Kaspersky ผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ได้เผยแพร่รายงานความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้สกุลเงินคริปโตชื่อว่า “Crypto Threat 2023” โดยรายงานชิ้นดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงลักษณะนิสัยการรักษาความปลอดภัยที่ไม่ค่อยดีนักของประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา

โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา Kaspersky ได้สำรวจผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 2,000 คน และพบว่า 24% ของผู้ทำแบบสำรวจมีคริปโตหรือสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ในครอบครอง ซึ่ง 36% ของผู้ถือคริปโตมีอายุระหว่าง 25-44 ปี และ 10% มีอายุ 55 ปีขึ้นไป

รายงานดังกล่าวระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้ถือครองคริปโตเคยถูกโจรกรรมสินทรัพย์ของตน และยังเคยตกเป็นเหยื่อของการฉ้อฉล ซึ่งการโจรกรรมเอกลักษณ์บุคคล การขโมยรายละเอียดการชำระเงิน และการเข้าถึงบัญชีของตนไม่ได้เป็นผลกระทบหลัก ๆ จากการตกเป็นเหยื่อของการฉ้อฉล

มูลค่าโดยเฉลี่ยของสินทรัพย์ที่ถูกขโมยไปอยู่ที่ 97,583 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ค่ามัธยฐานของสินทรัพย์ที่ถูกขโมยไปนั้นต่ำกว่านี้มาก เนื่องจากการโจรกรรมที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐมีเพียง 29% และการโจรกรรมที่มีมูลค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐมีถึง 39%

นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างที่ชัดเจนด้านอายุด้วยเช่นกัน โดย 47% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปีรายงานว่าเคยถูกขโมยสินทรัพย์ ขณะที่ 8% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีรายงานว่าเคยถูกขโมยสินทรัพย์ ซึ่งการรักษาความปลอดภัยที่หละหลวมอาจเป็นสาเหตุหลักที่นำมาสู่การสูญเสียสินทรัพย์ของผู้ทำแบบสำรวจ 

รายงานดังกล่าวพบว่า ผู้ถือครองคริปโตตรวจดูสินทรัพย์ของตนครั้งสุดท้ายเมื่อ 6 สัปดาห์ก่อน และยังพบด้วยว่า บัญชีของพวกเขามีการป้องกันเพียงน้อยนิด โดย 10% ของผู้ทำแบบสำรวจไม่ได้พยายามที่จะป้องกันสินทรัพย์ของตนแต่อย่างใด และ 14% ของผู้ทำแบบสำรวจ กล่าวว่า ตนเองไม่ได้เก็บชุดคำสำหรับกู้คืนบัญชี (Seed Phrase) หรือกุญแจส่วนตัว (Private Key) เอาไว้เลย

Kaspersky กล่าวในรายงานที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า ผู้ใช้มีความชำนาญในการตรวจจับการฉ้อฉลมากยิ่งขึ้น และการแฝงไวรัสเรียกค่าไถ่ (Ransomware) เป็นบิตคอยน์จะลดน้อยลงเมื่อมีการประกาศใช้ข้อบังคับและวิธีการติดตามเส้นทางการโอนสินทรัพย์พัฒนาขึ้น อีกทั้งยังได้เตือนไปในรายงานก่อนหน้านี้ด้วยว่า ความเสี่ยงจากการฉกฉวยผลประโยชน์กำลังเพิ่มขึ้นในโลกเสมือน Metaverse