คริปโตกับรัฐบาลดูจะไม่ถูกกัน แต่มันก็จริงเช่นกันที่รัฐบาลนั้นไม่ได้ตามตอแยคริปโตทุกสกุลเท่า ๆ กัน แน่นอน ตอนนี้หลากหลายรัฐบาลในโลกก็ตระหนักแล้วว่าตัวคริปโตพี่ใหญ่อย่าง Bitcoin ไม่ได้เล่นงานง่าย ๆ เพราะจะหาตัว “ผู้สร้าง” อย่าง Satoshi Nakamoto มายังไม่มีปัญญาเลย และรัฐก็เลยพยายามจะถล่มตลาดคริปโตด้วยวิธีอื่น และนี่ทำให้ “เป้าใหญ่” ของการโจมตีนั้นคือคริปโตสกุล Tether

พูดถึง Tether หลายคนอาจไม่คุ้น แต่ถ้าพูดถึง USDT นักเทรดหลายคนคงอ๋อ เพราะนี่คือสกุลเงินที่มีมูลค่าเท่ากับดอลลาร์สหรัฐที่ใช้เทรดกันในเว็บ

ถ้าจะเล่าย่อ ๆ USDT นั้นถือเป็น คริปโตกลุ่มที่เรียกรวมๆ ว่า Stablecoin หรือคริปโตกลุ่มที่พยายามจะทำให้มูลค่าคงที่โดยอิงกับสกุลเงินจริง ๆ ซึ่ง “เจ้าของ” คริปโตพวกนี้ก็จะอ้างว่า คนมี “เงินจริง” มาหนุนหลังคริปโตที่ออกมาให้เทรดในท้องตลาด

Tether หรือ USDT เป็น Stablecoin สกุลแรกที่แจ้งเกิดในโลกคริปโต ซึ่งมันเป็นผลผลิตของบริษัทสัญชาติฮ่องกงชื่อ iFinex ที่เปิดเว็บเทรด Bitfinex มาในปี 2012 และเพิ่ม Tether เข้าไปให้เทรดในปี 2015 ดังนั้น ถ้าใครเข้าตลาดตอนที่ Bitcoin แจ้งเกิดเมื่อปี 2017 ก็จะเห็นว่า Tether เป็นสื่อกลางการเทรดเรียบร้อยแล้ว และหลังจากนั้น Tether ก็ขยายตัวเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมีมูลค่าตลาดเป็นรองแค่ Bitcoin กับ Ethereum หรือมีเงิน Tether มูลค่ากว่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไหลเวียนอยู่ในตลาด

ซึ่งถ้าเป็นไปตามที่ Tether อ้างว่ามีเงินเหรียญสหรัฐมาแบ็คจริง นี่หมายความว่า Tether มีเงินในมือระดับเดียวกับธนาคารใหญ่ ๆ ของอเมริกาแล้ว มันใหญ่ขนาดนั้นแล้ว แต่ความต่างคือ Tether ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายใด ๆ ที่ใช้กำกับดูแลธนาคาร

ที่นี้หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้า Tether มีหน้าที่แค่ ออกคริปโตที่มีมูลค่าเท่ากับเงินสหรัฐที่มีอยู่ในมือแล้ว Tether ได้ประโยชน์ยังไงกับการทำแบบนี้? คำตอบคือจริง ๆ แล้ว Tether มีวิธีหาเงินคล้ายธนาคารชาติ คือมีเงินอยู่ในมือ ก็เอาไปฝากธนาคารเอาดอกเบี้ยบ้าง เอาไปปล่อยกู้ความเสี่ยงต่ำการผ่านการซื้อพันธบัตรระยะสั้นบ้าง ผลตอบแทนจากการ “ลงทุน” ความเสี่ยงต่ำพวกนี้ แน่นอนคิดเป็น % มันน้อยมาก แต่คิดว่านี่คือเงินระดับ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แค่ผลตอบแทน 0.1% แบบบัญชีออมทรัพย์ ดอกเบี้ยปีนึงก็คือเงิน 60 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว มันมหาศาล!

ซึ่งตรงนี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง Tether เองก็ออกมายืนยันโดยเอาสินทรัพย์มาเปิดให้ดูก็พบว่ามีเงินสดในมือเพียง 2.9% เท่านั้น ที่เหลือถ้าไม่ไปฝากธนาคารเอาดอกเบี้ย ก็เอาไปปล่อยกู้อย่างที่ว่า

ในแง่นี้ เราก็จะเห็นว่าจริง ๆ แล้ว Tether นี่เหมือนธนาคารเลย ลองคิดว่า USDT ในตลาดคือ “เงินฝาก” ก็ได้ คนถือ USDT ในมือนั้นจริง ๆ คือสามารถเอาไปแลกเงินสกุลเหรีญสหรัฐได้ตลอดเวลา (แม้ว่าจริง ๆ จะไม่มีใครทำแบบนั้น) Tether มีหน้าที่รับประกันตรงนี้ นี่คือหน้าที่ของบริษัทที่ทำ Stablecoin แต่ในความเป็นจริง เมื่อไม่มีใครจะ “เบิกเงิน” ออกจาก “ธนาคาร” ทาง “ธนาคาร” ก็ไม่เอาเงินกองไว้ให้เปล่าประโยชน์ แต่เอาไปฝากธนาคารอื่นเอาดอกเบี้ยบ้าง เอาไปปล่อยกู้บ้าง และนี่ก็คือธุรกิจปกติของธนาคารอยู่แล้ว

ประเด็นก็คือ Tether ไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายเป็นธนาคาร คือมันไม่ต้องผ่านการตรวจสอบบัญชีโหด ๆ แบบที่สถาบันการเงินโดน ไม่มีกฎหมายใด ๆ มาควบคุมด้วยว่าเงินสำรองขั้นต่ำต้องเป็นเท่าไร ฯลฯ หรือพูดง่าย ๆ Tether สามารถหาเงินแบบที่ธนาคารหาได้ โดยไม่ต้องมาเจอข้อกำหนดต่าง ๆ แบบที่ธนาคารโดน

อ่านมาถึงตรงนี้ใครพอเข้าใจเรื่องระบบเศรษฐกิจอาจขนลุกพอง แต่ถ้าใครงงเราก็ขออธิบายหน่อยว่าทำไม

คือกฎระเบียบต่าง ๆ ที่กำกับดูแลธนาคารและสถาบันทางการเงินที่เกิดขึ้นในโลก หลัก ๆ มันเป็นไปเพื่อเสถียรภาพทางการเงินในโลก พูดง่าย ๆ ก็คือ มันก็ต้องมีคนคุมไม่ให้ธนาคารเอาเงินไปปล่อยกู้ความเสี่ยงสูงมากเกินไป เพราะธนาคารล่มที เศรษฐกิจมีสิทธิ์พังเป็นโดมิโน

นี่คือเหตุผลที่ธุรกิจการเงินถูกคุมโหดกว่าธุรกิจอื่น ๆ หลายเท่าตัว

ที่นี้ลองนึกภาพ ถ้า Tether สามารถ “หาเงิน” แบบธุรกิจธนาคารได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตใด ๆ ไม่มีการควบคุมใด ๆ มีเหรอครับที่คนอื่น ๆ จะไม่ “เอาอย่าง” ซึ่งถ้าวันดีคืนดีคนเอาอย่างเยอะ ๆ มันก็เหมือนใครอยากจะเปิดธนาคารเองก็เปิดได้ และนั่นหมายความว่าระบบการเงินโลกก็จะเสี่ยงสุด ๆ เพราะทุกวันนี้ก็ชัดแล้วว่าโลกคริปโตมันไม่ใช่เล็ก ๆ แบบหลายปีก่อน มันเชื่อมโยงกับระบบการเงินกระแสหลักไปแล้ว หรือพูดง่าย ๆ ถ้าอะไรใหญ่ ๆ ในโลกคริปโตล้มลงไป มันส่งผลต่อระบบการเงินโลกทั้งระบบแน่ ๆ

นี่เป็นเหตุผลให้ Tether ถูกจับตามองมาก ๆ และทางอเมริกาก็ “หาเรื่อง” ตลอด ซึ่งก็ต้องเน้นว่า Tether คือบริษัทฮ่องกงนะครับ ไม่ใช่บริษัทอเมริกา ดังนั้นหน่วยงานกำกับการเงินของอเมริกาเลยไม่มีอำนาจในการควบคุมดูแลโดยตรง และนี่คือเหตุผลว่าทำไมหน่วยงานที่มาไล่บี้ Tether ไม่ใช่ ก.ล.ต. ของอเมริกา แต่จะเป็นพวกกระทรวงยุติธรรม หรือ ปปง. เลย

ล่าสุดปลายเดือนกรกฎาคม 2021 ทางกระทรวงยุติธรรมก็พยายามจะดำเนินคดี “ฉ้อโกง” กับตัวผู้บริหารของ Tether ซึ่งใครตามเรื่องพวกนี้ก็คงรู้ว่านี่เป็น “คดีการเมือง” ที่ต้องการจะให้ Tether สยบยอมอยู่ใต้เท้าของอำนาจของอเมริกา กล่าวคือ ถ้าเล่นบริษัทไม่ได้ ก็ไปเล่นผู้บริหารแทน และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ประหลาดอะไรของทางอเมริกาเลย

ทั้งนี้ อเมริกาก็ไม่ได้ห่วงแค่เสถียรภาพของระบบการเงินโลกเท่านั้น แต่ยังห่วงสุขภาพของเงินดอลลาร์สหรัฐด้วย เนื่องจากการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของ Stablecoin ในแง่หนึ่งก็คือการทำให้มีเงินดอลลาร์สหรัฐในระบบมากขึ้น หรือมันเป็นการ “ปั๊มเงิน” เข้ามาในระบบแบบเดียวกับที่ธนาคารกลางทำนั่นเอง หรือพูดง่าย ๆ มันไปแย่งบทบาทของธนาคารกลาง ซึ่งนี่ก็คือเรื่องใหญ่ และไม่แปลกที่ผู้ว่าแบงก์ชาติอเมริกาจะเกลียดคริปโตมาก ๆ

แต่คำถามที่พื้นฐานจริง ๆ มากกว่าเรื่องใครผิดใครถูกก็คือ “สุดท้ายแล้วรัฐบาลอเมริกาจะทำอะไรได้จริงเหรอ?” ในเมื่อโลกการเงินดั้งเดิมเขาคิดกันว่าพวกแบงก์ชาติไม่มีทางปล่อยให้คริปโตนั้นโตได้ แต่ประเด็นคือ ทั้ง ๆ ที่เกลียดขนาดนี้ ใช้อำนาจนอกศาลมาไม่รู้กี่ปี โลกคริปโตก็ยังไม่ถูกทำลาย แถมขยายตัวไปได้เรื่อย ๆ ด้วย

และมันอาจถึงเวลาแล้วที่เหล่าผู้กำกับดูแลทางการเงินจะต้อง “ยอมแพ้” ในการทำลายคริปโต และเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับ “สิ่งที่ควบคุมไม่ได้” เหล่านี้ พร้อมทั้งควบคุมแต่ในส่วนที่ตัวเองจะควบคุมได้ในพื้นที่ของตัวเอง

ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่ได้แปลกอะไรเลย เพราะรัฐก็สูญเสียอำนาจในการควบคุมการติดต่อสื่อสารไปรอบนึงแล้วตอนเกิดอินเทอร์เน็ต และนี่ก็เป็นเพียงภาคต่อที่รัฐจะสูญเสียอำนาจในการควบคุมกิจกรรมทางการเงินของผู้คนเท่านั้นเอง