ทีมนักพัฒนา Quivr ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้บนอินเทอร์เน็ตกระจายศูนย์ Web3 ที่เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา ระบุว่า แอปพลิเคชันของพวกเขาจะเปิดทางให้ผู้ใช้ได้แสดงความเป็นตัวตนของตนเองผ่านการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน

Quivr เป็นแอปพลิเคชัน Web3 ที่ทำงานอยู่บนแพลตฟอร์มบล็อกเชนอย่าง Polygon อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้แอปพลิเคชันไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดกระเป๋าเงินคริปโตแบบแยก หรือคัดลอกและเก็บชุดคำศัพท์ Seed Phrase เอาไว้แต่อย่างใด เนื่องจาก Quivr ใช้ Magic SDK สำหรับการเข้าสู่ระบบ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีกระเป๋าเงินแบบใหม่ที่ปราศจากการพึ่งพาชุดคำศัพท์ Seed Phrase

โดย Quivr จะทำให้ผู้ใช้เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ผู้ใช้มักเข้าใช้งานอยู่เป็นประจำได้ ซึ่ง Ray Lee ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Quivr ระบุว่า Quivr ในเวอร์ชันปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันที่แตกต่างกันได้ทั้งหมด 11 แอปพลิเคชัน เช่น Spotify, Instagram, TikTok, Twitter, Apple Music, Apple Health, LinkedIn, Steam, Audius และ Canvas 

เมื่อผู้ใช้เข้าใช้งานแอปพลิเคชันเหล่านี้ Quivr ก็จะสร้างเครื่องหมายบนบล็อกเชนโดยอิงจากพฤติกรรมในแอปพลิเคชันของพวกเขาเพื่อพิสูจน์ความสนใจและการเป็นสมาชิกของชุมชนต่าง ๆ ของพวกเขา ซึ่งนับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งในการระบุตัวผู้ใช้ที่มีความสนใจร่วมกันได้

ทีมนักพัฒนา Quivr ระบุว่า แอปพลิเคชัน Quivr เวอร์ชันเว็บไซต์และระบบปฏิบัติการ Android มีกำหนดการเปิดตัวในอีกประมาณ 2 สัปดาห์ โดยในระหว่างการทดสอบแอปพลิเคชันระยะที่สอง ผู้ใช้มากกว่า 10,000 รายได้สร้างบัญชีของพวกเขาบน Quivr แล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น แถลงการณ์ของแอปพลิเคชันยังระบุอีกว่า Quivr ได้สร้างความร่วมมือชุดแรกกับผู้มีชื่อเสียงและองค์กรบางส่วนเพื่อให้พวกเขาช่วยสร้างชุมชนต่าง ๆ ภายในแอปพลิเคชัน ซึ่งรวมถึงนักแสดงชื่อดังอย่าง Ross Butler, ผู้จัดจำหน่ายเกม Fenix Games, โปรดิวเซอร์เพลงชาวแคนาดาอย่าง deadmau5, สตรีมเมอร์สาวชื่อดัง Kittyplays, ยูทูบเบอร์ Kio Cyr และมหาวิทยาลัย University of Kansas ด้วย

พฤติกรรมของผู้ใช้บนแอปพลิเคชันต่าง ๆ จะเป็นตัวกำหนดเครื่องหมายที่พวกเขาจะได้รับ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้พิสูจน์ข้อมูลยืนยันตัวตนผ่านพฤติกรรมของพวกเขา ตัวอย่างเช่น ถ้าหากผู้ใช้ฟังเพลงแจซบนแอปพลิเคชัน Spotify พวกเขาก็จะได้เครื่องหมาย “แฟนเพลงแจซ” หรือถ้าหากผู้ใช้เล่นเกมต่อสู้บนแพลตฟอร์มเกมออนไลน์อย่าง Steam พวกเขาก็จะได้รับเครื่องหมาย “นักเล่นเกมต่อสู้” นั่นเอง

ในทำนองเดียวกัน หากผู้ใช้ต้องการพิสูจน์ว่า ตนมีคุณสมบัติซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ผ่านการใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้ได้ พวกเขาก็สามารถอัปโหลดวิดีโอหรือรูปภาพเพื่อให้ผู้ตรวจสอบประจำชุมชนทำการพิสูจน์ความถูกต้องของข้อมูลได้ ซึ่งก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพิสูจน์ความเป็นตัวตนของผู้ใช้

สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ใช้สามารถค้นหาโปรไฟล์ของกันและกัน และส่งข้อความไปมาระหว่างกันได้โดยใช้ Quivr ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถพบเจอและสนทนาพาทีกับบุคคลอื่น ๆ ที่มีความสนใจแบบเดียวกันกับพวกเขา ทั้งนี้ Lee ระบุว่า ในแอปพลิเคชัน Quivr เวอร์ชันปัจจุบัน ผู้ใช้จะทำได้เพียงการส่งข้อความไปหากันแบบส่วนตัวเท่านั้น ทว่า ณ ขณะนี้ ทีมผู้พัฒนา Quivr กำลังทดลองกับแนวคิดที่จะสร้าง “ชุมชนและกลุ่มย่อยเกี่ยวกับบทสนทนาต่าง ๆ” เหมือนกับแพลตฟอร์มสนทนาอย่าง Discord ในอนาคตอยู่

เรียกได้ว่า ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Web3 ยังคงเดินหน้าช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอินฟลูเอนเซอร์และสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง กระนั้นก็ดี แม้ว่าแอปพลิเคชัน Web3 เหล่านี้จะยังมิอาจสั่นคลอนบัลลังก์ของเจ้าตลาดอย่าง Facebook และ Twitter ได้ในตอนนี้ ทว่าผู้เชี่ยวชาญบางคนก็เชื่อว่า แอปพลิเคชันสื่อสังคมออนไลน์จะกลายเป็นกรณีการใช้งานชั้นยอดที่ทำให้บล็อกเชนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของมวลมหาประชาชนทั่วโลก