ล่าสุด Simon Callaghan ผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ของ Blockchain Australia องค์กรอุตสาหกรรมคริปโตชั้นนำในประเทศออสเตรเลีย ได้ออกมาเผยว่า เขาหวังให้รัฐบาลกลางของประเทศปฏิบัติตามสหราชอาณาจักร สิงคโปร์ และฮ่องกง แทนสหรัฐอเมริกาในด้านการออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับคริปโต
โดยจากการเข้ารับตำแหน่งใหม่ Callaghan มีเป้าหมายที่จะควบคุมการออกกฎระเบียบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมคริปโตในประเทศ และหลีกเลี่ยงการเดินตามรอยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (U.S. Securities and Exchange Commission: SEC) ที่กำลังไล่ฟ้องสองแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตชื่อดังอย่าง Binance และ Coinbase พร้อมกับจำแนกให้สกุลเงินคริปโตอย่างน้อย 68 สกุลเป็นหลักทรัพย์
Callaghan กล่าวว่า การกำกับดูแลอุตสาหกรรมคริปโตผ่านการบังคับใช้กฎหมายนั้นเปรียบเสมือนกับการถือค้อนและมองทุกอย่างเป็นตะปู ซึ่งเขาไม่คิดว่า แนวทางดังกล่าวจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องสำหรับประเทศออสเตรเลีย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของ Callaghan เกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารสูงสุดของ Blockchain Australia เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2023 โดยก่อนหน้านี้เขาเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการสินทรัพย์ดิจิทัลของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
นอกจากนี้ Callaghan ยังเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าของบริษัทผู้ให้กู้ยืมคริปโตอย่าง Celsius ในทวีปเอเชียเป็นเวลาหนึ่งปีอีกด้วย แต่เขาได้ลาออกก่อนที่บริษัทดังกล่าวจะล้มละลายไปเป็นเวลาหลายเดือน และเขายังเคยทำงานร่วมกับบริษัทผู้ให้กู้ยืมคริปโตอีกรายอย่าง Vauld เป็นเวลาสั้น ๆ ด้วยเช่นกัน
การแต่งตั้ง Callaghan เกิดขึ้นเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีหลังจากที่ Steve Vallas อดีตผู้บริหารสูงสุดและผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมคริปโตขององค์กรลาออกไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2022 โดยผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กรต่อจากเขาคือ Laura Mercurio ในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน แต่หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์เธอก็ได้ลาออกเนื่องจากมีความคิดที่ไม่ตรงกับทางองค์กร
ในตำแหน่งใหม่นี้ Callaghan จะเป็นตัวแทนสมาชิกของ Blockchain Australia กว่า 112 ราย ซึ่งรวมไปถึง Binance Australia, Circle, Ripple และ Mastercard โดยสมาชิกทั้ง 112 รายดังกล่าวก็กำลังเรียกร้องให้มีกฎระเบียบด้านคริปโตที่ชัดเจนขึ้นในขณะนี้อีกด้วย
รัฐบาลประเทศออสเตรเลียไม่ได้มีท่าทีที่แข็งกร้าวต่ออุตสาหกรรมคริปโต ซึ่งแตกต่างกับหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โดยกระทรวงการคลังของออสเตรเลียได้มี “แผนการจัดการโทเคน” เพื่อกำหนดวิธีจัดประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการออกกฎกำกับดูแลใด ๆ ซึ่งคาดว่าจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2024 เป็นอย่างน้อย
อย่างไรก็ตาม สองธนาคารยักษ์ใหญ่ในประเทศออสเตรเลียเพิ่งจะประกาศระงับการให้บริการการชำระเงินบางรายการแก่บริษัทในอุตสาหกรรมคริปโตภายในประเทศ โดยให้เหตุผลว่า มีภัยคุกคามจากการหลอกลวงทางการเงินเพิ่มมากขึ้น
“ผมไม่คิดว่า คุณจะสามารถเหมารวมกิจกรรมทุกอย่างในอุตสาหกรรมคริปโตว่าเป็นการหลอกลวงได้ ที่จริงแล้วคุณจำเป็นต้องดูที่ข้อมูลต่างหาก” Callaghan กล่าว พร้อมเสริมว่า เขาได้นัดพบกับตัวแทนจากสองธนาคารดังกล่าวเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับจุดยืนของพวกเขาให้มากขึ้นแล้ว