รายงานเสถียรภาพทางการเงินฉบับล่าสุดของธนาคารทุนสำรองอินเดีย (Reserve Bank of India: RBI) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา ระบุว่า สินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Stablecoin มีความเป็นไปได้มากที่จะทำร้ายระบบเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา

RBI เป็นหน่วยงานที่วิพากษ์วิจารณ์สกุลเงินคริปโตมาโดยตลอด แต่ในครั้งนี้ดูเหมือนว่า ทางธนาคารกลางจะพุ่งเป้ามาที่ปัญหาของ Stablecoin เป็นพิเศษ “จากมุมมองของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศที่กำลังพัฒนา (Emerging Market and Developing Economy: EMDE)” 

RBI ระบุในรายงานดังกล่าวว่า Stablecoin มีปัญหาที่สำคัญ 6 ประการด้วยกัน ถึงแม้ว่า “การขาดข้อมูลที่ได้รับการพิสูจน์และช่องว่างของข้อมูลในระบบนิเวศคริปโตที่มีอยู่เป็นปกติจะชะลอการประเมินความเสี่ยงของเสถียรภาพทางการเงินที่เหมาะสม” ก็ตาม

โดยประการแรกคือ ด้วยความที่สินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) ของ Stablecoin อยู่ในหน่วยของสกุลเงินต่างประเทศที่แปลงเป็นสกุลเงินอื่น ๆ ได้แบบอิสระเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น สินทรัพย์ประเภทนี้จึงสามารถส่งผลเสียต่อ EMDE ได้ผ่านการเข้ามาแทนที่สกุลเงินในประเทศ

ประการต่อมาคือ การพึ่งพาคริปโต (Cryptoisation) ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประชาชนจำนวนมากหันไปใช้ Stablecoin ในการจับจ่ายใช้สอย สามารถนำไปสู่ความไม่สมดุลของสกุลเงิน (Currency Mismatch) “ในงบดุลของธนาคาร บริษัท และครัวเรือน” ได้

ยิ่งไปกว่านั้น RBI ยังระบุต่อไปอีกว่า บรรดาธนาคารกลางใน EMDE อาจจะต้องรับมือกับปัญหาการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขสภาพคล่องภายในประเทศของตน เนื่องจากมีการใช้งาน Stablecoin ในระบบเศรษฐกิจ

ประการต่อมาคือ ด้วยความที่สินทรัพย์คริปโตมีลักษณะกระจายศูนย์ ปราศจากพรมแดน รวมถึงมีการปกปิดตัวตนด้วย จึงทำให้สินทรัพย์ชนิดนี้มีโอกาสที่จะกลายเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจสำหรับใครบางคนในการใช้หลีกเลี่ยงมาตรการด้านการจัดการกระแสเงินทุนได้

ไม่เพียงเท่านั้น Stablecoin ยังสามารถลดความสามารถของธนาคารต่าง ๆ ในการใช้ประโยชน์จากการย้ายเงินและสร้างสินเชื่อโดยการลดประสิทธิภาพของการประเมินความเสี่ยงด้านสินเชื่อได้ด้วยหากสินทรัพย์ดังกล่าวกลายเป็นสินทรัพย์ทางเลือกในระบบการเงินภายในประเทศ และประการสุดท้าย RBI ระบุว่า การติดตามธุรกรรมที่กระทำระหว่างบุคคลสองฝ่ายโดยตรง (Peer-to-Peer: P2P) ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่ธุรกรรมเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดจึงเพิ่มมากขึ้น

โดย RBI ยังใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกร่วมมือกันด้วย โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า “แนวทางการดำเนินงานที่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั่วโลกเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับ EMDE เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว (Advanced Economy: AE)...ในบริบทนี้ ภายใต้การเป็นประธานกลุ่มประเทศ G20 ของอินเดีย หนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือ การกำหนดกรอบงานสำหรับการกำกับดูแลสินทรัพย์คริปโตที่ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง Stablecoin และการเงินกระจายศูนย์ (Decentralized Finance: DeFi) ทั่วโลก”