ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สกุลเงินคริปโต (Cryptocurrency) ถือเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้กระทั่งผู้ที่ไม่เคยลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวก็ต้องเคยได้ยินคำว่า Cryptocurrency มาบ้างเป็นอย่างน้อย ซึ่งหลายคนที่เข้ามาลงทุนในสกุลเงินคริปโตก็มีความเชื่ออีกด้วยว่า สกุลเงินชนิดนี้คืออนาคตของโลกการเงิน

ในบทความนี้ เราจึงจะมาทำความรู้จักกับสกุลเงินคริปโตกันว่าคืออะไรกันแน่ โดยจะเจาะลึกตั้งแต่พื้นฐานเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจหลักการเบื้องต้นของสินทรัพย์ชนิดนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มลงทุนในสกุลเงินคริปโต เป็นนักลงทุนที่มีประสบการณ์การลงทุนมาบ้างแล้วแต่ยังไม่มั่นใจในความรู้ด้านคริปโตของตัวเอง หรือจะเป็นผู้ที่อยากทำความรู้จักกับสินทรัพย์ประเภทนี้เฉย ๆ บทความนี้จะช่วยให้คุณกล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า คุณรู้จักสกุลเงินคริปโตจริง ๆ

รู้จักสกุลเงินคริปโต

เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสกุลเงินคริปโตยอดนิยมอย่าง CoinMarketCap ให้คำจำกัดความคำว่า Cryptocurrency ไว้ว่าเป็น “สื่อกลางการแลกเปลี่ยนแบบดิจิทัลที่ใช้การเข้ารหัสที่ซับซ้อนเพื่อทำให้ธุรกรรมทางการเงินปลอดภัย ควบคุมการสร้างหน่วยของสกุลเงินเพิ่มเติม และตรวจสอบการโอนสินทรัพย์” แต่ถ้าหากจะพูดให้เข้าใจง่าย สกุลเงินคริปโตนั้นก็คือ สกุลเงินดิจิทัลที่สามารถโอนไปมาระหว่างบุคคลได้นั่นเอง แต่จะแตกต่างจากสกุลเงินตรา (Fiat) ที่เราโอนผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารตรงที่สกุลเงินคริปโตนั้นมักจะไม่มีตัวกลางอย่างธนาคาร รัฐบาล หรืออำนาจส่วนกลางใด ๆ มาควบคุมหรือออกสกุลเงิน

แล้วสกุลเงินคริปโตจะปลอดภัยได้อย่างไรในเมื่อไม่มีตัวกลางอย่างธนาคารหรือรัฐบาลมาเป็นผู้ควบคุม? คำตอบก็คือ สกุลเงินคริปโตทำงานอยู่บนเทคโนโลยีที่เรียกว่า บล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งทำให้ธุรกรรมต่าง ๆ ของสกุลเงินคริปโตมีความรวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใส และตรวจสอบได้ เนื่องจากธุรกรรมบนบล็อกเชนนั้นไม่ได้ถูกตรวจสอบโดยคน ๆ เดียวหรือกลุ่มคนกลุ่มเดียว แต่ตรวจสอบโดยผู้ที่มาร่วมตรวจสอบธุรกรรมบนบล็อกเชนนั้น ๆ ที่กระจายตัวอยู่ทุกหนแห่ง ซึ่งใครก็ได้สามารถมาร่วมตรวจสอบธุรกรรมบนบล็อกเชนเพื่อแลกกับรางวัลตอบแทนเป็นสกุลเงินคริปโตประจำบล็อกเชนนั้น ๆ โดยเราจะมาทำความรู้จักบล็อกเชนให้มากขึ้นในบทความถัด ๆ ไป

ใครเป็นผู้สร้างสกุลเงินคริปโต สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร?

สกุลเงินคริปโตสกุลแรกที่ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างบิตคอยน์นั้นสร้างขึ้นมาโดยคนหรือกลุ่มคนที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ในปี 2009 โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นช่องทางการโอนเงินระหว่างบุคคลสองฝ่ายโดยตรงโดยที่ไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน  ซึ่งหลังจากบิตคอยน์กำเนิดขึ้นมาก็มีสกุลเงินคริปโตอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมามากมาย ปัจจุบัน โลกนี้มีสกุลเงินคริปโตทั้งหมดมากกว่า 12,000 สกุลแล้ว โดยแต่ละเหรียญก็สร้างขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ซึ่งหลาย ๆ เหรียญในปัจจุบันก็ไม่ได้สร้างขึ้นมาไว้สำหรับโอนเงินไปมาระหว่างกันเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ยังสามารถใช้เข้าถึงบริการการเงินแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Finance: DeFi) ใช้เล่นเกมบนบล็อกเชน ใช้ซื้อที่ดินเสมือนบนโลก Metaverse ฯลฯ ซึ่งเหรียญที่มีกรณีการใช้งานที่เป็นประโยชน์ก็จะทำให้เหรียญเป็นที่ต้องการและมีมูลค่า

ทำไมสกุลเงินคริปโตถึงเป็นอนาคตของโลกการเงิน?

หลาย ๆ คนมองสกุลเงินคริปโตเป็นอนาคตของโลกการเงิน เนื่องจากสกุลเงินคริปโตมีข้อดีเหนือสกุลเงินตราหลายอย่าง โดยข้อดีที่เป็นจุดเด่นที่สุดของคริปโตเลยก็คือ การที่ไม่มีตัวกลางอย่างรัฐบาลมาควบคุม ทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของสินทรัพย์ชนิดนี้ได้จริง ๆ อีกทั้งการถือสกุลเงินคริปโตนั้นยังอาจเป็นวิธีในการหลีกเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ ที่สกุลเงินตราของรัฐบาลประสบอยู่ เช่น อัตราเงินเฟ้อที่รุนแรงของสกุลเงินตรา การที่ธนาคารระงับเงินในบัญชีของเรา หรือการที่ธนาคารไม่ดำเนินธุรกรรมข้ามประเทศในวันหยุดสุดสัปดาห์ แม้ว่าจะเป็นธุรกรรมที่เร่งด่วน เป็นต้น นอกจากนี้ การที่สกุลเงินคริปโตนั้นอยู่บนอินเทอร์เน็ตยังทำให้คริปโตมีศักยภาพที่จะเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่เป็นสากลซึ่งมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีต้นทุนที่ถูก ไม่เพียงเท่านั้น สกุลเงินคริปโตยังสามารถนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ด้วย โดยร้านค้าบางรายก็เริ่มรับชำระเงินด้วยสกุลเงินคริปโตแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลของบางประเทศ เช่น เอลซัลวาดอร์ หรือสาธารณรัฐแอฟริกากลางยังเริ่มรับรองให้บิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแล้วอีกด้วย 

จะซื้อสกุลเงินคริปโตได้ที่ไหน?

ช่องทางสำหรับซื้อสกุลเงินคริปโตมีอยู่ 3 ช่องทางหลัก ๆ ได้แก่

  1. แพลตฟอร์มซื้อขายแบบมีตัวกลาง (Centralized Exchange: CEX) - หลายคนอาจงงว่า ทำไมสกุลเงินคริปโตที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralized) ถึงต้องมาซื้อขายบนแพลตฟอร์มซื้อขายที่มีตัวกลาง (Centralized) ซึ่งส่วนนี้ก็อธิบายสั้น ๆ ได้ว่า แพลตฟอร์มแบบ CEX เข้ามาทำหน้าที่อำนวยความสะดวกโดยการเป็นตัวกลางในการซื้อขายคริปโตให้กับผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น โดยผู้ใช้จะต้องโอนเงินตราหรือคริปโตเข้าแพลตฟอร์มก่อนเพื่อทำการซื้อขาย และผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะเก็บคริปโตที่ซื้อมากับทางแพลตฟอร์ม หรือจะเก็บในกระเป๋าเงินของตัวเอง ซึ่งแพลตฟอร์มประเภทนี้จะมีความสะดวกในการซื้อขาย เนื่องจากมีตัวกลางมาจับคู่ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายให้แล้ว แต่ด้วยความที่มีตัวกลาง ทำให้ CEX มีข้อเสียคือ เจ้าของแพลตฟอร์มอาจปิดแพลตฟอร์มและขโมยเงินของลูกค้าหนีไปได้ ดังนั้น นักลงทุนจะซื้อขายคริปโตใน CEX ก็ต้องเลือกซื้อขายกับแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ

  1. แพลตฟอร์มซื้อขายแบบไม่มีตัวกลาง (Decentralized Exchange: DEX) - ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าไม่มีตัวกลาง ทำให้แพลตฟอร์มประเภทนี้ตรงข้ามกับ CEX โดยทุกธุรกรรมการซื้อขายบน DEX เกิดขึ้นได้ด้วยสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) และนักลงทุนจำเป็นจะต้องมีกระเป๋าเงินเก็บคริปโตของตัวเองในการใช้บริการของ DEX ซึ่งนักลงทุนบางคนก็มองว่า DEX นั้นปลอดภัยกว่า CEX เนื่องจากไม่มีตัวกลาง อย่างไรก็ตาม การใช้ DEX ก็มีความเสี่ยงตรงที่นักลงทุนจำเป็นจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการใช้กระเป๋าเงินคริปโตพอสมควร ไม่เช่นนั้นก็อาจทำให้สินทรัพย์สูญหายได้

  1. แพลตฟอร์มซื้อขายระหว่างบุคคล (P2P Exchange) - แพลตฟอร์มประเภทนี้แตกต่างจากทั้ง CEX และ DEX เนื่องจากทางแพลตฟอร์มจะไม่ทำอะไรไปมากกว่าการจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายเข้าด้วยกัน โดยผู้ซื้อและผู้ขายก็สามารถตกลงกันได้ว่าจะทำธุรกรรมและชำระเงินกันด้วยวิธีไหน

ทั้งหมดนี้ก็เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของสกุลเงินคริปโต ซึ่งน่าจะช่วยให้ผู้อ่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ประเภทนี้เพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ก่อนที่นักลงทุนจะตัดสินใจลงทุนในสกุลเงินคริปโตใด ๆ ก็ควรจะไปศึกษาสกุลเงินคริปโตแยกย่อยแต่ละตัวอีกที เนื่องจากสกุลเงินคริปโตแต่ละสกุลล้วนแต่มีความแตกต่างกัน จึงไม่สามารถไปเหมารวมได้ว่าในเมื่อเป็นสกุลเงินคริปโตเหมือนกันแล้วก็สามารถลงทุนกับสกุลไหนก็ได้