เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศอินเดีย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม Group of Twenty (G20) หรือกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเงินในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ได้สนับสนุนคำแนะนำของคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board: FSB) สำหรับกรอบกฎหมายเกี่ยวกับคริปโตสากล อีกทั้งยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดการกับความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอีกด้วย
โดยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา ประเทศอินเดียได้เผยแพร่บันทึกประธานกลุ่ม (Presidency Note) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในแผนงานว่าด้วยกรอบกฎหมายเกี่ยวกับคริปโตสากล ซึ่งใจความของเอกสารดังกล่าวก็สอดคล้องกับแนวทางที่กำหนดโดย FSB, คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force: FATF) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)
ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวได้เพิ่มข้อเสนอแนะบางประการเข้ามา ซึ่งรวมถึงการเน้นย้ำเกี่ยวกับการดำเนินงานสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอีกด้วย โดยแม้ว่าทาง IMF จะให้ความสำคัญกับรายละเอียดของประเทศกำลังพัฒนาเกี่ยวกับแนวทางกำกับดูแลสำหรับคริปโตที่เป็นไปได้ของตน แต่ประเทศอินเดียเรียกร้องให้ FSB นำแนวทางเหล่านั้นมาใช้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ประเทศอินเดียยังเรียกร้องให้มีการขยายแนวทางดังกล่าวไปยังเขตอำนาจศาลทุกแห่งเพื่อ “สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยง” โดยเริ่มจากประเทศที่มีการยอมรับคริปโตในวงกว้างก่อน และขยายแนวทางการกำกับดูแลเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตออกไปนอกเหนือขอบเขตของ G20
ตามที่มีการเปิดเผยในบันทึกดังกล่าวของประเทศอินเดีย เอกสารรวบรวมข้อมูล (Synthesis Paper) ที่จัดทำโดย IMF และ FSB มีกำหนดเผยแพร่ออกมาในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ และจะประกอบไปด้วยแผนงานแบบกว้างเพื่อให้กลุ่ม G20 ได้ร่วมกันพิจารณา
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา FSB ได้เผยแพร่แนวทางสำหรับคริปโตและสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Stablecoin ซึ่งระบุว่า แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตต่าง ๆ จะต้องแยกสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าออกจากสินทรัพย์ของตนเอง และจะต้องแยกหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนโดยที่หน่วยงานกำกับดูแลจะให้ความร่วมมือและการกำกับดูแลข้ามพรมแดนอย่างเข้มงวด ยิ่งไปกว่านั้น แนวทางดังกล่าวยังประกอบไปด้วยข้อบังคับที่กำหนดให้บริษัทผู้ออก Stablecoin จะต้องได้รับใบอนุญาตในเขตอำนาจศาลนั้น ๆ ก่อนถึงจะสามารถดำเนินการได้