สินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Non-Fungible Token หรือ NFT เป็นสินทรัพย์บนเทคโนโลยีบล็อกเชนที่อนุญาตให้ผู้ถือครองใช้พิสูจน์ความเป็นเจ้าของในวัตถุชิ้นใดชิ้นหนึ่งได้ ไม่ว่าวัตถุชิ้นนั้นจะเป็นแบบดิจิทัลหรือจับต้องได้ก็ตาม ซึ่ง NFT แต่ละชิ้นก็จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไปและไม่สามารถลอกเลียนแบบได้

นอกจากนี้แล้ว NFT ยังสามารถนำไปซื้อขายในตลาดได้อีกด้วย เนื่องจากไม่ได้มีข้อผูกมัดอยู่กับคนหรือกลุ่มคนใด ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ถือครองสินทรัพย์ประเภทนี้จะเก็บไว้ทำเงินซะมากกว่าทั้ง ๆ ที่หลายคนเชื่อว่า NFT ยังมีประโยชน์อีกมาก โปรเจกต์ NFT ชื่อดังอย่าง CryptoPunks หรือ Bored Ape Yacht Club (ลิงขี้เบื่อ) ก็สามารถนำไปขายต่อในตลาดซื้อขายได้เป็นจำนวนหลายตังค์เลยทีเดียว ซึ่งทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สินทรัพย์ชนิดนี้จะถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อย ๆ 

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้มีอิทธิพลในวงการอินเทอร์เน็ตกระจายศูนย์ Web3 จึงคิดว่า ควรจะมีโทเคนที่ผูกติดกับตัวบุคคลซึ่งไม่สามารถนำไปซื้อขายได้เหมือน NFT โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ร่วมก่อตั้งบล็อกเชน Ethereum อย่าง Vitalik Buterin พร้อมด้วย นักเศรษฐศาสตร์ Eric Glen Weyl และนักกฎหมาย Puja Ohlhaver ได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจอันหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า Soulbound Token (SBT) เพื่อขยายขอบเขตโครงสร้างกระจายศูนย์ให้กว้างมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า SBT คืออะไร และทำงานอย่างไร


Soulbound Token (SBT) คืออะไร?

Soulbound Token เป็นโทเคนที่ไม่สามารถถ่ายโอนต่อได้ซึ่งทำหน้าที่แทนอัตลักษณ์ของบุคคลรายหนึ่งโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน โดย SBT อาจรวมถึงเวชระเบียน ประวัติการทำงาน หรือข้อมูลใด ๆ ก็ตามที่เป็นส่วนหนึ่งของคน ๆ นั้น นอกจากนี้ กระเป๋าเงินที่ถือหรือออก SBT จะมีชื่อเรียกว่า “Soul”

คน ๆ หนึ่งสามารถมี “Soul” หรือกระเป๋าเงินหลายใบได้ ซึ่งทำหน้าที่แทนส่วนต่าง ๆ ในชีวิตของคนเรา ตัวอย่างเช่น บุคคลหนึ่งสามารถมีทั้ง “Credentials Soul” และ “Medical Soul” ได้เพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงประวัติการทำงานและประวัติการรักษาโรคของเขาตามลำดับ ไม่เพียงเท่านั้น Soul ยังอาจหมายถึงบริษัทที่ออก SBT ได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัทสามารถทำหน้าที่เป็น Soul ที่ออก SBT ให้กับลูกจ้างแต่ละคนได้

แนวคิดดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดเป็นครั้งแรกโดย Buterin ในเดือนมกราคมปี 2565 โดย ณ ตอนนั้น เจ้าตัวอธิบายเอาไว้ว่า เกมแฟนตาซีชื่อดังอย่าง World of Warcraft มีไอเทมเด็ดอันหนึ่งที่เรียกกันว่า “Soulbound” ซึ่งเมื่อผู้เล่นได้รับมาแล้วจะไม่สามารถโอนหรือขายต่อให้กับคนอื่นได้ แนวคิดของไอเทมดังกล่าวก็จุดชนวนให้เขานำมาใช้กับบล็อกเชนในท้ายที่สุด

ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2565 สามสหายที่ประกอบด้วย Buterin, Weyl และ Ohlhaver ก็ได้เผยแพร่หนังสือชี้ชวน (Whitepaper) ที่ชื่อว่า “Decentralized Society: Finding Web3’s Soul (สังคมกระจายศูนย์: การตามหาจิตวิญญาณของ Web3)” ซึ่งเป็นการวางรากฐานของสังคมที่มีความกระจายศูนย์ (Decentralized Society: DeSoc) โดยสมบูรณ์ที่ปกครองโดยตัวของผู้ใช้เองและมี SBT ที่จะมาทำหน้าที่เป็นประวัติด้านต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้

อย่างที่เรารู้กันว่า NFT มักจะมีการซื้อขายเพื่อทำกำไร หรืออยู่ในการครอบครองของเหล่าเศรษฐีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือบ่งบอกสถานะทางสังคมของพวกเขาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ SBT จึงเกิดขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างประโยชน์ด้านอื่นนอกเหนือจากการเป็นเครื่องมือทำเงินหรือสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งเพียงอย่างเดียว ซึ่ง SBT จะเป็นโทเคนที่มีอันเดียวในโลกและไม่สามารถส่งต่อกันได้ โดย SBT จะทำหน้าที่แทนชื่อเสียงของบุคคล ขณะที่ NFT ทำหน้าที่แทนสินทรัพย์และทรัพย์สิน (Property) นอกจากนี้ SBT ยังไม่มีมูลค่าทางการเงินเหมือน NFT อีกด้วย


กรณีการใช้งานของ SBT

SBT สามารถนำไปใช้ในด้านการศึกษาได้ โดยทั่วไปแล้ว หลังจากที่นิสิตนักศึกษาสำเร็จการศึกษาเรียบร้อยแล้ว มหาวิทยาลัยก็จะมอบประกาศนียบัตรหรือหนังสือรับรองให้เพื่อเป็นการรับประกันว่า นิสิตนักศึกษาคนดังกล่าวได้สำเร็จการศึกษาจริงตามที่กล่าวอ้าง มหาวิทยาลัยสามารถรับบทเป็น Soul ที่ออก SBT ให้กับนิสิตนักศึกษาได้ ซึ่ง SBT ดังกล่าวก็จะประกอบไปด้วยประกาศนียบัตรหรือหนังสือรับรองเพื่อพิสูจน์ว่า เจ้าของโทเคนเคยเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยจริง กล่าวง่าย ๆ คือ SBT ทำหน้าที่เป็นหลักฐานในการเข้าร่วมชั้นเรียนนั่นเอง

นอกจากการใช้เป็นหลักฐานการเข้าเรียนแล้ว SBT ยังสามารถใช้เป็นหลักฐานการทำงานได้อีกด้วย ในทางทฤษฎี ผู้สมัครงานสามารถส่งหนังสือประวัติการทำงานและประกาศนียบัตรวิชาชีพไปให้กับบริษัทได้โดยใช้เพียงแค่ SBT ทางการเท่านั้น ซึ่งเป็นโทเคนที่ออกโดยบริษัทเก่าของผู้สมัครเอง

ไม่เพียงเท่านั้น ในทางทฤษฎี SBT ยังสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนหมอหรือโรงพยาบาลประจำตัวด้วย เนื่องจากโทเคนดังกล่าวจะเก็บข้อมูลการรักษาโรคของคนไข้ไว้แล้ว ทำให้คนไข้ไม่ต้องไปเสียเวลากรอกเอกสาร หรือยืนยันประวัติการรักษาโรคใด ๆ เมื่อเปลี่ยนหมอหรือโรงพยาบาล


อนาคตของ SBT

หนังสือชี้ชวน “Decentralized Society: Finding Web3’s Soul” กล่าวว่า Soul และ SBT จะทำหน้าที่เป็นรากฐานของสังคมกระจายศูนย์ โดยสังคมดังกล่าวจะเป็นอนาคตพหุนิยมที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและความสัมพันธ์ของมนุษย์จะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับตัวตนของคุณบน Web3

SBT สามารถช่วยแก้ปัญหาด้านความไว้วางใจใน Web3 ได้ด้วยการสร้างความเป็นต้นฉบับและชื่อเสียง โดย SBT ไม่สามารถโอนย้ายให้กันได้ จึงช่วยป้องกันไม่ให้บุคคลเข้ามาครอบงำระบบนิเวศจากการใช้อำนาจการซื้อหรือการหลอกลวงได้ ทั้งนี้ SBT ยังเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ ทำให้ไม่อาจบอกได้ว่า SBT และ NFT จะอยู่ร่วมกันได้หรือไม่จนกว่า DeSoc จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาให้เราได้เห็นกัน นอกจากนี้ ยังไม่อาจบอกได้ว่า SBT จะทำหน้าที่เป็นเหมือนบัตรประชาชนบน Web3 หรือไม่ เราต้องมาติดตามกันต่อไป