Stellar lumen (XLM) หรือจะเรียกว่า lumens ก็ได้ตามที่ท่านผู้อ่านจะสะดวก เป็นสกุลเงินคริปโตที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นลำดับที่ 25 โดยวัดจากมูลค่ารวมตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดย XLM มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับ XRP ที่พัฒนาโดยบริษัทด้านเทคโนโลยีการเงินอย่าง Ripple เนื่องจากสกุลเงินทั้งสองตัวนี้มีผู้พัฒนาคนเดียวกันซึ่งก็คือ Jed McCaleb (ผู้ก่อตั้งอดีตแพลตฟอร์มซื้อขาย Bitcoin ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Mt. Gox) อีกทั้งยังไม่สามารถขุดได้ แถมยังมีเป้าหมายที่ดูจะคล้ายกันด้วยนั่นคือ การอำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ดังนั้น บทความนี้จะพาไปรู้จักกับ XLM กันว่ามันคืออะไรกันแน่ และทำงานอย่างไร เหมือนกับ XRP จริงไหม


Stellar lumen (XLM) คืออะไร?

Stellar lumen (XLM) เป็นสกุลเงินคริปโตประจำเครือข่าย Stellar ซึ่งเป็นเครือข่ายเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) บนบล็อกเชนที่ผู้ใช้สามารถสร้าง ส่ง หรือซื้อขายสกุลเงินคริปโตประเภทต่าง ๆ ได้ โดย XLM จะถูกใช้สำหรับการทำธุรกรรมบนเครือข่าย Stellar ดังนั้น ตราบเท่าที่คุณจะใช้เครือข่าย Stellar คุณก็จะต้องมี XLM นอกจากนี้ เครือข่าย Stellar ยังถูกออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อกับผู้คนและสถาบันการเงินรอบโลกโดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านการสร้างระบบการชำระเงินสากลที่เข้าถึงง่าย ถูก และสะดวกต่อการใช้งานด้วย 


ประวัติความเป็นมาของ Stellar

หลังจากที่ Jed McCaleb กระทบกระทั่งกับนักพัฒนาคนอื่น ๆ ในเรื่องแนวทางการดำเนินงานของ Ripple ซึ่งเป็นบริษัทโพรโทคอลการชำระเงินที่เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง จนต้องถอนตัวออกไป ในปี 2557 เจ้าตัวก็ได้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Stellar ขึ้นมาร่วมกับอดีตทนายความ Joyce Kim ต่อมา Patrick Collision ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทสตาร์ตอัปด้านการชำระเงินอย่าง Stripe ก็ได้เข้าร่วมกับ McCaleb และ Kim เพื่อก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Stellar Development Foundation ที่คอยสนับสนุนการทำงานของเครือข่าย Stellar 

Stellar เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น ตอนที่ Mercado Bitcoin ประกาศว่าจะใช้แพลตฟอร์มของ Stellar ในเวลาเพียงไม่ถึง 1 ปี Stellar มีบัญชีผู้ใช้เกือบ 3 ล้านบัญชีเลยทีเดียว นอกจากนี้ Stellar ยังได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรที่ประกอบด้วยบริษัทด้านคริปโตและการเงินอย่าง Coinbase และ MoneyGram อีกด้วย


เกี่ยวกับ XLM

โดยทั่วไปแล้ว XLM มักจะใช้ในการจ่ายค่าธรรมเนียมธุรกรรมบนเครือข่าย Stellar ยิ่งไปกว่านั้น XLM ยังสามารถทำหน้าที่เป็นสกุลเงินกลางที่ช่วยให้ผู้ใช้เครือข่าย Stellar สามารถทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย 

โพรโทคอลประจำเครือข่ายจะแปลงเงินที่ผู้ใช้ส่งเข้ามาผ่าน Stellar ไปเป็น XLM โดยอัตโนมัติ จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นสกุลเงินอื่นตามที่ผู้ใช้ปรารถนา ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณส่งเงินดอลลาร์สหรัฐไปให้กับผู้รับในประเทศเม็กซิโก โพรโทคอลของ Stellar ก็จะเปลี่ยนเงินก้อนดังกล่าวเป็น XLM ต่อจากนั้นผู้รับก็จะได้รับเงินก้อนดังกล่าวเป็นสกุลเงินเปโซเม็กซิโก ซึ่งกระบวนการดังกล่าวกินเวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ใช้จะสามารถส่งและรับเงินได้อย่างง่ายดายไม่ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ที่ไหนในโลกใบนี้


XLM ทำงานอย่างไร?

เครือข่ายของ XLM อย่าง Stellar ทำงานอยู่บนโพรโทคอลที่เรียกว่า “Stellar Consensus Protocol” ซึ่งเป็นเครือข่ายเซิร์ฟเวอร์แบบกระจายศูนย์ที่ทำงานอย่างอิสระ โดยเครือข่ายเซิร์ฟเวอร์แบบกระจายศูนย์ดังกล่าวจะซิงค์และบรรลุฉันทามติร่วมกัน ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่าย Stellar และช่วยให้บัญชีแยกประเภท (Ledger) สามารถกระจายออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถึงกระนั้น Stellar ก็ไม่มีความกระจายศูนย์เท่ากับเครือข่ายบล็อกเชนที่ใช้กลไกฉันทามติแบบ Proof of Work (PoW) เช่น Bitcoin แต่อย่างใด ทว่าทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่านั่นเอง

แม้ว่า Codebase ดั้งเดิมของ Stellar จะคล้ายกับของ Ripple แต่ Stellar-Core ซึ่งเป็น Codebase อันใหม่จะค่อนข้างแตกต่างจากเดิม เนื่องจากใช้กลไกฉันทามติที่แบ่งแยกกันโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ เครือข่ายของ Stellar ยังต่างจากเครือข่ายของ Ripple ในแง่ของการแลกเปลี่ยนสกุลเงินด้วย โดยในกรณีของ Ripple ธนาคารจะทำงานร่วมกับแพลตฟอร์ม Ripple โดยตรงเพื่อส่งมอบบริการกลางที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่าง 2 สกุลและการส่งเงินไปให้ผู้ใช้ปลายทาง ขณะที่การแลกเปลี่ยนสกุลเงินของเครือข่าย Stellar จะมีความกระจายศูนย์มากกว่า เนื่องจากใช้ฟีเจอร์ที่ชื่อว่า “Anchors” โดย Stellar ระบุว่า “Anchors คือ องค์กรต่าง ๆ ที่ผู้คนไว้ใจให้ถือเงินฝากของพวกเขาและออกสินเชื่อ (Credit) ให้กับเครือข่ายแทนเงินฝากเหล่านั้น องค์กรพวกนี้ทำหน้าที่เป็นสะพานระหว่างเงินสกุลต่าง ๆ และเครือข่ายของ Stellar ธุรกรรมการเงินทั้งหมดในเครือข่าย Stellar จะอยู่ในรูปแบบของสินเชื่อที่ออกโดย Anchors”


XLM ต่างจาก XRP อย่างไร?

เครือข่ายของ XLM อย่าง Stellar และเครือข่ายของ XRP อย่าง Ripple นั้นมีจุดมุ่งหมายที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดย Ripple ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ธนาคารสามารถโอนเงินไปได้ทั่วโลกโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีและมีราคาถูก อาจกล่าวได้ว่า Ripple เกิดขึ้นมาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของธนาคารและระบบการเงิน ขณะที่ Stellar นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเจาะกลุ่มประชาชนคนทั่วไปโดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่สามารถเข้าถึงธนาคารได้ โดยแพลตฟอร์มของ Stellar เป็นช่องทางในการเข้าถึงระบบเศรษฐกิจโลกผ่านธุรกรรมการเงินที่มีราคาถูก สะดวก และรวดเร็ว ไม่เพียงเท่านั้น Codebase ของเครือข่าย Stellar ยังเป็นแบบ Open Source อีกด้วย ซึ่งหมายความว่า ทุกคนสามารถเข้าไปแก้ไขหรือดัดแปลงโค้ดได้ 

โครงสร้างองค์กรที่อยู่เบื้องหลัง XLM และ XRP นั้นก็แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดย Stellar Development Foundation ของ XLM นั้นเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ขณะที่ Ripple ของ XRP นั้นเป็นบริษัทที่แสวงหาผลกำไร ซึ่งทาง Stellar มีแผนที่จะหาเงินมาจ่ายค่าดำเนินกิจการผ่านการเก็บเหรียญ XLM ราว 5% ของอุปทานทั้งหมดไว้ใช้เอง รวมถึงยังรับบริจาคอีกด้วย 

ไม่เพียงเท่านั้น เครือข่ายของ Stellar ยังสามารถนำไปใช้สำหรับการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อนักลงทุนเป็นครั้งแรก (Initial Coin Offering: ICO) ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้บนเครือข่าย Ripple กล่าวคือ โปรเจกต์คริปโตใหม่ ๆ สามารถเข้ามาใช้บล็อกเชนของ Stellar เพื่อออกเหรียญของตัวเองได้ โดย Stellar มีค่าธรรมเนียมธุรกรรมถูกและสามารถทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ หลายบริษัทสตาร์ตอัปจึงเลือกใช้ Stellar ในการออกเหรียญของตน