ผ่านมาแล้วเกือบ 7 เดือนหลังจากที่ อีลอน มัสก์ ผู้บริหารสายคริปโตของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่อย่าง Tesla ได้ยื่นข้อเสนอซื้อกิจการของ Twitter แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ชื่อดัง ในราคา 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุด ดีลดังกล่าวก็ปิดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยเงื่อนไขการซื้อต่าง ๆ ยังคงเดิมเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะมีเหตุสงครามชักเย่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจากการที่มัสก์มาเปลี่ยนใจภายหลังว่าจะไม่ซื้อแล้ว จนต้องอาศัยกฎหมายเข้ามาช่วย

ในโอกาสนี้ ผู้บริหารของบริษัทด้านสกุลเงินคริปโตชั้นนำหลายคนก็ได้ออกมาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของ Twitter ภายใต้การนำของมัสก์ เนื่องจาก Twitter เป็นแพลตฟอร์มที่นิยมใช้เผยแพร่ข่าวสารและประกาศต่าง ๆ ทำการตลาด รวมถึงใช้เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้พัฒนาและผู้ใช้ในโลกของคริปโตและบล็อกเชน

โดยในงาน Web Summit ประจำปีนี้ที่เมือง Lisbon ประเทศโปรตุเกส ซึ่งจัดขึ้นในสัปดาห์นี้ Changpeng Zhao หรือ CZ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Binance แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตระดับโลกเผยว่า เขาอยากเห็น Twitter รับชำระเงินด้วยคริปโตเป็นอย่างแรก พร้อมเสริมว่า “สำหรับค่ายืนยันตัวตน 8 ดอลลาร์ที่ต้องจ่ายด้วยเงินตรา (Fiat) ทำให้ผู้ใช้ต้องพึ่งพาผู้ให้บริการดำเนินการชำระเงินเข้ามามากกว่า 200 รายเพราะ Twitter มีผู้ใช้อยู่ทั่วโลก แต่ถ้าคุณใช้คริปโต คุณก็แค่เพิ่มมันเข้ามา แค่นั้นก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว”

ซึ่ง Binance ก็ได้ร่วมลงทุนกับมัสก์ในการซื้อกิจการของ Twitter ในครั้งนี้ด้วยการสมทบทุนเป็นจำนวน 500 ล้านดอลลาร์ โดย CZ ให้เหตุผลในการร่วมลงทุนดังกล่าวว่า เขาต้องการสนับสนุนเสรีภาพทางความคิด อีกทั้ง Twitter ยังมีศักยภาพในการทำเงิน

ในขณะเดียวกัน Hayden Adams ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม DeFi เบอร์ต้น ๆ อย่าง Uniswap ก็ได้กล่าวถึงเรื่องความรวมศูนย์ของ Twitter ว่า การรวมอำนาจไปอยู่ที่บริษัทแห่งเดียวของ Twitter ทำให้แก้ปัญหาเรื่องสแปมได้ยาก และยังเสริมว่า “พวกเขาแค่เปิด API (Application Program Interface หรือส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์) และให้อำนาจนักพัฒนาในการมาสร้างฟีเจอร์เสริมบนแพลตฟอร์มแค่นั้นก็ได้ และคนอื่น ๆ จะแก้ปัญหาให้พวกเขา” 

ด้าน Sam Bankman-Fried ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตยักษ์ใหญ่อย่าง FTX ก็ออกมาสนับสนุนให้ Twitter มีความกระจายศูนย์เช่นกัน โดยเขาบอกว่า “ผมอยากให้มีเลเยอร์คล้าย API กระจายศูนย์ที่บริษัทหลายแห่งเชื่อมต่อกันได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตก่อน ซึ่งเลเยอร์ดังกล่าวก็สามารถส่งข้อมูลไปมาระหว่างคนทั่วโลกได้แบบทันที”

Vitalik Buterin ผู้ร่วมก่อตั้งบล็อกเชน Ethereum ก็ไม่พลาดที่จะออกมาแสดงความเห็นเช่นกัน โดยเขากล่าวว่า การเก็บค่ายืนยันตัวตน 8 ดอลลาร์ต่อเดือนอาจเป็นผลเสียต่อฟีเจอร์กำจัดสแปมของ Twitter Blue ซึ่งก่อนหน้าที่มัสก์จะเข้ามาฮุบกิจการ Twitter นั้น ระบบยืนยันตัวตนของ Twitter Blue เข้าถึงได้ยากกว่าการจ่ายค่ายืนยันตัวตนรายเดือนมาก ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเสนอให้ Twitter มีความกระจายศูนย์เช่นเดียวกับที่ Adams และ Bankman-Fried เสนอ โดยเขาทวีตว่า  “วิธีแก้ปัญหาในอุดมคติ: ใช้ระบบความเชื่อใจบนโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีความเฉพาะในแต่ละพื้นที่แทนที่ระบบให้คะแนนแบบสากล”