คอลเลกชันของสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Non-Fungible Token (NFT) ที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากนั้นได้หาวิธีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเอง ซึ่งคอลเลกชันรูปโปรไฟล์ (Profile Picture: PFP) ในยุคแรก ๆ เช่น CryptoPunks หรือ Bored Ape Yacht Club ได้ทำให้ NFT ในคอลเลกชันของพวกเขามีความหายาก ส่งผลให้ NFT บางชิ้นได้มายากกว่าชิ้นอื่น ๆ ในขณะที่คอลเลกชันจำนวนมากในช่วงหลัง ๆ เริ่มทำให้ NFT ของตนมีอรรถประโยชน์ (Utility NFT) โดยการให้รางวัลและสิทธิพิเศษในโลกความเป็นจริงแก่ผู้ถือสินทรัพย์เพื่อให้ NFT ในคอลเลกชันนั้น ๆ สามารถส่งมอบคุณค่าให้แก่ผู้ถือเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตลาด NFT ต้องพบกับความปั่นป่วนท่ามกลางฤดูหนาวคริปโตที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลายาวนาน โดยปริมาณการซื้อขายของ NFT และจำนวนผู้เข้าวงการหน้าใหม่ลดลง ดังนั้น โปรเจกต์ NFT ใหม่ ๆ จำนวนมากจึงต้องเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อทำให้คนเข้าถึงงานศิลปะของพวกเขาได้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งใหม่ที่ได้รับความสนใจคือ Open Edition หรือ การสร้างผลงานศิลปะแบบไม่จำกัด


การขาย NFT แบบ Open Edition คืออะไร?

Open Edition หรือการสร้างผลงานศิลปะแบบไม่จำกัด คือ การสร้าง NFT ที่อนุญาตให้ผู้สะสมผลงานสั่งสร้างผลงานศิลปะ NFT กี่ชิ้นก็ได้โดยไม่จำกัดจำนวนภายในเวลาจำกัด เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว คอลเลกชัน NFT นั้น ๆ ก็จะปิดรับการสั่งสร้างทันที ทำให้ NFT ในคอลเลกชันคงจำนวนอยู่ที่จำนวนที่มีการสั่งสร้างภายในกรอบเวลาดังกล่าว ตัวอย่างเช่น หากกำหนดกรอบเวลาในการขายคอลเลกชัน NFT ไว้ที่ 24 ชั่วโมง แล้วมีการสร้างผลงาน NFT เพียง 3 ชิ้น ก็หมายความว่า คอลเลกชันดังกล่าวนี้จะมีจำนวน NFT จำกัดที่ 3 ชิ้น อีกทั้งผู้สร้างยังสามารถจำกัดจำนวนการสั่งสร้าง NFT ต่อกระเป๋าเงินคริปโต 1 ใบเพื่อรักษาขนาดของคอลเลกชันให้ไม่ใหญ่เกินไปและเพิ่มความหายากของ NFT ในคอลเลกชันของตนได้อีกด้วย

จุดประสงค์ของคอลเลกชันแบบ Open Edition นี้คือ การทำให้คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สามารถเข้าถึงผลงานศิลปะ NFT ได้ในราคาที่ถูกลง นอกจากนี้ Open Edition ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือระดมทุนเพื่อการกุศล โดยอาจตั้งจำนวนเงินเป้าหมายที่ต้องการระดมให้ได้โดยใช้เวลาที่จะปิดรับการสั่งสร้าง NFT เป็นเครื่องมือ


ความแตกต่างระหว่าง Open Edition กับ Limited Edition

Limited Edition หรือการสร้างผลงานศิลปะแบบจำกัด เป็นวิธีที่พบได้บ่อยที่สุดในการเผยแพร่คอลเลกชัน NFT โดยจะกำหนดจำนวนการสร้าง NFT ไว้ในแต่ละคอลเลกชันแบบตายตัว ตัวอย่างเช่น NFT ภาพโปรไฟล์ (PFP) ที่มีชื่อเสียงหลายชิ้น ได้แก่ Bored Ape Yacht Club, Doodles และ Azuki ออกคอลเลกชัน NFT ที่มีจำนวน 10,000 ชิ้นพอดีเป๊ะ ซึ่งคอลเลกชันแบบจำกัดเหล่านี้มักมีราคาสูงและเน้นขายออกให้หมด นอกจากนี้ ยังมี NFT แบบที่มีหนึ่งเดียว ซึ่งมี NFT ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเพียงชิ้นเดียวเท่านั้นที่สามารถนำไปสั่งสร้างได้ ซึ่งแตกต่างกับ Open editions ที่จะสามารถสร้างผลงานขึ้นมากี่ชิ้นก็ได้โดยไม่จำกัดจำนวนภายในระยะเวลาที่กำหนด


ข้อดีของ Open Edition

Open Edition มีประโยชน์อย่างมากในการทำให้นักสะสมสามารถเข้าถึงโปรเจกต์ NFT คอลเลกชันต่าง ๆ ได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งศิลปินดิจิทัลที่มีชื่อเสียง เช่น XCOPY และ Grant Riven Yun ต่างก็ประสบความสำเร็จในการออกคอลเลกชันแบบ Open Edition อีกทั้งแพลตฟอร์มสำหรับสร้าง NFT บางแพลตฟอร์ม เช่น Manifold และ Zora ยังทำให้ Open Edition เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม และทำให้เครื่องมือที่ใช้สร้างคอลเลกชัน NFT แบบ Open Edition สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นต่อนักสะสมหน้าใหม่ในวงการ NFT  นอกจากนี้ คอลเลกชันแบบ Open Edition ยังกำหนดให้ศิลปินสร้างผลงานศิลปะของตนเพียงชิ้นเดียว ซึ่งจะช่วยลดการเขียนโค้ดและภาระงาน โดยที่ตัวศิลปินไม่ต้องสร้างคอลเลกชัน NFT ของตนขึ้นมาเองทั้งคอลเลกชัน


ข้อเสียของ Open Edition

ในความเป็นจริงแล้ว วิธีสร้าง NFT แบบ Open Edition นั้นเหมาะสำหรับศิลปินที่มีฐานแฟนคลับอยู่แล้วและอยากจะมองหากลุ่มเป้าหมายใหม่ที่อาจมีกำลังซื้อคอลเลกชันก่อนหน้านี้ไม่เพียงพอ อีกทั้งถ้าหากมีการสร้าง NFT จำนวนมากระหว่างการจำหน่ายแบบ Open Edition คอลเลกชันดังกล่าวก็อาจมีมูลค่าน้อยลงในระยะยาว ไม่เพียงเท่านั้น นักสะสมบางคนยังกังวลว่า การจำหน่ายผลงานศิลปะจำนวนมากโดยศิลปินคนโปรดอาจทำให้มูลค่าของผลงานอื่น ๆ ของศิลปินลดลงได้