เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Texas at Austin ในเมือง Austin รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่งานวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Neuroscience ซึ่งว่าด้วยการศึกษาการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) โดยไม่มีการล่วงล้ำไปในร่างกายเพื่อถ่ายทอดความคิดมนุษย์ออกมาเป็นภาษาที่ใช้กันทั่วไปโดยทันที
โดยคณะวิจัยได้ฝึกโครงข่ายประสาทเทียม (Neural Network) ให้แปลงรหัสสัญญาณการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็กเชิงหน้าที่ (Functional Magnetic Resonance Imaging: fMRI) จากส่วนต่าง ๆ ของสมองมนุษย์พร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดในปัจจุบันที่การถอดรหัสความคิดของมนุษย์เป็นคำพูดมักจะต้องอาศัยการฝังเครื่องมือเข้าไปในร่างกาย หรือสามารถตรวจหาตัวกระตุ้นได้เพียงจากชุดคำหรือกลุ่มคำเล็ก ๆ เท่านั้น
ในการทดลองครั้งนี้ คณะวิจัยได้ให้ผู้เข้าร่วมทดลองฟังพอดคาสต์ขณะตรวจสอบการทำงานของสมองเป็นเวลาหลายชั่วโมงขณะที่เครื่องมือ fMRI จะบันทึกการทำงานของสมองของพวกเขาจากภายนอก โดยข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปใช้ในการฝึกระบบ AI ตามรูปแบบความคิดของผู้เข้าร่วมทดลองแต่ละราย
หลังจากการฝึกระบบ AI ดังกล่าวแล้ว คณะวิจัยก็ได้ตรวจสอบการทำงานของสมองของผู้เข้าร่วมทดลองอีกครั้งในขณะที่พวกเขากำลังฟังพอดคาสต์ รับชมหนังสั้น หรือแม้กระทั่งนึกถึงการเล่าเรื่องอย่างเงียบ ๆ ซึ่งในการทดลองขั้นนี้ คณะวิจัยได้ป้อนข้อมูล fMRI ของผู้เข้าร่วมทดลองให้กับระบบ AI และระบบ AI ก็ได้แปลงสัญญาณเหล่านั้นออกมาเป็นภาษาปกติแบบฉับพลัน โดยจากรายงานการแถลงข่าวของคณะวิจัยระบุว่า AI สามารถแปลงสัญญาณออกมาเป็นภาษาได้ถูกต้องราว ๆ 50%
ไม่ได้มีเพียงคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Texas at Austin เท่านั้นที่ศึกษาการใช้ AI มีรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะวิจัยจากประเทศซาอุดีอาระเบียได้พัฒนาวิธีการปรับปรุงความแม่นยำในการวินิจฉัยเนื้องอกในสมองโดยการประมวลผลการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging: MRI) ผ่านโครงข่ายประสาทเทียมบนเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยการทดลองครั้งนี้ คณะวิจัยในซาอุดีอาระเบียได้ทำการศึกษาโดยใช้ AI ที่ถูกฝึกบนหน่วยประมวลผลกราฟิกส์ (Graphics Processing Unit: GPU) รุ่น NVIDIA GTX 1080 ที่ถูกวางขายมาตั้งแต่ปี 2016
หากว่ากันตามตรง การผสมผสานงานวิจัยทั้งสองเข้าด้วยกันจะช่วยยกระดับเทคโนโลยีไปอีกขั้น โดยเราจะมีระบบ AI ที่สามารถอ่านความคิดของมนุษย์และบันทึกความคิดเหล่านั้นไว้ในบล็อกเชนได้ ไม่เพียงเท่านั้น ในอนาคตข้างหน้าเราอาจจะเห็นการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Non-Fungible Token (NFT) สำหรับบันทึกความคิดหรือความรู้สึกของมนุษย์ได้
นอกจากนี้ การสร้าง NFT บันทึกความคิดของมนุษย์อาจส่งผลกระทบต่อการเขียนคำโฆษณาและการขอจดสิทธิบัตรด้วย ซึ่งบล็อกเชนจะทำหน้าที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความคิดหรือไอเดียเหล่านั้นถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ตอนไหน ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยให้นักคิดที่มีชื่อเสียง เช่น ผู้ได้รางวัลโนเบลหรือนักปรัชญาร่วมสมัย สามารถรวบรวมความคิดของพวกเขาไว้ในบันทึกที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งบันทึกเหล่านี้สามารถนำไปดัดแปลงเป็นสินค้าและทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่สะสมได้เช่นกัน