สำนักข่าว Reuter รายงานว่า เหล่าธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ได้กลับมาดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 แล้วหลังจากเริ่มต้นปีอย่างจืดชืดภายใต้แรงกดดันราคาที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เหนียวแน่นกว่าที่ตลาดและผู้กำหนดนโยบายหลายคนคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้

โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 6 ครั้งจากการประชุมทั้งหมด 6 ครั้งของธนาคารกลางที่ดูแลสกุลเงินที่มีการซื้อขายมากที่สุด 10 สกุล โดยผู้กำหนดนโยบายในออสเตรเลีย สวีเดน นิวซีแลนด์ และอังกฤษได้เดินไปในทิศทางเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐ (U.S. Federal Reserve: Fed) และธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สำคัญรวมทั้งหมด 2.5% ซึ่งธนาคารเหล่านี้คาดว่า จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในอนาคต ขณะที่ในเดือนมกราคม มีเพียงธนาคารกลางแคนาดาแห่งเดียวเท่านั้นที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% จากการประชุม 3 ครั้งของธนาคารกลางในกลุ่ม G10 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 11 ประเทศ

ด้าน Nikolaos Panigirtzoglou กรรมการผู้จัดการของ JPMorgan บริษัทผู้ให้บริการด้านการเงินระดับโลก กล่าวว่า “การรวมกันของการเติบโตที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้กับดัชนีเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ได้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันของบทวิเคราะห์ตลาดตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาจาก ‘การชะลอเงินเฟ้อแบบนุ่มนวล (Soft Landing)’ ไปสู่ 'วัฏจักรนโยบายทางการเงินอันรัดกุมที่ยาวนานขึ้น' ของธนาคารกลางยักษ์ใหญ่” 

นอกจากนี้ การประกาศอัตราเงินเฟ้อและข้อมูลแรงงานล่าสุดจากประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกบางแห่งยังได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด และกระตุ้นให้นักวิเคราะห์ยกระดับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของ Fed และ ECB โดยขณะนี้ ตลาดคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยของ ECB จะสูงสุดที่เหนือระดับ 4% ในช่วงต้นปีนี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของ Fed จะสูงสุดถึง 5.5-5.75% เลยทีเดียวในกรอบเวลาเดียวกันนี้

ในประเทศตลาดเกิดใหม่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดูเหมือนจะเริ่มชะลอลงแล้ว โดยธนาคารกลาง 13 แห่งจาก 18 แห่งในกลุ่มตัวอย่างประเทศกำลังพัฒนาของ Reuters ได้ประชุมกันเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมกันทั้งหมด 1.75% ได้แก่ เม็กซิโก อิสราเอล ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ในทางกลับกัน ตุรกีได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์สืบเนื่องจากเดือนมกราคมที่มีธนาคารกลาง 6 แห่งจาก 18 แห่งได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมกันทั้งหมด 2.25% ขณะที่ธนาคารกลางอีก 6 แห่งของกลุ่มธนาคารกลางดังกล่าวตัดสินใจที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิม โดย Gabriel Sterne นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจอิสระชั้นนำของโลกอย่าง Oxford Economics กล่าวว่า “ผลกระทบที่เกิดขึ้นกะทันหันของภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบกับทุกคน แต่มันอาจจะหายไปในอัตราที่ต่างกัน” ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเสริมอีกว่า “ขณะนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อกำลังดูดีอย่างน่าประหลาดใจในภูมิภาคอย่างเช่นเอเชียที่ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของภาคบริการได้กลับตัวแล้ว”