เป็นที่ทราบกันดีว่า Bitcoin (BTC) เป็นสกุลเงินคริปโตอันดับ 1 ที่ได้รับความนิยมและการยอมรับมากที่สุด ณ ปัจจุบัน ทว่าอดีตที่ผ่านมาของเหรียญคริปโตเจ้าตลาดรายนี้ก็ไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ โดยเมื่อช่วงปี 2559 ถึง 2560 เครือข่าย Bitcoin มีปัญหาเรื่องการขยายการรองรับปริมาณธุรกรรม (Scalability) ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่แพง และการยืนยันธุรกรรมที่ใช้เวลานาน ทำให้คนในชุมชน Bitcoin ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย Bitcoin Cash (BCH) จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวของ Bitcoin ซึ่งในปัจจุบัน BCH ก็กลายมาเป็นเหรียญคริปโตที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเหรียญหนึ่งเลยทีเดียว โดยมีมูลค่าสินทรัพย์รวมตามราคาตลาดอยู่ที่ 2,165,217,082 ดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นอันดับที่ 26 ของตลาด และมีปริมาณการซื้อขายในรอบ 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 179,971,985 ดอลลาร์ แล้ว Bitcoin Cash คืออะไร ทำไมมาได้ไกลขนาดนี้ แล้วดีกว่า Bitcoin หรือไม่ บทความนี้จะพาทุกท่านไปหาคำตอบกัน

Bitcoin Cash คืออะไร?

จริง ๆ แล้วแนวคิดหลัก ๆ ของ Bitcoin Cash นั้นเหมือนกับ Bitcoin ทุกอย่างเลยก็ว่าได้ โดยเป็น “ระบบเงินสดอิเล็กทรอนิกส์แบบระหว่างบุคคล (Peer-to-Peer: P2P)” ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถส่งเงินทางไกลหากันได้โดยตรงโดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงินใด ๆ อีกทั้งรัฐบาลก็ไม่สามารถควบคุม ยึด หรืออายัดสกุลเงินดังกล่าวได้ (หากเก็บไว้ในกระเป๋าเงินแบบ Non-Custodial) โดยธุรกรรมต่าง ๆ ของ Bitcoin Cash ยังมีความโปร่งใส เนื่องจากตรวจสอบได้บนบล็อกเชน และยังไม่สามารถแก้ไขหรือปิดบังได้โดยตัวกลางใด ๆ รวมถึงยังมีอุปทานทั้งหมดอยู่ที่ 21 ล้าน BCH และใช้ระบบตรวจสอบธุรกรรมแบบ Proof-of-Work (PoW) เรียกได้ว่า พื้นฐานของ Bitcoin Cash ไม่ได้ต่างอะไรกับของ Bitcoin โดยหนังสือชี้ชวน (Whitepaper) ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ Bitcoin Cash ยังเป็นฉบับเดียวกับของ Bitcoin อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม Bitcoin Cash ก็มีลักษณะที่แตกต่างจาก Bitcoin อยู่เช่นกัน โดยมีข้อแตกต่างหลักคือเรื่องของขนาดบล็อก (Block) ขนาดบล็อกที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ของ Bitcoin Cash อยู่ที่ 32 MB ในขณะที่ขนาดบล็อกของ Bitcoin อยู่ที่ 1 MB ทำให้ Bitcoin Cash ประมวลธุรกรรมต่อวินาทีได้มากกว่าด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า Bitcoin โดยแพลตฟอร์มส่งเงินแบบ P2P ของ Bitcoin Cash มีค่าธรรมเนียมต่ำสุดถึง 0.01 ดอลลาร์ และประมวลธุรกรรมได้ไวแบบทันที ด้วยเหตุนี้ Bitcoin Cash จึงเหมาะกับการใช้โอนเงิน การค้าระหว่างประเทศ และใช้ทำธุรกรรมมูลค่าน้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน 

นอกจากนี้ Bitcoin Cash ยังรองรับสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) และแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Application: DApp) ในขณะที่ Bitcoin นั้นไม่รองรับ โดยตัวอย่าง DApp ที่อยู่บน Bitcoin Cash ได้แก่ โพรโทคอลผสมเหรียญคริปโตอย่าง CashShuffle และบริการเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับธุรกรรมอย่าง CashFusion เป็นต้น

ถึงกระนั้น ขนาดบล็อกที่ใหญ่ก็ถือเป็นข้อเสียอย่างหนึ่งของ Bitcoin Cash โดยทำให้การเก็บรักษาและตรวจสอบความถูกต้องของบล็อกจริงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และการดาวน์โหลดสำเนาของบล็อกเชนก็อาจเป็นปัญหาต่อผู้ใช้ อีกทั้งยังทำให้มีความปลอดภัยของเครือข่ายต่ำกว่า Bitcoin อีกด้วย

ประวัติของ Bitcoin Cash

ในช่วงปี 2559 ถึง 2560 เครือข่ายของ Bitcoin มีค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้นและมีความพึ่งพาได้ลดลงเรื่อย ๆ โดยมีสาเหตุมาจากการที่คนในชุมชนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการเพิ่มความจุของเครือข่ายได้ ซึ่งนักพัฒนาบางรายก็ไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยกับแผนการของผู้สร้าง Bitcoin อย่าง Satoshi Nakamoto โดยพวกเขามองว่า Bitcoin ควรเป็นเครือข่ายสำหรับใช้ชำระเงินมากกว่า 

ในปี 2560 ตัวชี้วัดที่บ่งบอกส่วนแบ่งในตลาดคริปโตของ Bitcoin อย่าง Bitcoin Dominance (BTCD) ก็ลดลงจาก 95% เหลือ 40% อย่างไรก็ตาม คนในชุมชน Bitcoin จำนวนมาก ซึ่งรวมไปถึงนักพัฒนา นักลงทุน ผู้ใช้ และธุรกิจต่าง ๆ ก็ยังเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ดั้งเดิมของ Bitcoin คือ การเป็นระบบเงินสดอิเล็กทรอนิกส์แบบ P2P ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำและคนทั่วโลกสามารถใช้งานได้

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมในปีเดียวกันนั้น Bitcoin Cash จึงถือกำเนิดขึ้นมาผ่านการอัปเกรดแบบ Hard Fork บนเครือข่าย Bitcoin โดยผู้ที่ถือ BTC อยู่ ณ ตอนนั้นก็กลายมาเป็นเจ้าของเหรียญ BCH ด้วย ซึ่งในตอนแรกนั้น ขนาดบล็อกใหญ่สุดเท่าที่เป็นไปได้ของ Bitcoin Cash ได้ถูกเพิ่มจาก 1 MB เป็น 8 MB ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 32 MB ในปี 2561 โดยผู้สนับสนุน Bitcoin Cash มองคริปโตสกุลดังกล่าวว่าเป็นการเดินหน้าต่อไปของ Bitcoin ในฐานะ “ระบบเงินสดอิเล็กทรอนิกส์แบบ P2P” ที่แท้จริง

Bitcoin Cash ใช้ทำอะไรได้บ้าง?

อย่างที่กล่าวไปว่า Bitcoin Cash ประมวลธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว แถมยังมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำ ทำให้สกุลเงินคริปโตนี้เหมาะสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนอกจากจะใช้โอนไปมาแบบ P2P ได้แล้ว ยังสามารถใช้ทำการค้าระหว่างประเทศ และใช้ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านร้านค้าออนไลน์และร้านค้าที่มีหน้าร้าน โดยร้านค้าบางรายก็มีส่วนลดให้ด้วยเมื่อชำระเงินด้วย BCH รวมถึงยังสามารถใช้ทำธุรกรรมขนาดเล็กได้ เช่น ให้ทิปแก่ Content Creator หรือให้เงินรางวัลแก่ผู้ใช้แอปพลิเคชัน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังใช้เก็บมูลค่าเช่นเดียวกับ Bitcoin ได้อีกด้วย เนื่องจาก Bitcoin Cash มีอุปทานจำกัดที่ 21 ล้าน BCH เท่านั้น 

สรุป

กล่าวโดยสรุปแล้ว Bitcoin Cash เป็นคริปโตที่นำข้อดีของ Bitcoin ในเรื่องของการมีอุปทานจำกัดมารวมเข้ากับคุณลักษณะของเงินที่ใช้จ่ายได้ง่าย ทำให้ Bitcoin Cash เหมาะกับนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากกว่า Bitcoin แต่ยังคงคุณสมบัติหลัก ๆ ของ Bitcoin ไว้อยู่ โดยแม้ว่าจะไม่ได้รับความนิยมเท่า Bitcoin แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีร้านค้าที่รับชำระเงินด้วย BCH อยู่ เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ต่ำ และใช้เวลาประมวลธุรกรรมน้อย