นับตั้งแต่บิตคอยน์ (Bitcoin: BTC) ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2552 โลกนี้ก็เปลี่ยนไปตลอดกาล โดยทำให้เกิดสินทรัพย์ประเภทใหม่อย่างสกุลเงินคริปโตขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุนและการเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งหลังจากบิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นมา ก็มีเหรียญคริปโตอื่น ๆ จำนวนนับไม่ถ้วนกำเนิดตามขึ้นมา อย่างไรก็ตาม บิตคอยน์ก็ยังครองเบอร์ 1 ของตลาดมาโดยตลอด โดยเป็นสินทรัพย์คริปโตที่มีมูลค่าและได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีศักยภาพสูงในการก้าวขึ้นมาเป็นสกุลเงินแห่งโลกอนาคต ในบทความนี้ เราจึงจะมาทำความรู้จักกับสกุลเงินคริปโตสกุลแรกของโลกสกุลนี้กัน

บิตคอยน์คืออะไร?

หนังสือชี้ชวน (Whitepaper) ของบิตคอยน์ให้คำจำกัดความของสกุลเงินคริปโตดังกล่าวว่าเป็น “เงินอิเล็กทรอนิกส์แบบระหว่างบุคคล (Peer to Peer: P2P) โดยทั้งหมด” ซึ่งจะทำให้ “การชำระเงินทางออนไลน์สามารถชำระได้โดยตรงจากฝ่ายหนึ่งไปยังอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่ต้องผ่านสถาบันทางการเงิน”

บิตคอยน์ทำงานอย่างไร?

บิตคอยน์นั้นไม่มีบุคคลหรือองค์กรใด ๆ ดูแลระบบอยู่เบื้องหลัง และธุรกรรมของบิตคอยน์ก็ไม่ต้องพึ่งตัวกลางมาดำเนินธุรกรรม ซึ่งต่างจากสกุลเงินตรา (Fiat) ที่มีธนาคารกลางเป็นผู้ควบคุม และเมื่อจะทำธุรกรรมทางไกลใด ๆ ก็ต้องทำผ่านตัวกลางอย่างธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงินเท่านั้น ในขณะที่บิตคอยน์นั้นทำงานบนเทคโนโลยีที่เรียกว่า “บล็อกเชน” ซึ่งเราก็ได้พาท่านไปทำความรู้จักแล้วในบทความก่อน โดยหากจะให้เปรียบเทียบ บล็อกเชนของบิตคอยน์ก็เปรียบเหมือนบัญชีแยกประเภท (Ledger) ของธนาคารที่บันทึกธุรกรรมการเงินต่าง ๆ เอาไว้ แต่จะแตกต่างตรงที่ใครก็สามารถดูประวัติการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนได้ อีกทั้งยังแก้ไขธุรกรรมได้ยากมากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ นั่นทำให้บิตคอยน์มีความโปร่งใส ปลอดภัย และไร้ตัวกลาง

ถ้าหากจะให้อธิบายการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนบิตคอยน์ให้เห็นภาพง่าย ๆ เราจะขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้ เมื่อนาย A ได้โอนบิตคอยน์จำนวน 1 BTC ให้กับนาย B นั่นจะเหมือนกับว่า นาย A ได้ไปจดบันทึกว่า เขาได้โอน 1 BTC ให้กับนาย B ลงบนกระดาษแผ่นหนึ่งที่ทุกคนสามารถมองเห็นได้ ต่อมา เมื่อนาย B จะโอน 1 BTC ดังกล่าวให้กับนาย C เขาจะสามารถตรวจสอบได้ว่านาย B มี 1 BTC จริง ๆ โดยการดูจากกระดาษจดบันทึกที่นาย A จดไว้ได้ ซึ่งกระดาษดังกล่าวก็คือบล็อกเชนของบิตคอยน์นั่นเอง 

เนื่องจากบล็อกเชนของบิตคอยน์ใช้ระบบตรวจสอบธุรกรรมแบบ Proof of Work ทำให้บล็อกเชนของบิตคอยน์มีผู้ทำหน้าที่เพิ่มธุรกรรมเข้ามาอยู่บนบล็อกเชนและตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมเหล่านั้น หรือที่เรียกกันว่า “นักขุดบิตคอยน์” เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกซึ่งต้องใช้กำลังไฟฟ้าในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์เพื่อตรวจสอบธุรกรรม โดยผู้ที่ตรวจสอบสำเร็จก็จะได้รางวัลตอบแทนจากเครือข่ายเป็นบิตคอยน์นั่นเอง ซึ่งใคร ๆ ก็สามารถมา “ขุดบิตคอยน์” ได้หากมีเครื่องขุดและกำลังไฟฟ้าพร้อม

ใครคือผู้สร้างบิตคอยน์?

บิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นมาโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto โดย Nakamoto ได้เผยแพร่หนังสือชี้ชวนของบิตคอยน์ในวันที่ 31 ตุลาคม 2551 และได้ขุดบล็อกแรก (Genesis Block) ของบิตคอยน์เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2552 ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของสกุลเงินคริปโตสกุลแรกของโลก

ทำไมบิตคอยน์ถึงเกิดขึ้นมา?

ในปี 2551 และ 2552 ธนาคารและสถาบันทางการเงินหลายแห่งทั่วโลกประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเงินจนทำให้รัฐบาลต่าง ๆ ต้องนำเงินภาษีเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งวิกฤตการณ์ดังกล่าวก็แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบการเงินแบบดั้งเดิม และยิ่งตอกย้ำความจำเป็นที่จะต้องทำให้บริการทางการเงินต่าง ๆ มีความกระจายศูนย์ คนจึงมองว่า บิตคอยน์นั้นถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ทางการเงินในครั้งนั้น และความจำเป็นต้องพึ่งพาธนาคารในการทำธุรกรรมเพียงอย่างเดียว

บิตคอยน์ใช้ทำอะไรได้บ้าง?

แม้ว่าบิตคอยน์จะเป็นที่นิยมใช้เป็นเครื่องมือในการลงทุนโดยการซื้อมาในราคาที่ถูกและขายในราคาที่แพงเพื่อทำกำไร แต่บิตคอยน์ก็ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกด้วย เช่น

  • ใช้เป็นเครื่องมือเก็บมูลค่า (Store of Value) คล้ายกับทองคำ ซึ่งก็มีคนหันมาใช้ประโยชน์จากบิตคอยน์ในเชิงนี้กันมากขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นคุณสมบัติหลาย ๆ อย่างของบิตคอยน์ เช่น ความกระจายศูนย์หรืออุปทานที่จำกัดที่ 21 ล้าน BTC อีกทั้งมูลค่าของบิตคอยน์ก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงแรก ๆ ที่สร้างขึ้นมานั้นแทบไม่มีค่า แต่มูลค่าก็เติบโตไปถึง 69,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 BTC เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา โดยหลายคนก็ยกให้บิตคอยน์เป็นสินทรัพย์ที่ใช้หลีกเลี่ยงอัตราเงินเฟ้อได้อีกด้วย
  • ใช้ส่งมูลค่าข้ามประเทศ ตามจุดประสงค์ที่บิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีอย่าง Lightning Network ที่ทำให้ส่งบิตคอยน์ได้รวดเร็วขึ้นด้วยค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ต่ำ
  • ใช้ชำระเงินค่าสินค้าและบริการทั่วไป แม้ว่าบิตคอยน์จะยังไม่สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการที่ไหนก็ได้บนโลก แต่ก็มีร้านค้าหลายร้านที่เริ่มรับชำระเงินด้วยบิตคอยน์แล้ว เช่น McDonald’s, Overstock, Home Depot, Virgin Airlines ฯลฯ รวมถึงยังมีรัฐบาลบางประเทศที่รับรองให้บิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแล้วอีกด้วย เช่น ประเทศเอลซัลวาดอร์

จุดเด่นของบิตคอยน์

จุดเด่นอย่างหนึ่งของบิตคอยน์นั้นก็คือ ความกระจายศูนย์ เนื่องจากบิตคอยน์นั้นไม่มีตัวกลางใด ๆ มาควบคุมดูแลระบบหรือกำหนดนโยบายต่าง ๆ ของเครือข่าย ต่างจากสกุลเงินคริปโตส่วนใหญ่ที่จะมีนักพัฒนาหรือทีมงานที่อยู่เบื้องหลัง นั่นทำให้บิตคอยน์เป็นสกุลเงินคริปโตที่มีความกระจายศูนย์มากที่สุดในโลก ส่วนจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือความปลอดภัย การจะแฮกบิตคอยน์นั้นสามารถทำได้ในทางทฤษฎีโดยกระทำการที่เรียกว่า 51% Attack ซึ่งก็คือการเข้ามาขุดบิตคอยน์โดยที่ต้องมีกำลังขุดมากกว่า 50% ของกำลังขุดทั้งหมดในระบบ โดยในทางปฏิบัตินั้นแทบไม่มีทางเป็นไปได้ เนื่องจากนักขุดบิตคอยน์นั้นกระจายตัวอยู่ทั่วโลก และมีกำลังขุดรวมกันมหาศาล ทำให้บิตคอยน์แฮกได้ยากมาก และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีประวัติการถูกแฮกใด ๆ อีกด้วย