ถ้าเราคุ้นเคยกับโลกคริปโต เราก็น่าจะคุ้นกับไอเดียที่ว่าสกุลเงินที่ออกโดยธนาคารกลางนั้นมีความเสี่ยง "เงินเฟ้อ" หรือการที่เงินไม่มีค่าเพราะมูลค่ามันหายไป จากการที่สินค้าและบริการที่จับจ่ายด้วยเงินสกุลนั้นแพงขึ้นถ้วนหน้า ซึ่งปรากฏการณ์นี้เราก็เห็นได้จริงตั้งแต่เวเนซุเอลาไปจนถึงซิมบับเว ที่มีภาวะเงินเฟ้อรัว ๆ จนคนในประเทศไม่เชื่อในค่าเงินของประเทศตัวเองแล้ว

อย่างไรก็ดี แม้ว่ากรณีพวกนี้จะจริงแบบเถียงไม่ได้ แต่ประเทศหนึ่งที่ทำแบบนี้มายาวนาน แต่เงินไม่เฟ้อคือสหรัฐอเมริกา และเราก็อาจบอกได้ว่าทุกวันนี้เงินเฟ้อในอเมริกาไม่ได้เกี่ยวกับการพิมพ์เงินเลย แต่เกิดจากปัจจัยอื่นอย่างการหยุดชะงักของการผลิตสินค้าและบริการในช่วงโควิด ที่ทำให้เงินในระบบไม่สมดุลกับปริมาณสินค้าและบริการในระบบ ซึ่งมันทำให้เงินเฟ้อทั้งโลกโดยไม่เกี่ยวกับว่ามีการ "พิมพ์เงิน" ออกมาหรือไม่

คำถามคือทำไมอเมริกา "พิมพ์เงิน" แล้วเงินไม่เฟ้อ? ก่อนจะไปเข้าใจตรงนั้น เราต้องเข้าใจคำว่า "พิมพ์เงิน" ก่อน

คือเวลาพูดถึง "พิมพ์เงิน" ในความเป็นจริงธนาคารกลางไม่ได้พิมพ์เงินออกไปแจกคน แต่ธนาคารกลางจะทำการซื้อ "พันธบัตรรัฐบาล" ของประเทศตัวเอง ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือให้รัฐบาลกลางยืมเงิน ซึ่งพอยืมเงินไป ก็มีเงินใช้มากขึ้น จะเอาไปทำอะไรก็ว่าไปตั้งแต่ สร้างสะพาน เยียวยาโควิด หรือเป็นสวัสดิการให้คนแก่ในประเทศ

หรือก็คือเวลารัฐบาลกลางมี "รายจ่าย" มากกว่า "รายได้" (ที่ปกติคือมาจากภาษีแทบจะล้วน ๆ) เขาจะเรียกว่าการใช้งบประมาณแบบ "ขาดดุล" ซึ่งทำแบบนี้ เงินก็จะไม่พอจ่าย รัฐบาลก็ต้องออก "พันธบัตรรัฐบาล" ซึ่งคือตราสารหนี้ที่มีการสัญญาว่าจะให้ดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่กำหนดเป็นการตอบแทนที่ทางเจ้าหนี้ให้กู้เงิน

ซึ่งพันธบัตรรัฐบาลใหญ่ ๆ จำนวนเงินที่รัฐบาลต้องการยืมนั้นมหาศาลมาก เช่น ในช่วงโควิดรัฐบาลสหรัฐใช้งบขาดดุลไปหลักล้านล้านเหรียญสหรัฐ นี่คือปริมาณที่ต้องออกพันธบัตรมาเพื่อให้รัฐบาลมีเงินใช้ ซึ่งถึงพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันจะดอกเบี้ยดีแค่ไหน มันไม่มีนักลงทุนเชิงสถาบันไหนจะมีเงินซื้อพันธบัตรขนาดนั้น สุดท้ายธนาคารกลางก็เลยต้องเป็นผู้เหมาซื้อไปหมด ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือธนาคารกลางก็เหมือนพิมพ์เงินให้รัฐบาลสหรัฐเอาไปใช้นั่นเอง

และจริง ๆ ก็ไม่ใช่แค่รัฐบาลสหรัฐ แต่ทุกประเทศที่ "พิมพ์เงิน" มาใช้ก็ทำแบบนี้ทั้งนั้น นี่คือกระบวนการมาตรฐาน

แต่คำถามคือ ทำไมประเทศอื่น ทำแบบนี้แล้วเงินเฟ้อหมด แต่สหรัฐอเมริกาดันทำแล้วเงินไม่เฟ้อ?

คำตอบน่าจะอยู่ที่ลักษณะพิเศษของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

จริง ๆ หลาย ๆ คนที่คุ้นเคยกับคริปโต ก็น่าจะเข้าใจถึงหลักการว่า สกุลเงินใด ๆ ในโลก มันจะมีมูลค่าหรือไม่ มันก็ขึ้นอยู่กับว่ามีคนต้องการใช้มันหรือไม่ และเชื่อมั่นในมูลค่ามันแค่ไหน

และคำตอบก็ง่าย ๆ เลย การที่เงินดอลลาร์สหรัฐไม่เฟ้อสักที มันก็เพราะดอลลาร์สหรัฐมีทั้งสามองค์ประกอบครบ คือเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลเงินอันดับหนึ่งที่ใช้กันในแวดวงการค้าระหว่างประเทศ หรือพูดง่าย ๆ มันคือเงินสกุลกลางที่ใช้ระดับนานาชาติ ไม่ได้ใช้แค่ในอเมริกา คือจะซื้อขายสินค้าล็อตใหญ่ ๆ ทางฝั่งผู้ขายไม่ว่าจะมาจากที่ไหนของโลกก็ยินดีรับเงินดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกัน หรือแม้แต่เวลาเราไปเที่ยว สกุลเงินเดียวที่น่าจะเอาไปใช้ได้แทบทุกพื้นที่ในโลก ก็คือดอลลาร์สหรัฐ (จริง ๆ บางพื้นที่คนอยากจะรับดอลลาร์สหรัฐมากกว่าเงินสกุลท้องถิ่นอีก)

ซึ่งความ "สากล" ของดอลลาร์สหรัฐ มันทำให้ใคร ๆ ก็อยากได้ จึงทำให้มูลค่าไม่ลด ซึ่งต่างจากสกุลเงินโบลิวาร์ของเวเนซุเอลา และดอลลาร์ซิมบับเว ที่ถูกพิมพ์ออกมาจากประเทศพวกนี้ มันก็เป็นแค่เศษกระดาษไม่มีมูลค่าเท่านั้น

และนี่แหละครับ "ความลับ" ว่าทำไมสหรัฐอเมริกาถึงพิมพ์เงินมาเพิ่มเรื่อย ๆ ได้ มันไม่ได้มีอะไรซับซ้อนอะไร เพราะสกุลเงินไหนที่ถูกใช้ในการค้าระหว่างประเทศทั้งโลก และมันเป็นที่ยอมรับระดับเอาไปใช้ที่ไหนก็ได้ มันก็สามารถจะ "ปั๊ม" ออกมาได้เรื่อย ๆ ทั้งนั้น

คำถามคือ มันจะมี "จุดจบ" ของนโยบายปั๊มเงินของธนาคารกลางสหรัฐหรือไม่? คำตอบเร็ว ๆ คือถ้าสถานะของดอลลาร์สหรัฐไม่เปลี่ยน "จุดจบ" ก็ไม่มี ธนาคารกลางก็จะปั๊มเงินมาให้รัฐบาลกลางสหรัฐเอาไปใช้ได้เรื่อย ๆ และการควบคุมเงินเฟ้อก็จะไม่ได้อยู่ที่ปริมาณการปั๊มเงิน แต่จะไปอยู่ที่การปรับลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแทน ดังที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ที่ธนาคารกลางสหรัฐทำอย่างต่อเนื่องเพื่อลดเงินเฟ้อ

ประเด็นคือ อย่างน้อย ๆ ในทางทฤษฎี การลดเงินเฟ้อทำได้ด้วยการ "หยุดปั๊มเงิน" แน่ ๆ และอเมริกาก็บอกให้ประเทศอื่นทำยังงั้น แต่ประเทศตัวเองกลับทำได้โดยเงินไม่เฟ้อ ด้วยเหตุผลที่ว่ามา

อย่างไรก็ดี ก็มีหลายฝ่ายคาดว่าจีนน่าจะเป็นประเทศที่มีบทบาทท้าทายสถานะของดอลลาร์สหรัฐได้ โดยคาดหวังว่า "เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง" ของจีน หรือ "ดิจิทัลหยวน" น่าจะมาเป็นสื่อกลางการค้าระหว่างประเทศทดแทนดอลลาร์สหรัฐได้บ้าง แต่อย่างไรก็ดีการขยายตัวก็เป็นไปอย่างช้า ๆ และก็ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่า "ดิจิทัลหยวน" จะสามารถมาท้าทายดอลลาร์สหรัฐได้

ซึ่งก็ว่ากันตรง ๆ พวก "เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง" นั้นมันไม่ใช่แค่สิ่งที่จะทำให้การ "โอนเงินข้ามประเทศ"   สามารถทำได้ง่ายเท่านั้น เพราะการใช้ธนาคารกลางคุมระบบนี้ มันสามารถสร้างเงื่อนไขการใช้เงินได้สารพัด เช่น บังคับให้เงินซื้อสินค้าและบริการได้บางหมวดเท่านั้น หรือต้องใช้ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจริง ๆ เราไม่ต้องไปจินตนาการถึง "เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง" ให้ซับซ้อนก็ได้ เพราะประสบการณ์ในการใช้เงินผ่านพวกโครงการอย่าง "คนละครึ่ง" ในแอปอย่าง "เป๋าตัง" ก็เป็นไปแบบที่ว่าเลย คือมันจำกัดว่าจะซื้ออะไรได้บ้าง และจำกัดช่วงเวลาใช้ได้

ซึ่งแม้ว่าอะไรแบบนี้มองในเชิงนโยบายการคลังมันทรงพลังมาก แต่มองในมุมผู้บริโภค "เงินที่มีเงื่อนไข" แบบนี้มันไม่มีใครอยากถือเอาไว้ เพราะความยืดหยุ่นมันสู้ "เงินสด" ไม่ได้เลย และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมพวก "เงินดิจิทัลของธนาคารกลาง" มันยากที่จะมาท้าทายสถานะของดอลลาร์สหรัฐซึ่งทั้งเป็นสากลและมีความยืดหยุ่นกว่า

และนี่ก็คงจะทำให้ธนาคารกลางอเมริกายังสามารถจะ "พิมพ์เงิน" ออกมาได้เรื่อย ๆ แบบไม่ต้องกลัวเงินเฟ้อ

 

Ref.

https://www.forbes.com/sites/williammeehan/2020/10/21/can-the-federal-reserve-print-money-forever-or-how-continuing-to-print-money-to-support-deficit-spending-may-end-badly-with-chinas-help/?sh=d46ee2958d4c

https://theconversation.com/why-we-cant-just-stop-printing-money-to-get-inflation-down-180016