เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางทีวิดีโอเกมธรรมดาทั่วไปก็เรียกตัวเองว่าเป็น Metaverse ได้ แล้วจริง ๆ Metaverse คืออะไร หลายคนน่าจะทราบดีว่า Metaverse นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในฐานะที่เป็นเทคโนโลยีศักยภาพสูงที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของมนุษย์ในอนาคต อีกทั้ง Metaverse ยังมักจะถูกนำมาเชื่อมโยงกับโลกของบล็อกเชนและสกุลเงินคริปโตอยู่บ่อย ๆ แต่บางครั้ง คำว่า Metaverse นั้นก็ถูกใช้บ่อยจนอาจทำให้คนสับสนได้ว่า ขอบเขตของคำดังกล่าวนั้นอยู่ตรงไหนกันแน่ ในบทความนี้ เราจึงจะพาท่านไปรู้จักกับความหมายที่แท้จริงของคำยอดฮิตคำนี้ รวมถึงไปส่องดูอนาคตของเทคโนโลยีสุดล้ำดังกล่าวกัน

Metaverse คืออะไรกันแน่?

Metaverse หมายถึง โลกเสมือน 3 มิติในรูปแบบดิจิทัลที่มีกิจกรรมทุกอย่างเหมือนในโลกจริง เช่น มีโรงเรียน โรงพยาบาล หรือร้านค้า ให้ผู้ใช้สามารถไปใช้บริการหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้โดยที่ตัวของผู้ใช้จริง ๆ ไม่ต้องเดินทางไปสถานที่จริง ถึงกระนั้น คำว่า Metaverse ก็ยังคงมีความหมายที่ค่อนข้างกว้าง เนื่องจากคำดังกล่าวไม่ได้หมายถึงเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งโดยเฉพาะ แต่จะหมายถึงวิธีการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีมากกว่า

หากว่ากันแบบกว้าง ๆ แล้ว เวลาที่บริษัทด้านเทคโนโลยีพูดถึง Metaverse พวกเขาอาจจะหมายถึงความจริงเสมือน (Virtual Reality: VR) ซึ่งมีลักษณะเป็นโลกเสมือนที่จะไม่หายไปไหนแม้ตอนที่ผู้ใช้ไม่ได้เข้าไปใช้งาน รวมถึงยังอาจหมายถึงความจริงเสริม (Augmented Reality: AR) ที่ผสานโลกดิจิทัลและโลกความเป็นจริงเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม Metaverse ไม่จำเป็นต้องเข้าถึงผ่าน VR หรือ AR เท่านั้น โดยเกมอย่าง Fortnite ที่เริ่มเรียกตัวเองว่าเป็น Metaverse ก็สามารถเข้าถึงได้ผ่านคอมพิวเตอร์ เครื่องเกม หรือแม้กระทั่งสมาร์ตโฟน

Metaverse และวิดีโอเกม

คำว่า Metaverse มักถูกนำไปเชื่อมโยงกับวิดีโอเกมอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน วิดีโอเกมเป็นสิ่งที่มอบประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับ Metaverse ได้มากที่สุดด้วยความที่เน้นในเรื่อง VR แบบ 3 มิติ โดยบางเกมก็มีบริการและฟีเจอร์ที่แทรกเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา วิดีโอเกมอย่างเช่น Roblox ก็เคยจัดกิจกรรมบนโลกเสมือนมาแล้ว เช่น คอนเสิร์ตหรือการพบปะสังสรรค์ ซึ่งเกมเมอร์ก็ไม่ได้เพียงแต่เล่นเกมเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ยังใช้เกมทำกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตบนโลกไซเบอร์ของพวกเขาอีกด้วย

Metaverse และโลกคริปโต

นอกจากวิดีโอเกมแล้ว Metaverse ก็ถูกนำไปเชื่อมโยงกับโลกของสกุลเงินคริปโตและบล็อกเชนเป็นประจำเช่นกัน แม้ Metaverse ในโลกของวิดีโอเกมจะได้เรื่องความเป็น 3 มิติ แต่ก็มีบางสิ่งที่วิดีโอเกมไม่สามารถมอบให้กับ Metaverse แต่คริปโตสามารถมอบให้ได้ เช่น หลักฐานการเป็นเจ้าของในรูปแบบดิจิทัล การโอนมูลค่า การให้ผู้มีส่วนร่วมในระบบนิเวศได้มีสิทธิ์ออกเสียง การเข้าถึงได้ และความสามารถในการทำงานร่วมกัน ซึ่งถ้าหากว่าเราได้เข้าไปใช้ชีวิตประจำวันใน Metaverse มากขึ้นจริง ๆ ในอนาคต สิ่งเหล่านี้จะมีความจำเป็นมาก แม้ว่าบางวิดีโอเกมจะมีระบบพื้นฐานสำหรับรองรับในส่วนดังกล่าวอยู่บ้าง แต่นักพัฒนาหลายรายก็เลือกใช้คริปโตและบล็อกเชนแทนเพราะมีความโปร่งใสและกระจายศูนย์กว่า

ตัวอย่าง Metaverse ที่พึ่งพาเทคโนโลยีของสกุลเงินคริปโตและบล็อกเชน ได้แก่ Sandbox ซึ่งเป็นโลกเสมือนบนบล็อกเชนที่ให้ผู้ใช้สามารถสร้าง ซื้อ และขายสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบเกมได้โดยใช้เหรียญอย่าง SAND นอกจากนี้ ยังมี Decentraland ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโลกเสมือนที่ให้ผู้ใช้สามารถสร้าง เข้าถึง และทำเงินจากคอนเทนต์หรือแอปพลิเคชันบนที่ดินเสมือนในแพลตฟอร์มได้ โดยเหรียญประจำแพลตฟอร์มอย่าง MANA นั้นสามารถใช้ซื้ออวทาร์ (ตัวละครบนโลกเสมือน) เครื่องแต่งกายอวทาร์ และที่ดินเสมือนได้

อนาคตของ Metaverse

ในช่วง 1-2 ปีผ่านมา บริษัทรายใหญ่หลายแห่งก็เริ่มก้าวเข้ามาสู่โลก Metaverse เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อหาหนทางใช้เทคโนโลยีดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของตน ซึ่งบริษัทที่มีชื่อเสียงมากที่สุดที่หันเข้าหา Metaverse ก็ได้แก่ Meta หรือที่มีชื่อเดิมคือ Facebook โดยได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Meta เมื่อปีที่แล้วเพื่อมาเอาดีทาง Metaverse แบบเต็มตัว ซึ่ง Meta ก็มีแพลตฟอร์ม VR ชื่อ Horizon รวมถึง Mark Zuckerberg ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ก็มีแผนการด้าน Metaverse อย่างต่อเนื่อง โดยเขาเคยกล่าวว่า เขามีแผนจะใช้โครงการด้าน Metaverse ในการสนับสนุนการทำงานจากทางไกล และเพิ่มโอกาสทางการเงินให้กับคนในประเทศกำลังพัฒนาอีกด้วย

ส่วนก้าวต่อไปของ Metaverse ในโลกของคริปโตก็น่าจะเป็นการผสานกันระหว่างตลาดซื้อขาย NFT และโลกเสมือนแบบ 3 มิติ โดยปัจจุบัน NFT สามารถซื้อขายได้อยู่แล้วบนตลาดซื้อขาย NFT เช่น OpenSea แต่ก็ยังไม่มีแพลตฟอร์มที่เป็น 3 มิติสำหรับซื้อขาย NFT นอกจากนี้ นักพัฒนาบล็อกเชนก็อาจพัฒนาแอปพลิเคชันลักษณะคล้าย Metaverse ที่มีผู้ใช้งานที่แท้จริงมากกว่าบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ได้อีกด้วย