การซื้อขายแลกเปลี่ยน Bitcoin (BTC) บนเครือข่ายบล็อกเชน Ethereum ก็เหมือนการเอาหัวเดินต่างเท้า ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยนอกเสียจากว่าเราจะมีไอเทมวิเศษมาสานฝันให้เป็นจริง ดังนั้น กระบวนการที่เรียกว่า “Wrapped Token” จึงเกิดขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ ว่าแต่ Wrapped Token มันคืออะไรกันล่ะ แล้วมันมีการทำงานอย่างไร? บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับ Wrapped Token กัน
Wrapped Token คืออะไร?
Wrapped Token เป็นโทเคนที่ทำหน้าที่แทนเหรียญคริปโตเหรียญหนึ่งบนบล็อกเชนที่โดยปกติแล้วไม่ใช่บล็อกเชนประจำเหรียญนั้น ๆ โดย Wrapped Token จะมีมูลค่าเทียบเท่ากับเหรียญคริปโตตัวที่มันทำหน้าที่แทน และยังสามารถนำไปแลกคืนเป็นเหรียญคริปโตดังกล่าวได้อีกด้วย
อย่างที่เรารู้มาบ้างว่า บล็อกเชนแต่ละบล็อกเชนมีระบบที่เป็นของใครของมัน หมายความว่า บล็อกเชนจะไม่สามารถติดต่อหรือถ่ายโอนข้อมูลไปมาหากันได้ ด้วยเหตุนี้ Wrapped Token จึงเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยให้บล็อกเชนต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้
นอกจากนี้ Wrapped Token ก็ยังมีความคลับคล้ายคลับคลากับสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Stablecoin อยู่หน่อย ๆ เนื่องจากมูลค่าของเหรียญประเภทนี้จะถูกนำไปตรึงกับมูลค่าของสินทรัพย์อื่น ตัวอย่างเช่น Stablecoin มักจะมีเงินตรา (Fiat) หนุนหลังอยู่ ในขณะที่ Wrapped Token มีสกุลเงินคริปโตของบล็อกเชนอื่นหนุนหลังอยู่
อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติสำคัญที่ทำให้ Wrapped Token เป็น Wrapped Token ไม่ได้มีเพียงแค่การตรึงมูลค่าไว้กับเหรียญคริปโตของบล็อกเชนอื่นในอัตรา 1:1 เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังและวิธีตรึงและคงมูลค่าของโทเคนประเภทนี้อีกด้วย เพราะฉะนั้น เราไปดูกันว่า Wrapped Token มีหลักการทำงานอย่างไร
Wrapped Token ทำงานอย่างไร?
ตามปกติแล้ว Wrapped Token จำเป็นต้องมีผู้ดูแลสินทรัพย์ที่ถือสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเทียบเท่ากับมูลค่าของตัวมันเอง ทั้งนี้ ผู้ดูแลสินทรัพย์อาจจะเป็นร้านค้า กระเป๋าเงินคริปโตแบบหลายลายเซ็น (Multisig Wallet) องค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Autonomous Organization: DAO) หรือสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ก็ได้
โดยในการออก Wrapped Token นั้น ร้านค้าจะส่งเหรียญคริปโตให้กับผู้ดูแลสินทรัพย์เพื่อให้บุคคลหรือองค์กรดังกล่าวนำเหรียญคริปโตไปล็อกไว้ในแพลตฟอร์มเก็บข้อมูลแบบดิจิทัล เมื่อเหรียญคริปโตถูกล็อกเอาไว้แล้ว ผู้ดูแลสินทรัพย์ก็จะสร้าง Wrapped Token ขึ้นมาแทนซึ่งทำหน้าที่แทนเหรียญคริปโตที่ถูกล็อกเอาไว้ โดยกระบวนการดังกล่าวเรียกว่า การสร้างโทเคน (Minting) นั่นเอง
ตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าผู้ใช้ต้องการใช้ 1 BTC บนเครือข่ายบล็อกเชน Ethereum ผู้ดูแลสินทรัพย์ของผู้ใช้ก็จะล็อก 1 BTC เอาไว้ในแพลตฟอร์มเก็บข้อมูลแบบดิจิทัล และออก 1 Wrapped Bitcoin (WBTC) ซึ่งเป็น BTC ในรูปแบบโทเคนที่ทำงานอยู่บนเครือข่ายบล็อกเชน Ethereum ให้กับผู้ใช้เพื่อนำไปใช้งานบนบล็อกเชน Ethereum
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าผู้ใช้ต้องการนำ Wrapped Token ไปแลกคืนเหรียญคริปโตดั้งเดิมของผู้ใช้ ผู้ใช้ก็จะสามารถทำได้เช่นกัน โดยร้านค้าจะส่งคำสั่งการเผาเหรียญไปให้กับผู้ดูแลสินทรัพย์ หลังจากนั้นผู้ดูแลสินทรัพย์ก็จะปล่อยเหรียญคริปโตดั้งเดิมคืนสู่ระบบ และ Wrapped Token ก็จะถูกเผาทิ้งในท้ายที่สุด โดยกระบวนการนี้เรียกว่า การเผาโทเคน (Burning) นั่นเอง
ข้อดีของการใช้ Wrapped Token
ถึงแม้ว่าบล็อกเชนแต่ละเจ้าจะมีมาตรฐานโทเคนเป็นของตัวเอง เช่น Ethereum มี ERC-20 ทว่ามาตรฐานโทเคนเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการรองรับบนเครือข่ายบล็อกเชนทุกเครือข่าย เพราะฉะนั้น Wrapped Token จะทำให้เหรียญคริปโตเหรียญหนึ่งสามารถทำงานบนบล็อกเชนต่างถิ่นได้
ไม่เพียงเท่านั้น Wrapped Token ยังสามารถเพิ่มสภาพคล่องและทำให้แพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตแบบกระจายศูนย์และรวมศูนย์สามารถใช้เงินทุนได้อย่างคุ้มค่าอีกด้วย เนื่องจากนวัตกรรมดังกล่าวจะทำให้เหรียญคริปโตในระบบมีการใช้งานอยู่เสมอ และลดการเก็บเหรียญไว้เฉย ๆ โดยไม่นำมาใช้
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว Wrapped Token ยังช่วยประหยัดเวลาและลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมของผู้ใช้อีกด้วย เนื่องจาก Wrapped Token สามารถทำงานอยู่บนบล็อกเชนประเภทต่าง ๆ ได้ ซึ่งรวมถึงบล็อกเชนที่มีค่าธรรมเนียมถูกและใช้เวลาประมวลผลธุรกรรมไม่นานด้วย
ข้อเสียของการใช้ Wrapped Token
การใช้ Wrapped Token ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจในผู้ดูแลสินทรัพย์ที่เก็บเหรียญคริปโตของผู้ใช้ ซึ่งปัจจุบันนี้ Wrapped Token ไม่สามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมข้ามบล็อกเชนได้อย่างแท้จริง เนื่องจากกระบวนการสร้างและเผาโทเคนจะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ดูแลสินทรัพย์ด้วย นอกจากนี้ กระบวนการออก Wrapped Token ยังมีราคาแพงและเกิดความผิดพลาดได้อีกด้วย