ในช่วงที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับคดีความระหว่างคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ หรือ ก.ล.ต. สหรัฐ (U.S. Securities and Exchange Commission: SEC) กับ Ripple มาบ้างแล้ว ถ้าหากใครยังไม่เคยได้ยินก็จะขอเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ว่า เมื่อช่วงปลายปี 2563 ทาง ก.ล.ต. สหรัฐ ได้ยื่นฟ้อง Ripple โทษฐานขายเหรียญ XRP ในฐานะหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียน ด้วยเหตุนี้ XRP จึงได้รับความสนใจมากขึ้น และในบางครั้งเหรียญดังกล่าวก็ยังเคลื่อนไหวขานรับกับข่าวความคืบหน้าของคดีความดังกล่าวด้วย แต่ท่านผู้อ่านเคยสงสัยไหมว่า เหรียญ XRP คือเหรียญอะไรกันแน่ แล้วทำไมถึงเกี่ยวข้องกับ Ripple วันนี้เราจะพาไปรู้จัก XRP และ Ripple ให้มากขึ้นกัน


XRP คืออะไร?

XRP เป็นสกุลเงินคริปโตที่พัฒนา และออกโดยบริษัทด้านเทคโนโลยีการเงินที่ชื่อว่า Ripple โดย XRP จะทำงานอยู่บน XRP Ledger ซึ่งเป็นบล็อกเชนสาธารณะที่ถูกพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2554 จากฝีมือของนักพัฒนาของ Ripple อย่าง Arthur Britto, Jed McCaleb (ผู้ก่อตั้งอดีตแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Mt. Gox) และ David Schwartz เพื่อแก้ไขความไร้ประสิทธิภาพของการส่งเงินข้ามประเทศและการชำระเงินในระบบธนาคารแบบดั้งเดิม 

แนวคิดดั้งเดิมที่อยู่เบื้องหลัง XRP คือเป็นเครือข่ายการไว้ใจแบบ Peer to Peer (P2P) ซึ่ง Ripple อ้างว่า XRP เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถูกลง และมีความเร็วมากขึ้น ซึ่งสามารถประมวลผลธุรกรรมภายในเวลาไม่กี่วินาที และใช้พลังงานน้อยกว่าสกุลเงินคริปโตอื่น ๆ นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถส่ง XRP ได้โดยตรงโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาคนกลางแต่อย่างใด ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลตัวนี้กลายเป็นเครื่องมือที่สะดวกต่อการใช้เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างสกุลเงิน 2 สกุลที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเป้าหมายหลักของ XRP คือ การเป็นตัวกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนสกุลเงินนั่นเอง

ปกติแล้ว XRP ถูกพัฒนาขึ้นมาให้ทำหน้าที่เป็นเลเยอร์การทำธุรกรรมที่อำนวยความสะดวกให้กับธุรกรรมภายในเครือข่ายของ Ripple ทว่าคุณก็สามารถซื้อ XRP บนแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตต่าง ๆ เพื่อเก็บไว้แลกเปลี่ยนกับสกุลเงินคริปโตอื่น ๆ หรือเพื่อลงทุนได้ 


ประวัติความเป็นมาของ XRP และ Ripple

ย้อนไปเมื่อปี 2547 มีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวแคนาดารายหนึ่งนามว่า Ryan Fugger ได้ก่อตั้งเว็บไซต์ RipplePay ขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางในการเสนอทางเลือกการชำระเงินที่ปลอดภัยให้กับสมาชิกชุมชนออนไลน์ผ่านเครือข่ายระดับโลก ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า Ripple เป็นโปรเจกต์การชำระเงินที่เริ่มต้นขึ้นก่อน Bitcoin ด้วยซ้ำ ถึงแม้ว่าตอนนั้นโปรเจกต์ดังกล่าวจะยังไม่ใช่สกุลเงินคริปโตเลยก็ตาม โดยผู้สร้าง Bitcoin อย่าง Satoshi Nakamoto ยังเคยเอ่ยถึง Ripple ด้วย

ต่อมาในปี 2554 นักพัฒนาอย่าง Jed McCaleb ก็เริ่มพัฒนาเหรียญ XRP และบล็อกเชน โดยเขาได้ตระเวนหาเพื่อนร่วมงาน นักลงทุน และก็เข้าไปปรึกษากับ Fugger เกี่ยวกับการใช้เครือข่าย RipplePay ของเจ้าตัว ซึ่งในท้ายที่สุด Fugger ก็ตกลงยก RipplePay ให้กับเขา ในปี 2555 ทาง Britto, McCaleb และ Schwartz ก็พากันก่อตั้งบริษัท Ripple ร่วมกับ Chris Larsen และใช้ XRP ในการอำนวยความสะดวกให้กับธุรกรรมบนเครือข่ายบล็อกเชน โดยในช่วงแรก Ripple มีชื่อว่า Newcoin ในเวลาต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น OpenCoin หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็น Ripple Labs ในปี 2556 สุดท้ายก็มาจบที่ชื่อ Ripple ในปี 2558 จนถึงทุกวันนี้


XRP ทำงานอย่างไร?

บล็อกเชนสาธารณะของ XRP อย่าง XRP Ledger ใช้กลไกฉันทามติแบบเฉพาะกลุ่ม (Federated Consensus) ซึ่งไม่เหมือนกับ Proof of Work (PoW) ของบล็อกเชน Bitcoin และ Proof of Stake (PoS) ของ Ethereum 2.0 เนื่องจากผู้เข้าร่วมในเครือข่าย Ripple จะเป็นผู้ที่มีคนรู้จักและได้รับความไว้วางใจจากกันและกันโดยอิงจากชื่อเสียงเป็นหลัก 

เมื่อเดือนมีนาคม 2565 มีผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Validator) บนเครือข่ายมากกว่า 150 ราย และราว 36 รายอยู่ในลิสต์รายชื่อโหนด (Unique Node List: UNL) ที่เป็นค่าเริ่มต้น โดย UNL นั้นเป็นรายชื่อโหนด (Node) ที่ผู้เข้าร่วมเครือข่ายให้ความไว้วางใจ นอกจากนี้ องค์กร 3 แห่ง ได้แก่ Ripple, XRP Ledger Foundation และ Coil (องค์กรที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก Ripple) จะเผยแพร่ลิสต์ผู้ตรวจสอบธุรกรรมที่ได้รับการแนะนำโดยอิงจากผลงานในอดีต การตรวจสอบตัวตน และนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ปลอดภัย ซึ่งลิสต์ที่บริษัทเหล่านี้เผยแพร่ออกมาก็คือ รายชื่อโหนดที่เป็นค่าเริ่มต้น (Default Unique Node List: dUNL) นั่นเอง เมื่อผู้ตรวจสอบธุรกรรมเข้าร่วมเครือข่ายมากขึ้น ผู้เข้าร่วมเครือข่ายก็จะมีโอกาสเลือกมากขึ้นว่าจะเพิ่มผู้ตรวจสอบธุรกรรมรายใดเข้าไปยัง UNL ของตัวเองบ้าง ถึงแม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง เนื่องจากผู้ตรวจสอบธุรกรรมไม่ได้มีระดับความน่าเชื่อถือและผลงานที่เท่าเทียมกันทุกคน

XRP ไม่สามารถขุดได้เหมือนกับสกุลเงินคริปโตอื่น ๆ และจะไม่มีการสร้างเหรียญใหม่เพิ่มเติม เนื่องจากเหล่าผู้พัฒนาได้ออกเหรียญไว้ให้ทั้งหมด 100 พันล้าน XRP เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับนำ 80 พันล้าน XRP ไปแจกให้กับ Ripple และเก็บส่วนที่เหลือไว้กับตนเอง

โดยเหรียญเหล่านี้สามารถซื้อขายในตลาดรองได้เมื่อ Ripple ตัดสินใจขายให้กับสาธารณชน ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2560 ทางบริษัทส่ง XRP จำนวน 55 พันล้านจากทั้งหมด 80 พันล้านเหรียญที่บริษัทถืออยู่ไปยังบัญชีดูแลผลประโยชน์ (Escrow Account) เพื่อเอาไว้ขายสูงสุดถึง 1 พันล้านเหรียญต่อเดือนเลยทีเดียว


ลงทุนใน XRP ดีไหม?

ถ้าคุณเชื่อว่า XRP จะเติบโตขึ้นในอนาคต การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทนี้เพียงเล็กน้อยก็อาจจะคุ้มค่าคุ้มราคาอย่างแน่นอน นอกจากนี้ XRP ยังเป็นสกุลเงินคริปโตที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่ง เนื่องจากมีมูลค่ารวมตามราคาตลาดสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ แซงหน้า Cardano (ADA), Polkadot (DOT) และ Solana (SOL) ยิ่งไปกว่านั้น การที่ XRP สามารถใช้ทำธุรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทนี้สามารถทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์เก็บมูลค่าที่ดีได้ และที่สำคัญที่สุดคือ XRP ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสกุลเงินคริปโตอีกหลายตัวที่ใช้กลไกฉันทามติแบบ PoW ด้วย เพราะฉะนั้น การลงทุนใน XRP อาจจะเป็นการลงทุนที่ดี อย่างไรก็ตาม ตราบเท่าที่ XRP ยังคงเป็นสกุลเงินคริปโต สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทนี้ก็ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้