เมื่อพูดถึงคุณสมบัติอันโดดเด่นของการเงินกระจายศูนย์ (Decentralized Finance: DeFi) ที่มักไม่เจอในธนาคารแบบดั้งเดิม หลายคนก็คงจะนึกถึงความเร็ว ความอิสระ และความโปร่งใสของระบบการเงินดังกล่าว โดยวิกฤตการเงินในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาซึ่งมักเกิดจากการขาดความโปร่งใส ความไร้ประสิทธิภาพ และการที่มนุษย์เข้าไปยุ่งกับระบบมากเกินไปก็ส่งผลให้นวัตกรรมของ DeFi มีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การล่มสลายของบรรดาแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตแบบรวมศูนย์ (Centralized Exchange: CEX) ในช่วงที่ผ่านมากลับแสดงให้เห็นว่า บรรดาผู้เล่นในอุตสาหกรรมคริปโตยังมองไม่เห็นถึงประโยชน์ที่แท้จริงของ DeFi แต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีดังกล่าวนี้สามารถปฏิวัติวงการการเงินได้

โดยสิ่งสำคัญคือ ในการจะสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนได้นั้น DeFi และบล็อกเชนจำเป็นจะต้องมีกรณีการใช้งานในโลกจริงเสียก่อน ถ้าหากว่า DeFi ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าสักวันหนึ่งจะเติบโตขึ้น แต่ไม่ได้มีมูลค่าที่ส่งมอบให้กับผู้ใช้งานอย่างแท้จริง นวัตกรรมของเทคโนโลยีดังกล่าวก็แทบจะไม่มีคุณค่าใด ๆ เลย ในทำนองเดียวกัน ถ้าหากว่าบล็อกเชนถูกขับเคลื่อนด้วยสมมติฐานที่คล้ายกันนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ก็จะเป็นเพียงกลไกหนึ่งของทุนนิยมคาสิโน (Casino Capitalism) ที่ให้ความสำคัญกับการทำกำไรเพียงเท่านั้น 

โดย DeFi นั้นสามารถทำให้การหลอกหลวงและการฉ้อโกงให้หมดไปจากวงการคริปโตได้ แต่มีข้อแม้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะต้องมีกรณีการใช้งานที่ชัดเจนและสมเหตุสมผล ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออุตสาหกรรมคริปโตรับเอาวิธีการทำงานบางอย่างของระบบการเงินแบบดั้งเดิมมาใช้ กล่าวคือ ในระบบการเงินแบบดั้งเดิมนั้น ธนาคารจะนำเงินจากผู้ฝากไปปล่อยกู้ ซึ่งผู้ฝากเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลและบริษัทต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในโลกจริง ในทางตรงข้าม ถ้าหากว่าผู้ฝากเหล่านี้ไม่ได้เป็นบุคคลและบริษัทที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ระบบการให้กู้ยืมของธนาคารก็จะไม่ยืนยงและคงอยู่ดังเช่นในทุกวันนี้ 

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีใคร หน่วยงานใด หรือบริษัทไหนที่นำคริปโตมาใช้งานในเศรษฐกิจในโลกจริงเลย ดังนั้น มูลค่าที่ส่งมอบให้ผู้ใช้ของคริปโตนั้นจึงไม่มีความยั่งยืนและมีลักษณะที่คล้ายกับแชร์ลูกโซ่ นอกจากนี้ ความเชื่อที่ว่า DeFi จะโตขึ้นด้วยตัวมันเองก็ไม่ใช่กลยุทธ์ทางการเงินอันชาญฉลาดอีกด้วย เนื่องจากเป็นเพียงความคาดหวังของนักลงทุนเท่านั้น โดย DeFi จะสามารถสร้างมูลค่าในระยะยาวได้ก็ต่อเมื่อผู้คนและเงินเข้าสู่วงการดังกล่าวจากเศรษฐกิจจริงในโลกจริงเท่านั้น

ทั้งนี้ แม้ว่าจะไม่มีสูตรตายตัวที่ชัดเจนในการสร้างกรณีการใช้งานในโลกจริงของ DeFi แต่ขั้นตอนที่สำคัญอย่างแรกคือ การเปลี่ยนวิธีประเมินความเสี่ยงของ DeFi ทั้งหมด เนื่องจากสาเหตุที่คนไม่เข้าสู่วงการ DeFi นั้นเป็นเพราะวงการนี้มีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงด้านการเงิน ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มให้กู้ยืมแบบกระจายศูนย์บางเจ้าไม่มีกลยุทธ์การเก็งกำไรและคิดดอกเบี้ยตามอำเภอใจ 

ด้วยเหตุนี้ วงการ DeFi จึงต้องสร้างกลไกการประเมินความเสี่ยงที่ยุติธรรม เช่น การนำเส้นแสดงอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Yield Curve) ที่มีอยู่ในระบบการเงินดั้งเดิมมาใช้ในการประเมินความเสี่ยงในโพรโทคอล นอกจากนี้ การใช้เครื่องมือจัดอันดับความน่าเชื่อถือของเงินกู้บนบล็อกเชนยังสามารถช่วยประเมินความเสี่ยงของผู้ให้กู้ยืมและความน่าเชื่อถือของเงินกู้ดังกล่าวได้ด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น เครื่องมือเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอ โดยวงการ DeFi จะต้องวางรากฐานสำหรับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมด้วยถึงจะทำให้คนทั่วไปสามารถประเมินความเสี่ยงได้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่กรณีการใช้งานในโลกจริง