Irina Heaver นักกฎหมายด้านคริปโตในมหานครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่า นักลงทุนคริปโตทั่วไปนั้นเป็นคนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennials) เพศชายที่มีอายุระหว่าง 27 ถึง 42 ปี ซึ่งคนอายุช่วงนี้มักจะไม่ได้สนใจเรื่องการจัดการสินทรัพย์ทางการเงินของตนเองเผื่อในกรณีที่ตนเสียชีวิต ทำให้มีคนในครอบครัวของนักลงทุนหลายรายที่เข้าถึงคริปโตของนักลงทุนเหล่านั้นได้เมื่อพวกเขาถึงแก่กรรม 

โดยเธอก็เน้นย้ำความสำคัญของการที่นักลงทุนคุยเรื่องคริปโตกับครอบครัวและการนำคริปโตของตนใส่ลงไปในพินัยกรรม อีกทั้งยังเชื่อว่า การที่ผู้จัดการมรดกให้กับพินัยกรรมของนักลงทุนคริปโตมีความรู้ในการใช้กระเป๋าเงินคริปโตทั้งแบบออนไลน์ (Hot Wallet) และออฟไลน์ (Cold Wallet) เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการกระจายสินทรัพย์คริปโตให้กับผู้รับมรดกได้อย่างเหมาะสม

ด้าน Liam Hennessy ผู้ถือหุ้นส่วนในบริษัทกฎหมายสัญชาติออสเตรเลียอย่าง Gadens กล่าวว่า นักลงทุนคริปโตควรต้องรู้ว่า ขั้นตอนแรกง่าย ๆ ในการปกป้องอนาคตของครอบครัวของตนคือ การเตรียมพินัยกรรมเอาไว้ แต่พวกเขาก็ควรจะทราบด้วยว่า คริปโตนั้นซับซ้อนและพินัยกรรมของพวกเขาจำเป็นต้องระบุด้วยว่า คริปโตของตนเก็บไว้ที่ไหนและเข้าถึงอย่างไร

ในขณะที่ Krish Gosai นักกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้มีหุ้นส่วนในการบริหารบริษัทกฎหมายอย่าง Gosai Law ก็เชื่อว่า การให้ความรู้เรื่องคริปโตแก่ผู้รับมรดกเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากหลายคนยังขาดความเข้าใจในสินทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งการแจ้งให้ผู้จัดการมรดกหรือคนในครอบครัวทราบว่า ตนถือคริปโตอยู่ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน แต่เขาไม่แนะนำให้เปิดเผยข้อมูลที่อ่อนไหว เช่น ข้อมูลสำหรับใช้ลงชื่อเข้าใช้ หรือรหัส Seed Phrase เนื่องจากไม่จำเป็น อีกทั้งยังบอกว่า หากจำเป็น Seed Phrase ก็อาจแบ่งกันเก็บระหว่างสมาชิกครอบครัว 4 คนได้

Heaver ยังเผยข้อมูลที่น่าสนใจกับสำนักข่าวคริปโตอย่าง Cointelegraph ว่า เธอเชื่อว่า มีบิตคอยน์มูลค่า “หลายพันล้าน” ที่สูญหายไปเพราะผู้ถือไม่ได้เตรียมแผนการส่งมอบสินทรัพย์ต่อในกรณีที่ตนเองเสียชีวิตไว้ ซึ่งก็เคยมีครอบครัวของนักลงทุนคริปโตที่เสียชีวิตไปแล้วรายหนึ่งมาหาเธอเพื่อขอให้เธอช่วยเข้าถึงคริปโตของนักลงทุนคนดังกล่าวอีกด้วย