การสร้างรายได้จากศิลปะดิจิทัลด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Non-Fungible Token (NFT) จะช่วยพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ เพิ่มมูลค่า และโอกาสที่จะได้รับค่าลิขสิทธิ์ โดย NFT เสนอทางเลือกใหม่ในการขายและเผยแพร่งานศิลปะดิจิทัล ซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าวนี้มีศักยภาพในการปลดล็อกแหล่งรายได้ใหม่สำหรับศิลปินในยุคดิจิทัล ดังนั้น วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก 5 วิธีในการสร้างรายได้จากงานศิลปะดิจิทัลของคุณด้วย NFT กัน 


  1. ความเป็นเจ้าของแบบแยกส่วน

วิธีนี้เป็นการแบ่งความเป็นเจ้าของในงานศิลปะออกเป็นส่วนย่อย ๆ และเสนอขายเป็นโทเคน ซึ่งทำให้นักลงทุนหลายรายสามารถเป็นเจ้าของผลงานศิลปะได้ ตัวอย่างเช่น ศิลปินสามารถสร้างโทเคน 100 ชิ้นสำหรับงานศิลปะ 1 ชิ้น แล้วก็นำไปขายให้กับผู้ซื้อไม่ซ้ำราย 100 รายโดยที่แต่ละคนจะมีส่วนแบ่งความเป็นเจ้าของของงานศิลปะดังกล่าว


  1. NFT แบบไดนามิก

NFT แบบไดนามิกคือ NFT ประเภทหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งทำให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสร้างประสบการณ์ที่มีการพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ ให้กับเจ้าของ โดย NFT แบบไดนามิกนี้สามารถใช้แหล่งข้อมูลภายนอกเพื่อนำมาอัปเดตงานศิลปะได้ เช่น ความเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดียหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

ตัวอย่างเช่น งานศิลปะ “The Eternal Pump” เป็น NFT แบบไดนามิกที่เปลี่ยนแปลงตามการขึ้นและลงของตลาดสกุลเงินคริปโต โดยงานศิลปะชิ้นดังกล่าวจะมีความซับซ้อนและมีรายละเอียดที่มากขึ้นเมื่อมูลค่าของสกุลเงินคริปโตนั้นเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน เมื่อใดที่มูลค่าของคริปโตลดลง งานศิลปะชิ้นดังกล่าวก็จะมีความซับซ้อนน้อยลงและเป็นนามธรรมมากขึ้นด้วย โดยลักษณะพิเศษเหล่านี้ทำให้ผู้ชมสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงและได้เห็นพัฒนาการของงานศิลปะดังกล่าวได้เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น NFT แบบไดนามิกจึงสามารถยกระดับการมีส่วนร่วมและการมีปฏิสัมพันธ์ของนักสะสมได้

NFT แบบไดนามิกสามารถสร้างรายได้ให้กับศิลปินได้ผ่านการประมูล ซึ่งนักสะสมสามารถประมูลผลงานศิลปะเหล่านี้ได้ โดยผู้ที่เสนอราคาสูงที่สุดจะได้สิทธิ์การเป็นเจ้าของงานศิลปะดังกล่าวไป ยิ่งไปกว่านั้น NFT แบบไดนามิกยังเป็นที่ต้องการอย่างมาก เนื่องจากมีคุณลักษณะที่โดดเด่นและมีการเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาอยู่เรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ NFT ประเภทนี้จึงมีการประมูลในราคาที่สูง นอกจากนี้ การใช้ระบบการสมัครสมาชิกยังช่วยให้ศิลปินสามารถมอบ NFT ไดนามิกสุดพิเศษให้กับนักสะสมโดยแลกกับค่าธรรมเนียมได้ ซึ่ง NFT เหล่านี้อาจจะเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาบ่อยครั้ง จึงทำให้นักสะสมที่สมัครเป็นสมาชิกได้รับเนื้อหาที่สดใหม่อย่างต่อเนื่อง


  1. ค่าลิขสิทธิ์

NFT สามารถออกแบบเพื่อให้จ่ายเงินส่วนแบ่งจากการขาย NFT ให้กับศิลปินเจ้าของผลงานโดยอัตโนมัติได้เมื่อไรก็ตามที่ NFT ชิ้นนั้น ๆ ถูกนำไปขายต่อในตลาดรอง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ศิลปินยังคงได้กำไรจากผลงานของพวกเขาแม้การขายครั้งแรกจะสิ้นสุดไปแล้ว ตัวอย่างเช่น ศิลปินดิจิทัลนามว่า Pak ขาย NFT ที่ชื่อว่า "The Fungible" ในราคา 502,000 ดอลลาร์ และ Pak จะได้รับค่าลิขสิทธิ์ 10% จาก NFT ชิ้นดังกล่าวในการนำไปขายต่อแต่ละครั้งโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่นั้นมา NFT ของเจ้าตัวก็ถูกนำไปขายต่อหลายครั้งและศิลปินก็ได้รับค่าลิขสิทธิ์มากกว่า 2 ล้านเหรียญไปแล้ว


  1. การผสมผสาน NFT เข้าไปในเกม

วิธีนี้เป็นการสร้าง NFT แบบโต้ตอบที่ผู้ใช้สามารถเล่นหรือใช้ในเกมได้ ตัวอย่างเช่น เกม Axie Infinity เป็นเกมที่ใช้ NFT เป็นสินทรัพย์ของเกม โดยผู้เล่นสามารถซื้อ ขาย และแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างตัวละครในเกมได้ นอกจากนี้ ทางแพลตฟอร์มยังสามารถแจก NFT เป็นรางวัลสำหรับการบรรลุเป้าหมายหรือกิจกรรมเฉพาะภายในเกมหรือแอปพลิเคชันได้ด้วย ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชันฟิตเนสอาจเสนอ NFT ให้แก่ผู้ใช้ที่บรรลุเป้าหมายการออกกำลังกายในแต่ละวันได้


  1. การผูกสินทรัพย์ที่จับต้องได้ไว้กับ NFT

การผูกสินทรัพย์ที่จับต้องได้กับ NFT เป็นการเชื่อมโยงวัตถุที่จับต้องได้กับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยทั่วไปจะใช้ชื่อหรือรหัสลับเฉพาะ ซึ่งวิธีนี้สามารถเป็นช่องทางในการตรวจสอบความถูกต้องและความเป็นเจ้าของในวัตถุที่จับต้องได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ความเป็นเจ้าของและมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับวัตถุชิ้นนั้นสามารถถ่ายโอนกันได้อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ NFT จึงสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์หรือรถยนต์ ตัวอย่างเช่น ณ ตอนนี้ บริษัทรถยนต์ชื่อว่า CarForce กำลังพัฒนา NFT ที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของรถยนต์หรู โดย NFT ดังกล่าวนี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นกุญแจรถยนต์แบบดิจิทัลที่อนุญาตให้เจ้าของรถสามารถเข้าถึงและใช้งานรถยนต์จริงได้