ก่อนหน้านี้ในปี 2557 หนึ่งในเครือร้านอาหารจานด่วนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Subway เคยรับชำระค่าอาหารด้วยบิตคอยน์ (Bitcoin: BTC) มาแล้ว ล่าสุดทางร้านก็ได้กลับมาทดสอบการรับชำระค่าอาหารด้วยบิตคอยน์อีกครั้งในปีนี้ โดยมีรายงานว่า ร้าน Subway จำนวน 3 สาขาในเมืองหลวงของประเทศเยอรมนีอย่างกรุงเบอร์ลิน เปิดรับชำระค่าอาหารเป็นบิตคอยน์ผ่านเครือข่ายเลเยอร์ 2 อย่าง Lightning Network (LN) แล้ว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถชำระเงินด้วยบิตคอยน์ได้เร็วขึ้นและแทบจะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเลย
เจ้าของร้าน Subway ทั้ง 3 สาขาดังกล่าวในกรุงเบอร์ลินอย่าง Daniel Hinze ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เขาบันทึกธุรกรรมบิตคอยน์ได้มากกว่า 120 ธุรกรรม นอกจากนี้ เขายังเอ่ยถึงความมุ่งหวังของตนที่จะทำให้บิตคอยน์กลายเป็นเงินให้ได้ โดยระบุว่า “เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมเริ่มใช้สกุลเงินคริปโต และใน 2 ปีที่ผ่านมา ผมใส่ใจเรื่องบิตคอยน์เป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นแล้ว ผมคิดว่า บิตคอยน์มีโอกาสเป็นระบบการเงินที่ดีกว่าได้”
ถึงกระนั้น แม้ว่าหลายภาคส่วนในยุโรปจะรณรงค์ให้พ่อค้าแม่ขายทั้งรายย่อยและรายใหญ่หันมารับชำระเงินด้วยบิตคอยน์มากขึ้น ทว่าบิตคอยน์กลับไม่ใช่วิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมมากเท่าใดนักในทวีปนี้ โดย Hinze ได้ออกโปรโมชันส่วนลด 10% สำหรับเมนูแซนด์วิชขนาด 12 นิ้ว, มีตบอลในซอสมารินาร่า และคุกกี้เมื่อชำระเงินด้วยบิตคอยน์ รวมถึงโปรโมชันส่วนลด 50% สำหรับทุกเมนูที่มีการชำระเงินด้วยบิตคอยน์เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เพื่อกระตุ้นให้คนทั่วไปหันมาใช้บิตคอยน์ในการชำระเงินมากขึ้น
Hinze เผยว่า “แน่นอนว่า มีความต้องการที่จะใช้บิตคอยน์จ่ายค่าอาหารสูงมากในช่วงสัปดาห์นั้น ร้านอาหารของเราทั้งสามร้านมีลูกค้าเข้ามาไม่ขาดสายเพราะอยากจะจ่ายเงินด้วยบิตคอยน์” โดย Hinze ได้ร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทด้านบิตคอยน์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์อย่าง Lipa เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการชำระเงินด้วยบิตคอยน์ โดย Lipa ได้จัดหาอุปกรณ์สำหรับรับชำระเงินให้กับร้าน Subway ทั้ง 3 แห่ง ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถชำระเงินด้วยบิตคอยน์ผ่าน LN ได้ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด ด้วยเหตุนี้ ผู้ใช้บริการจึงสามารถชำระค่าอาหารได้อย่างรวดเร็ว ราบรื่น และมีต้นทุนต่ำ
ด้าน Bastien Feder ผู้บริหารสูงสุดของ Lipa เผยว่า ภารกิจหลักของบริษัทคือ การทำให้บิตคอยน์ “น่าใช้งานจนคนอดใจไม่ไหวเนื่องจากบิตคอยน์เป็นสกุลเงิน” นอกจากนี้ เขายังเสริมว่า Lipa คิดค่าบริการจากร้านค้าเพียง 1% ในขณะที่แพลตฟอร์มการชำระเงินของบริษัทด้านการชำระเงินยักษ์ใหญ่อย่าง Visa หรือ Mastercard คิดค่าบริการจากร้านค้ามากกว่านั้นอย่างน้อยสองเท่า
ไม่เพียงเท่านั้น ประสบการณ์การรับชำระเงินด้วยบิตคอยน์ในครั้งนี้ของ Subway ยังแตกต่างจากตอนที่ทางร้านรับชำระเงินด้วยบิตคอยน์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2557 เป็นอย่างมากด้วย เนื่องจากยังไม่มี LN ในตอนนั้น ดังนั้น ลูกค้าจะใช้เวลาชำระเงินนาน เนื่องจากต้องรอให้ผู้ตรวจสอบธุรกรรมบิตคอยน์จากทั่วทุกมุมโลกตรวจสอบความถูกต้องก่อน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่เหมาะสำหรับธุรกรรมรายย่อย แถมยังมีค่าธรรมเนียมสูงในบางครั้งด้วย แต่หลังจากที่นำ LN มาใช้ ลูกค้าก็สามารถทำธุรกรรมได้เร็วขึ้นและถูกลง
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่บิตคอยน์มักจะเป็นที่รู้จักในฐานะสินทรัพย์สำหรับเก็งกำไร การส่งเสริมให้คนหันมาใช้บิตคอยน์นั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งนี้ทั้งนั้น ทาง Lipa และ Hinze ก็หวังว่า ความต้องการในการชำระเงินด้วยบิตคอยน์จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับตอนนี้ Hinze เผยว่า ร้าน Subway จะรับเพียงแค่บิตคอยน์เท่านั้น เนื่องจากตนและพันธมิตรทางธุรกิจเชื่อมั่นในสกุลเงินคริปโตนี้