ในโลกของคริปโต เราจะได้ยินบทบาทของธนาคารกลางในฐานะ "ผู้ร้าย" ตัวทำเงินเฟ้อบ่อยมาก ซึ่งก็แน่นอนสำหรับคนปกติทั่วไป (และนักเศรษฐศาสตร์) ก็จะพูดถึงความดีงามของธนาคารกลางกัน และมองว่าบทบาททางการเงินของธนาคารกลางเป็นสิ่งที่เสียมากกว่าดีนั้นเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อของพวกอนาธิปไตยทางการเงินอย่างพวกผู้นิยมคริปโต
ในความเป็นจริง มันมีประเทศที่ไม่เคยมีธนาคารกลางเลยตั้งแต่ตั้งประเทศมาเป็นร้อยปี ประเทศที่ว่าคือปานามา และนี่คือประเทศที่เป็นเหมือนสนามทดลองและบทพิสูจน์เลยว่าธนาคารกลางจำเป็นแค่ไหน และข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศนี้มี "รายได้ต่อหัวแบบปรับค่าครองชีพแล้ว" มากกว่าไทยเกือบสองเท่า และไม่เคยมีวิกฤติเศรษฐกิจหรือวิกฤติค่าเงินใด ๆ เลย แถมเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพสุด ๆ มันก็ดูจะเป็นคำตอบบางประการว่าจริง ๆ โลกนี้อาจไม่ต้องการธนาคารกลางอย่างที่คิด
แต่เราอาจต้องไปที่จุดเริ่มก่อน
ปานามาเป็นชาติที่แยกตัวออกจากโคลอมเบียในปี 1903 พร้อม ๆ กับการขุดคลองปานามาที่เป็นเส้นทาง "ลัด" ให้คนข้ามไปมาระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับแอตแลนติกได้ ซึ่งปานามาแยกตัวได้เพราะสหรัฐอเมริกา มันเลยทำให้คนปานามามีทัศนคติที่ดีต่ออเมริกา และใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็นสกุลเงินประจำชาติมานับแต่นั้น และโดยทั่วไป เงินในประเทศถ้าเป็นแบงก์ใหญ่ ๆ ก็จะใช้เงินสหรัฐเลย แต่พวกเหรียญเล็ก ๆ ก็จะมีการปั๊มออกมาเองบ้าง แต่เงินทั้งหมดมันอยู่ในระบบที่ค่าเงินบัลบัวถูกตรึงไว้ที่ 1 บัลบัว = 1 ดอลลาร์สหรัฐตลอด มันจะไม่มีการสร้างเงินมาลอย ๆ
ผ่านมาจากการมีเอกราช 100 กว่าปี ปานามาก็เป็นประเทศที่ไม่ได้ต่างจากประเทศกำลังพัฒนาทั่วไปในช่วงสงครามเย็นที่โลกการเมืองคือวังวนของรัฐบาลคอร์รัปชันและการรัฐประหาร ซึ่งกว่าการเมืองจะนิ่ง ๆ ก็เพิ่งในช่วง 1990s นี้เอง
และความน่าสนใจคือ เนื่องจากไม่มีสกุลเงินของตัวเองอย่างเป็นทางการ ประเทศนี้จึงไม่เคยมีธนาคารกลาง ไม่เคยมีนโยบายการเงิน ทุกอย่างถูกกำหนดด้วยระบบตลาด แต่มันกลับทำให้ในทางการเงินประเทศนี้ไม่เคย "ล่มจม" เงินเฟ้อถล่มทลายดังเช่นอีกหลายประเทศในลาตินอเมริกา
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? จริง ๆ เคสปานามาเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ประการแรก เขาอธิบายว่า การที่ไม่มีธนาคารกลาง พวกธนาคารทั่ว ๆ ไปจะมีความระมัดระวังมาก ๆ ในการทำสิ่งต่าง ๆ เพราะถ้าขาดสภาพคล่องคือเจ๊งเลย มันไม่มีธนาคารกลางที่จะให้ยืมเงินแบบเร่งด่วน หรือกระทั่งจะมาอุ้มให้ธนาคารไม่ล้ม ซึ่งในความเป็นจริงธนาคารในปานามาก็มีล้ม แต่การล้มไม่เคยเป็นโดมิโนระดับทำเศรษฐกิจทั้งระบบรวนไปด้วย
หรือพูดง่าย ๆ มองในแง่นี้ การดำรงอยู่ของธนาคารกลางแบบประเทศอื่น ๆ มันคือปัจจัยทำให้พวกธนาคารดำเนินธุรกิจแบบ "เสี่ยงขึ้น" จนในที่สุดก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิจดังที่เป็นมาตลอดประวัติศาสตร์ แต่ปานามาไม่มีธนาคารกลาง มันเลยทำให้ธนาคารต่าง ๆ ในปานามามีการระมัดระวังควบคุมความเสี่ยงมากกว่าประเทศอื่นโดยอัตโนมัติ
แต่ปัจจัยที่น่าสนใจกว่าก็คือ ถ้าเทียบในภูมิภาคลาตินอเมริกา จริง ๆ เงินเฟ้อมันเกิดจากการที่ธนาคารกลาง "ปั๊มเงิน" มาให้รัฐบาลใช้ ซึ่งแม้ว่าการที่รัฐบาลไปบอกให้ธนาคารกลาง "ปั๊มเงิน" มันจะผิดหลักการบริหารธนาคารกลาง แต่สำหรับลาตินอเมริกา มันคือเรื่องปกติ ซึ่งนี่เลยทำให้วงจรที่รัฐมีเงินไม่พอใช้ ก็จะไปบอกให้ธนาคารกลางปั๊มเงิน และทำให้เกิดเงินเฟ้อในที่สุด มันแทบจะเป็นสูตรสำหรับของเงินเฟ้อระดับหายนะทั่วลาตินอเมริกาและประเทศกำลังพัฒนาอีกมาก
อย่างไรก็ดี นี่เป็นสิ่งที่ต่างไปสำหรับปานามา ประเทศนี้ ไม่มีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านธนาคารกลาง และใช้เงินดอลลาร์สหรัฐกันเป็นวัฒนธรรม ดังนั้นรัฐบาลเผด็จการเลวร้ายแค่ไหนมันก็ไม่มีการ "ปั๊มเงิน" มาใช้เอง เพราะมันขัดกับกรอบความคิดทางการเงินของคนในประเทศเกินไป และนี่ก็เลยทำให้ปานามารอดจากเงินเฟ้อที่เกิดทั่วไปในลาตินอเมริกา
หรือพูดง่าย ๆ การไม่มีธนาคารกลางนั้นมันทำให้พวกรัฐบาลเผด็จการต่าง ๆ ไม่มีเครื่องมือและกลไกในการ "ปั๊มเงินมาใช้ลอย ๆ" จนทำให้เกิดเงินเฟ้อนั่นเอง
ดังนั้น กล่าวรวม ๆ ก็คือ การไม่มีค่าเงินและธนาคารกลางของปานามามันทำให้ปานามาไม่สามารถมี "นโยบายการเงิน" ก็จริง แต่มันก็ทำให้ไม่มีธนาคารกลางไปเล่นบทบาทที่น่ากังขา เช่นการเอาเงินไปอุ้มธุรกิจธนาคาร ไปจนถึงการปั๊มเงินมาให้รัฐบาลใช้แบบลอย ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็แน่นอน คนจะบอกว่าไม่ใช่บทบาทที่ธนาคารกลางควรจะเล่น แต่ในความเป็นจริงมันก็เป็นเรื่องปกติที่ธนาคารกลางในประเทศตั้งแต่กำลังพัฒนาไปจนถึงประเทศที่พัฒนาแล้วจะทำใน "สิ่งที่ไม่ควรทำ" พวกนี้เช่นกัน และนี่เลยทำให้การไม่มีธนาคารกลางนั้นไม่ได้แค่ทำให้ปานามาไม่มี "นโยบายการเงิน" แต่มันยังเป็นการตัดโอกาสในการแทรกแซงทางเศรษฐกิจที่ไม่สมควรของธนาคารกลางไปด้วย
สุดท้าย สิ่งที่ไม่ลืมก็คือ การไม่มีสกุลเงินของประเทศก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้เงินสกุลอะไรก็ได้ แต่ปานามาใช้ดอลลาร์สหรัฐ ที่เป็นสกุลเงินที่ใช้กันมากสุดในการค้าระหว่างประเทศและถือว่าเป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพสูงสุดสกุลหนึ่งในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา และถ้าปานามาใช้เงินสกุลอื่น ผลก็อาจไม่เป็นแบบนี้ก็เป็นได้
Ref.
https://panamarelocationtours.com/panama-has-no-central-bank
https://www.investopedia.com/articles/forex/040915/countries-use-us-dollar.asp
https://en.wikipedia.org/wiki/Panamanian_balboa