เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีหน้าที่ตามที่ระบุในพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ว่า เป็นผู้กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลและการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมและการคุ้มครองนักลงทุน รวมถึงยังมีหน้าที่และอำนาจในการปฏิบัติการใด ๆ ให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการ ก.ล.ต. และตามที่มีการบัญญัติไว้ในพระราชกำหนดการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ด้วยเป้าประสงค์ก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจมีความพร้อมและสามารถให้บริการนักลงทุนได้ตามมาตรฐานการประกอบธุรกิจ จึงมีการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลมีความพร้อมใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
- ด้านการเงิน – ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสามารถคุ้มครองและชดเชยความเสียหายให้แก่ลูกค้าได้
- ด้านระบบงาน – ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมีระบบงานที่เหมาะสมเพียงพอให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความรับผิดชอบและสอดคล้องกับกฎหมาย
- ด้านบุคลากร – ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการ หรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศกระทรวงการคลัง
ในกรณีของผู้ถือรายใหญ่ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ถือหุ้นในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมมากกว่า 10% ของจำนวนสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด ก.ล.ต. ได้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงบุคคลในตำแหน่งดังกล่าว ทั้งการเพิ่มเติมหรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในภายหลัง ทางผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องยื่นขอรับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.
โดยประกาศกระทรวงการคลังได้ระบุเงื่อนไขการยื่นขอความเห็นชอบไว้ ดังนี้
- ต้องยื่นขอความเห็นชอบต่อ ก.ล.ต. ภายใน 14 วัน นับตั้งแต่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรู้หรือมีเหตุอันควรให้รู้ว่ามีบุคคลเป็นผู้ถือรายใหญ่
- ในกรณีที่บุคคลกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่จากการ “เพิ่มทุน” ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องยื่นขอรับความเห็นชอบก่อนขายหุ้นที่จะเป็นผลให้บุคคลดังกล่าวกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
- หากบุคคลที่จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่มีลักษณะต้องห้าม ก.ล.ต. มีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขหรือระยะเวลาในการห้ามมิให้บุคคลผู้นั้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ รวมถึง มีอำนาจในการเพิกถอนความเห็นชอบที่เคยอนุมัติไว้ให้ได้
ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่ได้ความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มีเวลา 90 วันในการแก้ไขเหตุอันมิชอบดังกล่าว นับตั้งแต่ได้รับแจ้งจาก ก.ล.ต. และหากไม่สามารถดำเนินการแก้ไขภายในเวลาที่กำหนดได้ ก.ล.ต. มีอำนาจในการงดการขยายธุรกิจหรือระงับการประกอบธุรกิจชั่วคราวได้ เพื่อเป็นการคุ้มครองนักลงทุน