เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ประเทศเกาหลีใต้เตรียมอนุญาตให้ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนแบบดิจิทัลบนระบบบล็อกเชนได้แทนบัตรตัวจริง โดยจะเป็นไปตามแผนการขยายขอบเขตการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนภายในประเทศ ซึ่งแผนนี้ของรัฐบาลนั้นจะให้บัตรประชาชนดิจิทัลฝังอยู่ในแอปพลิเคชันภายในโทรศัพท์มือถือ และยังสามารถใช้งานได้เหมือนกับบัตรประชาชนตัวจริง

บัตรประชาชนดิจิทัลนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะเปิดตัวภายในปี 2567 และคาดการณ์ว่าจะมีพลเมืองผู้ใช้งานราว ๆ 45 ล้านคนภายใน 2 ปีหลังจากการเปิดตัว

Hwang Seogwon นักเศรษฐศาสตร์ประจำสถาบันนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Policy Institute) เผยว่า บัตรประชาชนดิจิทัลนี้จะสามารถใช้ได้ในด้านการเงิน สาธารณสุข ภาษี และการคมนาคม ในขณะเดียวกัน Suh Boram อธิบดีสำนักงานรัฐบาลดิจิทัลของเกาหลีใต้ก็ชี้ว่า เทคโนโลยีนี้จะช่วยธุรกิจที่ยังไม่เปลี่ยนเข้าสู่ระบบออนไลน์เต็มตัวได้

Suh ยังเผยอีกว่า บัตรประชาชนดิจิทัลนี้เป็นการใช้ระบบระบุตัวตนแบบกระจายศูนย์ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในโทรศัพท์ได้ กล่าวคือ รัฐบาลจะไม่สามารถรู้ได้ว่า บัตรประชาชนดิจิทัลนั้นถูกใช้กับอะไรและที่ไหน 

ซึ่งเทคโนโลยีที่กล่าวมานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศอันดับหนึ่งด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเกาหลีใต้ ก่อนหน้านั้น เกาหลีใต้ก็เคยนำบล็อกเชนมาใช้แล้ว อย่างเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2563 มีชาวเกาหลีกว่าล้านคนใช้ใบขับขี่บนบล็อกเชนที่ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน PASS บนสมาร์ตโฟน ต่อจากนั้นในเดือนต่อมา หน่วยงานรัฐของเกาหลีใต้อย่าง Korea Internet & Security Agency (KISA) ก็ได้เริ่มทดลองระบบที่คล้ายกัน

อย่างไรก็ตาม Brenda Gentry ผู้ให้คำปรึกษาด้านบล็อกเชนและผู้บริหารสูงสุดของ Bundlesbets.com ก็ได้ออกมาพูดเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้งานว่า ไม่ว่าระบบการจัดการข้อมูลประจำตัวบุคคลจะมีความสามารถและกระจายศูนย์มากแค่ไหน ก็ยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการยอมรับจากภาคส่วนรัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ อยู่ดี “หากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบออกบัตรไม่รับรองการใช้งานบัตรประชาชนบนบล็อกเชน คนส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อรับบริการสาธารณะได้ ในความคิดฉัน นี่คือข้อจำกัดที่ใหญ่ที่สุด”


cr. www.bitcoinworld.co.in