หลังจากได้ทำความรู้จักสกุลเงินคริปโตไปแล้ว จะไม่ทำความรู้จักบล็อกเชนก็คงไม่ได้ เพราะบล็อกเชนนั้นเป็นเทคโนโลยีหลังบ้านของสกุลเงินคริปโต หากมีคริปโตก็ต้องมีบล็อกเชน เป็นสองสิ่งที่มาควบคู่กัน แยกออกจากกันไม่ได้ เพื่อให้เข้าใจหลักการทำงานของสกุลเงินคริปโตได้ดีขึ้น การทำความเข้าใจเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในบทความนี้ เราจึงจะมาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีดังกล่าวกัน ซึ่งหลายคนก็ยกให้บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่มาเปลี่ยนโลกเลยทีเดียว

บล็อกเชนคืออะไร?

บล็อกเชน (Blockchain) คือ ที่จัดเก็บข้อมูลดิจิทัลแบบกระจายศูนย์ที่สามารถตรวจสอบได้และแก้ไขข้อมูลในระบบได้ยาก โดยพื้นฐานแล้ว บล็อกเชนจะอนุญาตให้ผู้ใช้บันทึกธุรกรรมในระบบจัดเก็บข้อมูลที่ใช้ร่วมกันภายในกลุ่มผู้ใช้ใด ๆ ผลที่ได้ก็คือ จะไม่มีธุรกรรมใดที่บันทึกลงบล็อกเชนไปแล้วสามารถแก้ไขได้แม้แต่ธุรกรรมเดียว ข้อมูลบนบล็อกเชนนั้นจะมีการจัดวางเป็นบล็อก (Block) ซึ่งจัดเรียงตามลำดับเวลาและรับรองความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีการเข้ารหัส ทำให้บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลที่มีความโปร่งใสและปลอดภัยเป็นอย่างมาก

แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วเทคโนโลยีบล็อกเชนมักจะถูกนำมาใช้กับสกุลเงินคริปโตเพื่อทำให้บุคคลสองฝ่ายสามารถโอนมูลค่าหากันได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง เช่น ธนาคาร หรือบริษัทบัตรเครดิต โดยสกุลเงินคริปโตเกือบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น Bitcoin, Ethereum, Cardano หรือ Solana ต่างก็ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนทั้งสิ้น ถึงกระนั้น ก็มีการนำบล็อกเชนมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ใช้เก็บข้อมูลทางการแพทย์ พัฒนาห่วงโซ่อุปทาน เลือกตั้ง ฯลฯ

บล็อกเชนทำงานอย่างไร?

ในบริบทของสกุลเงินคริปโต บล็อกเชนหนึ่ง ๆ จะประกอบไปด้วยบล็อกหลาย ๆ บล็อกที่เชื่อมต่อกันเป็นห่วงโซ่ (Chain) โดยแต่ละบล็อกจะประกอบไปด้วยชุดข้อมูลธุรกรรมที่ได้รับการตรวจสอบไปแล้ว เครือข่ายบล็อกเชนควบคุมดูแลโดยคอมพิวเตอร์จำนวนมหาศาลที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ทำให้บล็อกเชนทำหน้าที่เป็นฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ นั่นหมายความว่า ผู้ที่มาร่วมตรวจสอบธุรกรรมบนบล็อกเชน หรือโหนด (Node) แต่ละรายจะเก็บสำเนาข้อมูลบนบล็อกเชนเอาไว้ และจะสื่อสารกับโหนดอื่น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่า พวกเขากำลังตรวจสอบธุรกรรมในบล็อกเดียวกันอยู่ ด้วยเหตุนี้ ธุรกรรมบนบล็อกเชนจึงเกิดขึ้นบนเครือข่ายระหว่างบุคคล (Peer to Peer: P2P) ที่กระจายอยู่ทั่วโลก ทำให้สกุลเงินคริปโตอย่างบิตคอยน์นั้นไร้พรมแดนและป้องกันการถูกเซนเซอร์ได้

เพื่อให้เข้าใจง่ายและเห็นภาพมากขึ้น เราจะเปรียบเทียบบล็อกเชนเป็นโซ่เส้นหนึ่ง โดยข้อต่อโซ่แต่ละข้อก็คือบล็อกแต่ละบล็อกที่ประกอบไปด้วยชุดข้อมูลธุรกรรมชุดหนึ่ง ด้านบนสุดของโซ่ก็คือชุดข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นล่าสุด ในขณะที่เมื่อเลื่อนลงมาก็จะเจอกับข้อมูลธุรกรรมที่เก่าลงเรื่อย ๆ โดยโซ่ทั้งเส้นตั้งแต่หัวยันปลายนั้นก็คือประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมดของสกุลเงินคริปโตหนึ่ง ๆ นั่นเอง ซึ่งใคร ๆ ก็สามารถเข้ามาดูประวัติธุรกรรมเหล่านี้ได้ทั้งหมด โดยจะมีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ P2P ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมเหล่านี้ หากมีใครพยายามเปลี่ยนแปลงธุรกรรมใด ๆ ข้อต่อโซ่นั้นก็จะแตก และคนทั้งหมดในเครือข่ายก็จะเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น 

ใครคือผู้สร้างบล็อกเชน?

บล็อกเชนรูปแบบแรกสร้างขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ชื่อ Stuart Haber และนักฟิสิกส์ชื่อ W. Scott Stornetta ซึ่งสองคนนี้เป็นผู้ที่นำเทคนิคการเข้ารหัสมาใช้ในรูปแบบห่วงโซ่ที่ประกอบด้วยบล็อกหลายบล็อกเพื่อจัดเก็บเอกสารดิจิทัลให้ปลอดภัยจากการถูกแก้ไข ซึ่งผลงานดังกล่าวของทั้งสองก็เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาการคอมพิวเตอร์และผู้ที่สนใจในเทคโนโลยีการเข้ารหัสคนอื่น ๆ จนนำไปสู่การสร้างสกุลเงินคริปโตสกุลแรกอย่างบิตคอยน์ในปี 2008 โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto หลังจากนั้นมา เทคโนโลยีบล็อกเชนก็เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้น

อนาคตของบล็อกเชน

อนาคตของบล็อกเชนนั้นไร้ขีดจำกัด เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่และพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยนอกจากบล็อกเชนแบบดั้งเดิมที่เน้นใช้เป็นระบบโอนเงินที่ไร้พรมแดนและตัวกลาง เช่น บิตคอยน์ แล้ว ช่วงหลังมานี้ บล็อกเชนใหม่ ๆ หลายบล็อกเชนก็มาในรูปแบบแพลตฟอร์มที่เปิดให้ใครก็ได้สามารถมาสร้างแอปพลิเคชันที่หลากหลายบนบล็อกเชนนั้น ๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของบล็อกเชนประเภทนี้ก็คงหนีไม่พ้น Ethereum นอกจากนี้ ยังมีบล็อกเชนอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนถึงกับบอกว่า ศักยภาพของบล็อกเชนในการเปลี่ยนวิถีชีวิตคนมีความคล้ายกับศักยภาพของภาษาคอมพิวเตอร์ยอดนิยมสำหรับใช้แสดงผลข้อมูลบนเว็บไซต์อย่าง HTML ในช่วงที่เวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web: WWW) ถือกำเนิดขึ้นมาแรก ๆ เลยทีเดียว ซึ่งก็น่าสนใจว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนจะถูกใช้สร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกในอนาคต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมธนาคารและการเงิน