ถ้าคุณเข้ามาสู่โลกสกุลเงินคริปโตมาลึกประมาณหนึ่ง คุณต้องได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “Proof-of-Work (PoW)” และ “Proof-of-Stake (PoS)” แน่นอน เพราะสิ่งเหล่านี้ติดตามตัวเหรียญคริปโตที่มีมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาดสองอันดับแรกอย่าง “Bitcoin (BTC)” และ “Ethereum (ETH) หลังจาก The Merge” ตามลำดับ แต่คุณรู้หรือเปล่าว่า ทั้งสองสิ่งนี้มันคืออะไร ทำไมคนถึงพูดถึงกันบ่อย มันแตกต่างกันอย่างไรถึงมีคนทั้งอวยยศ ทั้งวิจารณ์ต่าง ๆ นานา วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัย และให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกลไก “ฉันทามติ” ทั้งสองนี้กัน พร้อมกับเปรียบเทียบให้ดูกันแบบหมัดต่อหมัดกันเลย
ฉันทามติ Proof-of-Work และ Proof-of-Stake คืออะไร
อย่างที่แอบบอกใบ้ไปในข้างต้นแล้วว่า PoW และ PoS คือ “ฉันทามติ” หมายความว่า ทั้งสองเป็นกลไกที่จะช่วยให้ผู้ใช้ซื่อสัตย์ต่อการทำธุรกรรมผ่านการจูงใจให้รางวัลผู้ใช้ที่ดีและทำให้ผู้ใช้ไม่ดีกระทำการได้ยากมาก รวมถึงใช้ต้นทุนสูงหากริอ่านจะประพฤติมิชอบ ซึ่งทั้งสองกลไกนี้จะเกิดขึ้นบนบล็อกเชน โดยจะมีวิธีในการตรวจสอบธุรกรรมที่แตกต่างกันไป ซึ่งกระบวนการตรวจสอบธุรกรรมนี้มีชื่อเรียกกันเล่น ๆ ว่าเป็น “การขุดเหรียญ (Mining)” เนื่องจากเมื่อตรวจสอบธุรกรรมแล้ว จะได้เหรียญตามเครือข่ายนั้น ๆ มาเป็นรางวัล และผู้ตรวจสอบธุรกรรมทั้งหลายที่มีอุปกรณ์ในการดำเนินการหรือที่เรียกว่า “โหนด (Node)” จะถูกเรียกว่าเป็น “นักขุด (Miner)”
สำหรับ PoW นั้น การตรวจสอบธุรกรรมที่ผู้ใช้เครือข่ายส่งเงินหากันในเครือข่ายนั้น ๆ จะเป็นการให้นักขุดแข่งกันแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์อันซับซ้อน หากใครสามารถแก้ไขได้เป็นคนแรกก็จะได้สิทธิ์เข้าไปตรวจสอบธุรกรรมที่มีอยู่และได้รางวัลตอบแทนเป็นเหรียญไป
ปัญหาของกลไก PoW นอกจากกินพลังงานแล้วก็คือ การที่กลไกดังกล่าวยังไม่สามารถขยายการรองรับการทำธุรกรรมได้ ทำให้ใช้ระยะเวลาในการทำธุรกรรมมากขึ้น หลายคนจึงเสนอให้มีการเปลี่ยนขนาดของบล็อกและช่องทางการทำธุรกรรมนอกเชนของกลไก PoW แล้ว แต่ก็มีกระแสเสียงอีกฝ่ายมองว่า วิธีดังกล่าวแก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น และรังแต่จะเพิ่มความรวมศูนย์ให้แก่ระบบเข้าไปอีก
ในส่วนของ PoS นั้น นักขุดจะต้องล็อกเหรียญของตัวเองเอาไว้ในระบบก่อน ถึงจะได้สิทธิ์ในการตรวจสอบธุรกรรม ซึ่งระบบจะสุ่มนักขุดขึ้นมาตรวจสอบธุรกรรม โอกาสจะขึ้นอยู่กับจำนวนเหรียญที่ล็อกเข้าไปในระบบและระยะเวลาในการตรวจสอบธุรกรรม ยิ่งล็อกเหรียญเยอะเท่าไร ก็จะได้สิทธิ์ในการตรวจสอบธุรกรรมมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กลไกดังกล่าวก็มีด้านลบ เมื่อสิทธิ์ที่จะได้ตรวจสอบธุรกรรมขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ล็อก ทำให้คนที่มีต้นทุนสูงและอยู่ในระบบมานาน มีโอกาสมากกว่าคนที่มาทีหลังหรือมีต้นทุนน้อยแน่นอน
ศึกประชันเรื่องการใช้พลังงาน
ถือเป็นประเด็นใหญ่พอสมควรเลยทีเดียวสำหรับเรื่องการใช้พลังงานในสังคมอันตื่นรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า กลไก PoW ใช้อุปกรณ์ในการแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์ ซึ่งใช้พลังงานสูงมาก ทำให้หลายคนออกมาวิจารณ์ผลกระทบจากการขุดด้วยฉันทามตินี้ว่า ใช้พลังงานสูงและปล่อยมลพิษออกมามาก ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยมีการบันทึกไว้ว่า Bitcoin ใช้พลังงาน 130 เทราวัตต์ - ชั่วโมงต่อปี (TWh/yr) ในขณะที่ Ethereum (หลัง The Merge) ใช้พลังงานอยู่ที่ 0.0026 TWh/yr เท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2565)
เรื่องการสูบพลังงานจำนวนมากของ Bitcoin นี้ถึงกับทำให้ Elon Musk เจ้าของบริษัทยานยนต์ไฟฟ้า Tesla ที่คลั่งไคล้สกุลเงินคริปโตออกมายกเลิกการรับชำระเงินด้วย Bitcoin ของบริษัทเลยทีเดียว โดยยื่นข้อต่อรองว่า หากลดการปล่อยมลพิษได้ตามที่เขากำหนด เขาก็ “อาจจะ” กลับมารับชำระด้วย Bitcoin อีกครั้ง
ลานประลองความเสี่ยงในการถูกโจมตี
หนึ่งอุปสรรคสำคัญของกลไก PoW เลยคือ การโจมตีแบบ 51% Attack กล่าวคือ ถ้าหากมีคนหรือกลุ่มคนสามารถควบคุมพลังงานการขุดได้เกิน 50% ของเครือข่าย เข้าไปแก้ไขธุรกรรมบนเครือข่าย ทำให้เกิดการใช้จ่ายเหรียญซ้ำซ้อน (Double-Spending)
อย่างไรก็ตาม โอกาสในการประสบความสำเร็จในการโจมตีแบบ 51% Attack เกิดขึ้นได้น้อยมาก เพราะการจะเข้าควบคุมเครือข่ายด้วยการมีพลังงานการขุดเกินครึ่งหนึ่งจากโหนดที่กระจายอยู่ทั่วโลกจะต้องใช้ทรัพยากรและเวลามหาศาล โดยเฉพาะบล็อกเชนของ Bitcoin ที่มีนักขุดเยอะมาก ส่วนใหญ่ที่เสี่ยงโดนจะเป็นกลุ่มบล็อกเชนส่วนตัวหรือบล็อกเชนใหม่ ๆ ที่มีโหนดน้อย ๆ
ในส่วนของกลไก PoS นักขุดจะต้องล็อกเหรียญของตัวเองไว้ในระบบอยู่แล้ว ทำให้ผู้ที่จะโจมตีไม่กล้าเสี่ยงที่จะถูกยึดเหรียญไปหากประพฤติมิชอบ
รู้จักกลไกฉันทามติ PoW และ PoS กันไปแล้ว ทั้งข้อดีและข้อเสียของแต่ละกลไก ต้องบอกเลยว่า ไม่มีกลไกไหนที่สมบูรณ์แบบ ทุกกลไกมีจุดด้อยและจุดแข็งที่แตกต่างกัน คุณจะมองว่าอะไรดีกว่าขึ้นอยู่กับการใช้วิจารณญาณของคุณเอง