หลังจาก Bitcoin ถือกำเนิดขึ้นมา ก็มีคนพยายามสร้างสกุลเงินคริปโตและบล็อกเชนของตัวเองขึ้นมาอีกจำนวนนับไม่ถ้วน ซึ่งหลายบล็อกเชนก็สร้างขึ้นมาเพื่อเอาชนะ Bitcoin โดยเพิ่มความสามารถที่ Bitcoin ไม่มีเข้าไปในบล็อกเชนของตน หนึ่งในบล็อกเชนเหล่านั้นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก Ethereum ที่สร้างขึ้นมาให้ใช้งานได้หลากหลายนอกเหนือจากการใช้โอนเงินทางไกลโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง ซึ่งนั่นเป็นความสามารถอย่างเดียวของ Bitcoin ด้วยประโยชน์ที่หลากหลายของ Ethereum ทำให้ ณ ปัจจุบัน Ethereum ก้าวขึ้นมาเป็นบล็อกเชนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดรองจาก Bitcoin โดยเหรียญ ETH ของ Ethereum ยังมีมูลค่ารวมตามราคาตลาดมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของตลาดคริปโตอีกด้วย ในบทความนี้ เราจึงจะพาไปทำความรู้จักกับ Ethereum กัน
Ethereum คืออะไร?
Ethereum เป็นบล็อกเชนกระจายศูนย์แบบ Open-Source ซึ่งมีเหรียญคริปโตประจำบล็อกเชนของตนเองชื่อว่า Ether (ETH) โดย Ethereum ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่รองรับสกุลเงินคริปโตอื่น ๆ อีกหลายสกุล รวมถึงเปิดให้ใครก็ได้มาสร้างสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ซึ่งก็คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ดำเนินการทำตามข้อตกลงระหว่างบุคคลหลายฝ่ายบนอินเทอร์เน็ตเองได้โดยอัตโนมัติ โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์เหล่านี้มีชื่อเรียกว่า แอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Application: DApp)
เว็บไซต์ของ Ethereum ได้นิยามตัวเองแบบเข้าใจง่ายไว้ว่า “Ethereum คือ เทคโนโลยีสำหรับสร้างแอปและองค์กร ถือสินทรัพย์ ทำธุรกรรม และติดต่อสื่อสารโดยปราศจากการควบคุมจากอำนาจกลางใด ๆ คุณสามารถใช้งาน Ethereum ได้โดยไม่จำเป็นต้องเผยข้อมูลส่วนตัวของคุณทั้งหมด คุณควบคุมข้อมูลของคุณเอง และสามารถควบคุมได้ว่าจะแบ่งปันข้อมูลอะไรให้ผู้อื่น Ethereum มีสกุลเงินคริปโตของตัวเองคือ Ether ซึ่งใช้สำหรับจ่ายค่าทำกิจกรรมบางอย่างบนเครือข่าย Ethereum”
เป้าหมายของ Ethereum คือ การกลายมาเป็นแพลตฟอร์มระดับโลกสำหรับ DApp โดยการให้ผู้ใช้จากทั่วโลกสามารถเขียนและดำเนินการซอฟต์แวร์ที่ป้องกันการถูกเซนเซอร์ การล่มของระบบ และการฉ้อโกงได้
เหรียญ Ether
Ether หรือ ETH เป็นเหรียญคริปโตประจำเครือข่ายของ Ethereum สามารถใช้โอนให้ใครก็ได้บนโลกแบบทันที อุปทานของ ETH ไม่ได้ถูกควบคุมโดยรัฐบาลหรือองค์กรใด ๆ ทำให้มีความกระจายศูนย์และโปร่งใส อุปทานของเหรียญ ETH ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่จะนำไปให้ผู้ที่นำเหรียญ ETH ของตนมาค้ำประกัน (Stake) เพื่อดูแลความปลอดภัยของเครือข่าย Ethereum
เหรียญ ETH นั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยนอกจากนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการลงทุนเพื่อทำกำไรเหมือนที่หลายคนกำลังทำอยู่แล้ว ยังสามารถนำไปใช้จ่ายค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมหรือกิจกรรมใด ๆ บน Ethereum ใช้เป็นหลักประกันสำหรับกู้ยืมคริปโตบนแพลตฟอร์มการเงินแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Finance: DeFi) ที่สร้างขึ้นบน Ethereum หรือใช้เพิ่มสภาพคล่องบนแพลตฟอร์มเหล่านั้นเพื่อแลกกับผลตอบแทน รวมถึงสามารถใช้เป็นเครื่องมือเก็บมูลค่า (Store of Value) ได้อีกด้วย เนื่องจากอุปทานของเหรียญ ETH จะเพิ่มขึ้นช้าลงเรื่อย ๆ
ใครคือผู้สร้าง Ethereum?
Ethereum ก่อตั้งขึ้นมาโดยผู้ร่วมก่อตั้งทั้งหมด 8 ราย โดย 3 ใน 8 รายดังกล่าวประกอบไปด้วย
- Vitalik Buterin - โปรแกรมเมอร์ชาวแคนาดาเชื้อสายรัสเซียผู้นี้น่าจะเป็นที่รู้จักมากที่สุดในบรรดาผู้ร่วมก่อตั้ง 8 คนแล้ว โดย Buterin ได้เขียนหนังสือชี้ชวน (Whitepaper) ที่อธิบาย Ethereum เป็นครั้งแรกในปี 2556 โดยเขาก็ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน Ethereum มาจนถึงปัจจุบัน
- Gavin Wood - ว่ากันว่า โปรแกรมเมอร์ชาวอังกฤษรายนี้เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum ที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดเป็นอันดับ 2 เนื่องจากเขาเป็นคนเขียนรหัสเพื่อการใช้งานทางเทคนิคให้กับ Ethereum เป็นครั้งแรกโดยใช้ภาษา C++ โดยในภายหลัง เขาก็ได้ออกไปตั้งบล็อกเชนของตัวเองอย่าง Polkadot อีกด้วย
- Charles Hoskinson - เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งองค์กรที่ดูแลเบื้องหลังของ Ethereum อย่าง Ethereum Foundation ขึ้นมา ซึ่งภายหลัง เขาก็ได้แยกทางกับ Ethereum เพื่อไปก่อตั้งบล็อกเชนของตัวเองอย่าง Cardano
โดยทาง Ethereum Foundation ได้เปิดตัวบล็อกเชน Ethereum อย่างเป็นทางการในวันที่ 30 กรกฎาคม 2558
จุดเด่นของ Ethereum
Ethereum เป็นบล็อกเชนแรกที่มาในคอนเซปต์แพลตฟอร์มสัญญาอัจฉริยะ ซึ่งถูกออกแบบมาให้ลดความจำเป็นที่จะต้องอาศัยตัวกลางมาดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างผู้ทำสัญญาหลายฝ่าย ทำให้ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมลดลง แต่ความไว้วางใจในธุรกรรมเพิ่มขึ้น และด้วยความที่ Ethereum เปิดให้ใครมาเขียนโปรแกรมบนเครือข่ายก็ได้ ทำให้ Ethereum เป็นบล็อกเชนอเนกประสงค์ที่ใช้สร้างอะไรก็ได้ ซึ่งเอื้อให้เกิดนวัตกรรมมากมาย โดยหลังจาก Ethereum กำเนิดขึ้นมา ก็มีบล็อกเชนที่เป็นแพลตฟอร์มสัญญาอัจฉริยะเกิดขึ้นตามมาอีกเพียบ อย่างไรก็ตาม Ethereum ก็ยังได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มผู้ใช้งาน
อีกหนึ่งจุดเด่นของ Ethereum ก็คือ เมื่อเทียบกับ Bitcoin แล้ว Ethereum นั้นใช้พลังงานน้อยกว่า Bitcoin มาก โดยหลังจากที่เปลี่ยนจากระบบตรวจสอบธุรกรรมแบบ Proof of Work มาเป็น Proof of Stake ผ่านการอัปเกรด The Merge เมื่อเดือนกันยายน 2565 แล้ว เครือข่าย Ethereum นั้นใช้พลังงานอยู่ที่ราว ๆ 0.01 เทราวัตต์ - ชั่วโมงต่อปี (TWh/yr) ในขณะที่ Bitcoin ใช้พลังงานอยู่ที่ราว ๆ 200 TWh/yr