่คุณต้องตั้ง Stop Loss ให้คุณไม่มีทางขาดทุนจากการเทรดนั้นเกิน 2,000 บาท ต่อการเทรด 1 ครั้ง เช่น ถ้าคุณแบ่งเงินมา
 เทรดในสินทรัพย์หนึ่ง 20,000 บาท คุณก็ต้องตั้ง Stop Loss ให้ขาดทุนไม่เกิน 10% เป็นต้น ซึ่งจะตั้ง Stop Loss ให้ขาดทุนน้อยกว่านั้นก็ไม่ใช่ปัญหา ประเด็นคือห้ามเกินนั้น

นี่คือกฎ 2% ซึ่งจริง ๆ มันก็มีการเถียงกันว่า 2% นี้มากหรือน้อยไป และก็น่าสนว่าถ้าเป็นเทรดเดอร์มือใหม่มักจะบอกว่าน้อยไป เพราะมันไป 3-5% ก็ได้ แต่ถ้าพวกมืออาชีพที่คร่ำหวอดมานาน ก็จะบอกว่ามันเยอะไป 1% ก็พอ ซึ่งนี่ก็สะท้อนมุมมองการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ต่างกัน และก็ชี้ให้เห็นว่าการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเป็นลักษณะของคนที่จะอยู่รอดในตลาดได้นาน ๆ จนเป็น “มืออาชีพ”

แต่ก็นั่นแหละ โดยรวม ๆ เขาเลยถือว่า 2% เป็นค่ากลางที่นักเทรดยอมรับร่วมกันว่าอย่าไปเสียในการ
 เทรดต่อครั้งเกิน 2%

อย่างไรก็ดี คำถามต่อมาก็คือ ถ้าเราดันเทรดไปเสีย 2% แล้วมันจะยังไงต่อล่ะ? เสียอีก 2% ได้ไหม? ควรจะเสียได้อีกเท่าไร? แล้วควรจะทำอะไรต่อ

นี่เลยนำเรามาสู่กฎ 6%

กฎ 6% นั้นคือกฎคร่าว ๆ ว่าในเดือนนั้น เราจะเทรดยังไงก็ได้ แต่ห้ามเสียเกิน 6% ของเงินเทรดตอนต้นเดือนเด็ดขาด ซึ่งถ้าใช้ตัวอย่างเมื่อกี้นี้ก็จะเห็นว่าเปิดเดือนมามีเงิน 100,000 บาท ซึ่งถ้าใช้ กฎ 6% ก็หมายความว่าเดือนนี้ จะเทรดยังไงก็ได้ แต่ห้ามเสียเกิน 6,000 บาทเด็ดขาด และก็อย่าลืมว่ากฎ 2% ของการเทรดต่อครั้งก็ยังทำงานอยู่ด้วย

ดังนั้นกฎ 6% ในทางปฏิบัติหมายถึงเราอาจกระจายเงินเทรดหลายก้อนกับหลายสินทรัพย์ก็ได้ โดยเงินแต่ละก้อน นั้นห้ามเสียเกิน 2% และถ้าจะเอาตัวอย่างเดิม เปิดเดือนมามีเงิน 100,000 บาท เราอาจลงทุนในสินทรัพย์อันหนึ่งเผื่อลุ้น 20,000 บาท และตั้ง Stop Loss แบบขาดทุน 10% แล้วขายทันทีได้ ส่วนสินทรัพย์อีกตัวเราค่อนข้างมั่นใจเลยลงเยอะกว่าตัวอื่นโดยลงไป 40,000 บาท ซึ่งก็ตั้ง Stop Loss แบบขาดทุน 5% แล้วขายทันที อีกอันหนึ่งมันเสี่ยงแกว่งลงแรง ๆ มาก แต่ก็น่าลุ้นว่าราคามันจะดีดขึ้นในระยะระดับสัปดาห์ เราก็อาจลงไป 10,000 บาท และตั้ง Stop Loss แบบขาดทุน 20% แล้วขายทันที

จะเห็นว่าเราเทรดพร้อมกัน 3 สินทรัพย์ แต่ละก้อน เรามีวินัยชัดเจนว่าจะไม่เสียเกิน 2% ของก้อนเงิน
 เทรดเรา ซึ่งก็เป็นการบริหารความเสี่ยงที่ถูกต้องตามตำรา

แน่นอน ถ้าสินทรัพย์ราคาพุ่ง เราก็เลื่อน Stop Loss ขึ้นตามไป หรือไม่ก็ขายเลยอันนี้แล้วแต่วิจารณญาณ

แต่ถ้าราคาของทั้ง 3 สินทรัพย์ตกหมดจนเราขายไปอัตโนมัติตาม Stop Loss และทำให้เราขาดทุนไป 6,000 บาทในทันทีล่ะ? จะทำไงต่อ

คำตอบคือ หยุดเทรดไปทั้งเดือนครับ ใช่ครับต้องหยุด ปัญหาของ “มือใหม่” คือ ยิ่งเจ๊งยิ่งอยากรีบถอนทุน และนั่นจะทำให้ยิ่งเจ๊ง สำหรับ “มืออาชีพ” การเทรดพลาด 3 ครั้งติด เราต้องกลับมาตั้งหลัก พยายามทำความเข้าใจความผิดพลาด และวางกลยุทธ์สำหรับรอบเทรดครั้งต่อไปให้ไม่พลาดอีก ซึ่งทั้งหมดมันก็ต้องทำควบคู่กับการ “สงบสติอารมณ์” ด้วย ซึ่งก็คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก ถ้าเราเทรดด้วยอารมณ์โอกาสเละต่อเนื่องไปยาว ๆ มันมีสูงมาก

นี่ทำให้รอบเดือนถัดไป เราเหลือหน้าตักเทรดแค่ 94,000 บาท ซึ่งเราก็คำนวณว่าเราเสียได้ไม่เกิน 2% ต่อครั้งจากยอดนี้ และเสียได้ไม่เกิน 6% ทั้งเดือนจากยอดนี้ และทุกอย่างก็เหมือนเดิม วนกันไป

จะเห็นว่าจริง ๆ กฎ 2% และ 6% มันไม่มีอะไรเลย เข้าใจง่ายมาก แต่ในความเป็นจริง ความยากมันเป็นเรื่องของการฝึกจิตใจมากกว่า เพราะ “มือใหม่” น้อยคนจะควบคุมตัวเองไม่ให้พยายามรีบถอนทุนคืนได้ถ้าเทรดพลาดไป 3 ครั้งติด และสินทรัพย์ในการเทรดหายไปเกิน 5%

และนี่ก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่ตำราการเทรดหลาย ๆ เล่มสอนแต่แรก ๆ ว่าสิ่งสำคัญที่สุดในระยะยาวไม่ใช่การอ่านกราฟหรือจังหวะอะไร แต่เป็นการควบคุมจิตใจขณะอยู่ในตลาด เพราะนักเทรดมืออาชีพจำนวนไม่น้อยก็ยืนยันตรงกันว่า คนที่เทรดไม่พลาดเป็นหลายสิบรอบจนย่ามใจ ไม่ระวัง ไม่มีวินัยในการตั้ง Stop Loss แล้วไป ๆ มา ๆ ตลาดพลิกเป็นขาลง เทรดไปรอบเดียว กำไรที่ทำมาหายหมด กลายเป็นขาดทุนก็มีมานักต่อนัก

และสิ่งที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียมันก็คือกฎ 2% และ 6% ที่ว่ามานี่แหละครับ

 

Ref.

https://www.investopedia.com/investing/limiting-losses/